"หาใช่ชิงชัง แต่เป็นเพราะแผนนั้น ไม่มีวันสำเร็จ"
อุยเอี๋ยน กับแผนการที่ไม่มีวันทำได้สำเร็จ : ในการยกทัพบุกขึ้นไปตีวุยก๊กครั้งแรกของของขงเบ้ง อุยเอี๋ยนได้เสนอแผนการหนึ่งให้ขงเบ้งฟัง เพราะเขาเชื่อว่าแผนการนี้จะทำให้กองทัพจ๊กก๊กสามารถรุกเข้าไปยังใจกลางเมืองหลวงของวุยก๊กได้อย่างง่ายดาย แต่ ขงเบ้งไม่เห็นด้วย เพราะ พิจารณาแล้วว่าแผนนี้เป็นไปไม่ได้ และไม่มีวันสำเร็จ !?
หนังสือสามก๊กฉบับวิจารณ์หลาย ๆ ฉบับมักเขียนคัดค้านกับวรรณกรรม และวิพากษ์วิจารณ์ตัวละครฝ่ายจ๊กก๊กอย่างเจ็บแสบ ซึ่งขงเบ้งคือตัวละครหนึ่ง ที่ตกเป็นเหยื่อของการวิจารณ์ นั่นอาจจะเป็นเพราะความเก่งกาจ ฉลาดเหนือมนุษย์ เรื่องของขงเบ้งจึงน่าเขียน น่าขบคิด และสนุกที่จะนำมาชำแหละอย่างถึงกึ๋น
ขงเบ้งบุกวุยก๊กอยู่ถึง 6 ครั้ง แต่เขาไม่สามารถนำกองทัพเข้าไปถึงดินแดนชั้นในของแผ่นดินวุยก๊กได้เลย จนกระทั่งเสียชีวิต และนั่นคือสาเหตุที่ทำให้นักวิจารณ์พากันกล่าวหาว่า หากขงเบ้งเชื่อถือและปฏิบัติตามคำของอุยเอี๋ยน จ๊กก๊กก็คงไม่ล่มสลายและรวมแผ่นดินได้สำเร็จลุล่วงไปนานแล้ว
เหตุใดขงเบ้งจึงไม่เชื่ออุยเอี๋ยน และเหตุใดหนังสือสามก๊กฉบับวิจารณ์ หรือผู้รู้หลาย ๆ ท่าน จึงเลือกที่จะแย้งขงเบ้ง และคล้อยตามอุยเอี๋ยน เราต้องลองมาดูแผนของอุยเอี๋ยนกันก่อน
อุยเอี๋ยน กับแผนการที่ไม่มีวันทำได้สำเร็จ
![]() |
อุยเอี๋ยนกับขงเบ้ง |
เมื่อครั้งขงเบ้งยกทัพมาด้วยกำลังพล 300,000 คนมาตั้งอยู่ที่เมืองฮันต๋ง พอทหารฝ่ายวุยก๊กรู้ข่าว จึงรีบนำความไปรายงานให้พระเจ้าโจยอยทราบ แฮหัวหลิมจึงอาสาจะยกทัพไปรับมือขงเบ้งที่เมืองเตียงฮันด้วยกำลังพล 200,000 คน ครั้นพอทั้งสองกองทัพพร้อมประจันกัน อุยเอี๋ยนก็เข้ามาเสนอแผนให้ขงเบ้งฟัง ซึ่งหนังสือสามก๊กฉบับภาษาไทยของเจ้าพระยาพระคลัง (หน) กล่าวถึงแผนการของอุยเอี๋ยนว่า
“แฮหัวหลิมฝีมือกล้าหาญก็จริง แต่อ่อนความคิดหาเคยทำการใหญ่ไม่ ข้าพเจ้าจะคิดกลอุบายขอทหารห้าพันยกโอบไปตั้งอยู่ ณ ตำบลคอนจูงฝ่ายทิศตะวันออก สกัดทางเมืองเตียงฮันจะไปเมืองลกเอี๋ยง แฮหัวหลิมรู้ก็จะยกทหารออกรบกับข้าพเจ้า ท่านจึงยกทหารกระหนาบหลังเข้าตีเมืองเตียงฮัน แฮหัวหลิมเห็นเหลือกำลังก็จะทิ้งเมืองเสียหนีไปเมืองลกเอี๋ยง เราจึงยกติดตามเข้าไปตีเอาเมืองลกเอี๋ยงก็จะได้โดยง่าย”
ขงเบ้งได้ฟังดังนั้น ก็หัวเราะแล้วว่า
"ความคิดท่านนี้จะหมายเอาชัยฝ่ายเดียวนั้นไม่ได้ ท่านอย่าเพ่อดูหมิ่นทหารเมืองลกเอี๋ยงก่อนซึ่งท่านจะยกทหารห้าพันเข้าไปตั้งอยู่หว่างกลางนั้น เกลือกทหารเมืองลกเอี๋ยงรู้ยกมาตีกระหนาบล้อมท่านเข้าไว้จะมิเสียทีหรือ เราจะทำการใหญ่เอาฤกษ์อยู่ ซึ่งให้เสียทีแก่ข้าศึกนั้นไม่ชอบ"
อุยเอี๋ยนจึงว่า
"แม้มหาอุปราชไม่ฟังข้าพเจ้าจะยกทหารตีประจันหน้าเข้าไป แฮหัวหลิมก็จะออกรบต้านทานเป็นสามารถ ถึงเราจะได้เมืองลกเอี๋ยงก็เห็นจะช้าทแกล้วทหารทั้งปวงก็จะได้ความลำบากนัก"
ขงเบ้งจึงว่า
"ข้อนั้นท่านอย่าวิตกเลย เราจะยกทหารประชันหน้าเข้าไปเอาชัยชนะให้จงได้"
อุยเอี๋ยนก็ขัดใจนิ่งอยู่ ขงเบ้งจึงยกทหารไปบอกจูล่งให้เร่งยกเข้าตีเมืองเตียงฮัน
แผนการของอุยเอี๋ยนนี้หากเทียบกับวรรณกรรมสามก๊กต้นฉบับ จะคล้ายคลึงกันมากคือ อุยเอี๋ยนคิดเอาเองว่าแฮหัวหลิมที่มีกำลังพล 200,000 จะไม่สู้และทิ้งเมืองหนีไปอย่างง่ายดาย ส่วนที่ต่างกันก็คือในสามก๊กต้นฉบับจะมีบอกระยะเวลาที่อุยเอี๋ยนยกไปคือ 10 วัน และเส้นทางที่ใช้คือทางแคบระหว่างหุบเขาฉินหลิง
เปรียบเทียบกับแผนของเตงงาย
![]() |
เตงงาย |
การนำกำลังพลลัดเลาะซอกเขาของอุยเอี๋ยนนี้ คล้ายกับแผนของเตงงายที่ยกทัพไปทางด้านอิมเป๋ง ขึ้นเขาลงห้วย ไต่หน้าผา แล้วนำทหารที่เหลืออยู่เพียง 2,000 คนบุกเข้าเสฉวนได้โดยที่ฝ่ายจ๊กก๊กไม่ทันตั้งตัว และนี่อาจเป็นเหตุผลสนับสนุนหนึ่ง ที่ทำให้หลาย ๆ ท่านคิดว่าแผนของอุยเอี๋ยนจะสำเร็จ
แต่.....ต้องอย่าลืมว่าสถานการณ์ของ เตงงายบุกจ๊กก๊ก นั้นแตกต่างจากแผนอุยเอี๋ยนบุกวุยก๊กอย่างสิ้นเชิง เตงงายบุกเข้าตีจ๊กก๊กที่มีสภาพย่ำแย่ เสฉวนเองแม้มีกำลังป้องกันเหลืออยู่ประมาณ 40,000 คน แต่ขวัญกำลังใจและความสามารถของเหล่าขุนนางอยู่ในสภาพที่ใช้การไม่ได้ ส่วนแผนของอุยเอี๋ยนนั้น เป็นการบุกตีวุยก๊กที่แข็งแกร่งเกรียงไกร มากมายไพร่พลและขุนนางที่มีความรู้ความสามารถ เพียบพร้อมทุกขุมกำลัง ต่างกับกับสภาพของจ๊กก๊กมากมายนัก
และจากทัศนะของขงเบ้งที่ว่า
“เราจะทำการใหญ่เอาฤกษ์อยู่ ซึ่งให้เสียทีแก่ข้าศึกนั้นไม่ชอบ”
การยกทัพครั้งนี้เป็นเพียงการยกทัพครั้งแรก และหากศึกแรกที่เกิดขึ้น ผลคือการสูญเสียชีวิตแม่ทัพใหญ่ระดับของอุยเอี๋ยน ที่ในเวลานั้น เป็นขุนพลใหญ่อันดับสองรองจากจูล่ง กำลังใจของฝ่ายจ๊กก๊กคงหมดสิ้น
การนำกำลังพลเพียง 5,000 คนเข้าไปอยู่ท่ามกลางดินแดนข้าศึก จึงเหมือนแมลงเม่าที่บินเข้ากองไฟ อย่าว่าแต่ “อาจเป็นไปได้” เลย ....
ขงเบ้งหาใช่ชิงชัง แต่เป็นเพราะแผนนั้น ไม่มีวันสำเร็จ