Loading ...

$show=home

จุดเริ่มต้นของการศึกษาสามก๊ก

แหล่งศึกษาเรียนรู้ ทุกเรื่องราวของวรรณกรรมเพชรน้ำเอกของโลก

สามก๊กวิทยา : THREE KINGDOMS ACADEMY

ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่อาณาจักร
"สามก๊กวิทยา"
THREE KINGDOMS ACADEMY

ตำนานหนังสือสามก๊ก

ตำนานหนังสือสามก๊ก

จากต้นฉบับตำนานหนังสือสามก๊ก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระดำรงราชานุภาพ ทรงแต่ง เป็นภาคผนวก ประกอบกับหนังสือสามก๊กฉะบับงานพระเมรุสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า ฯ

พิมพ์ที่โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๑

คำนำ

สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า สุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี เสด็จประทับอยู่ด้วยสมเด็จพระโอรสณะวังบางขุนพรหมมาแต่รัชกาลที่ ๖ ทรงประชวรสิ้นพระชนม์เมื่อวันเสาร์ ที่ ๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๐ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรด ฯ ให้เชิญพระศพเข้าไปประดิษฐานไว้บนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง แล้วดำรัสสั่งให้สร้างพระเมรุที่ท้องสนามหลวง กำหนดจะพระราชทานเพลิงพระศพในต้น พ.ศ. ๒๔๗๑ สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ฯ ทรงปรารภการพระกุศลอันจะทรงบำเพ็ญสนองพระคุณสมเด็จพระชนนี ดำรัสปฤกษาข้าพเจ้าถึงเรื่องหนังสือซึ่งจะทรงพิมพ์เปนมิตรพลีสำหรับประทานในงานพระเมรุ โปรดเรื่องสามก๊ก ด้วยทรงพระราชดำริว่าเปนหนังสือซึ่งนับถือกันมาว่าแต่งดีทั้งตัวเรื่องแลสำนวนที่แปลเปนภาษาไทย ถึงได้ใช้เปนตำราเรียนอยู่อีกเรื่องหนึ่ง แต่ทุกวันนี้จะหาฉะบับดีไม่ได้เสียแล้ว ด้วยเปนแต่พิมพ์ต่อ ๆ กันมามิได้ชำระต้นฉะบับที่พิมพ์ในชั้นหลัง ดำรัสว่าถ้าหากราชบัณฑิตยสภารับชำระต้นฉะบับแลจัดการพิมพ์ใหม่ให้ทันได้ทั้งเรื่อง ก็จะทรงรับบริจาคทรัพย์พิมพ์เรื่องสามก๊กเปนหนังสือสำหรับประทานเรื่องหนึ่งในงานพระเมรุสมเด็จพระชนนี ข้าพเจ้าได้ฟังมีความยินดีรู้สึกว่าเปนหน้าที่ของราชบัณฑิตยสภาจะต้องรับสนองพระประสงค์ ด้วยหนังสือสามก๊กเปนหนังสือเรื่องสำคัญ แลเปนหนังสือเรื่องใหญ่ถึง ๔ เล่มสมุดพิมพ์ จะหาผู้อื่นรับพิมพ์ทั้งเรื่องยากยิ่งนัก ถ้าพ้นโอกาสนี้แล้ว ก็ไม่สามารถกำหนดได้ว่าเมื่อใดจะได้ชำระแลพิมพ์หนังสือเรื่องสามก๊กให้กลับคืนดีดังเก่า ข้าพเจ้าจึงกราบทูลรับจะทำถวายให้ทันตามพระประสงค์

เมื่อกราบทูลรับแล้วมาพิเคราะห์ดู เห็นว่าการที่จะพิมพ์หนังสือสามก๊กฉะบับงานพระเมรุสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า ฯ ครั้งนี้ มีข้อสำคัญซึ่งควรคำนึงอยู่ ๒ ข้อ ข้อหนึ่งคือนักเรียนทุกวันนี้การเรียนแลความรู้กว้างขวางกว่าแต่ก่อน หนังสือสามก๊กฉะบับพิมพ์ใหม่จะต้องให้ผู้อ่านได้ความรู้ยิ่งขึ้นกว่าอ่านฉะบับที่พิมพ์ไว้แต่เดิม จึงจะนับว่าเปนฉะบับดีสมกับที่พิมพ์ในงานพระเมรุสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า ฯ ความข้อนี้เห็นทางที่จะทำได้มีอยู่ ด้วยอาจตรวจสอบหนังสือต่าง ๆ หาความรู้อันเปนเครื่องประกอบหนังสือสามก๊กมาแสดงเพิ่มเติม แลการส่วนนี้ผะเอิญมีผู้สามารถอยู่ในราชบัณฑิตยสภา คืออำมาตย์โท พระเจนจีนอักษร (สุดใจ ตัณฑากาศ) ซึ่งเชี่ยวชาญทั้งภาษาจีนแลได้เคยอ่านหนังสือจีนเรื่องต่าง ๆ มาก รับเปนผู้เสาะหาความรู้ทางฝ่ายจีน แลมีศาสตราจารย์ ยอร์ช เซเดส์อีกคนหนึ่งรับช่วยเสาะหาทางประเทศอื่น ตัวข้าพเจ้าเสาะหาทางฝ่ายไทย ช่วยกันค้นคว้าหาความรู้เนื่องด้วยเรื่องหนังสือสามก๊ก อันยังมิได้ปรากฎแพร่หลายมาแต่ก่อนได้อีกหลายอย่าง ถ้าว่าตามแบบที่เคยทำมา ความรู้ที่ได้เพิ่มเติมเช่นนี้มักแสดงไว้ใน “คำนำ” หรือ “คำอธิบาย” ข้างหน้าเรื่อง แต่ความอันจะพึงกล่าวด้วยเรื่องสามก๊ก ถ้าเรียบเรียงให้สิ้นกระแสซึ่งจะเปนประโยชน์ในทางความรู้ เห็นจะเปนหนังสือมากเกินขนาดที่เคยลงในคำนำหรือคำอธิบาย เมื่อคิดใคร่ครวญว่าจะทำอย่างไรดี ข้าพเจ้าหวนรำลึกถึงครั้งสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า ฯ ทรงบำเพ็ญพระกุศลฉลองพระชันสาครบ ๖๐ ปี เมื่อระกา พ.ศ. ๒๔๖๔ โปรดให้พิมพ์หนังสือบทละคอนเรื่องอิเหนา พระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ประทานเปนมิตรพลี ครั้งนั้นข้าพเจ้าได้แต่งเรื่องตำนานละคอนอิเหนาพิมพ์เพิ่มเปนภาคผนวกถวายอีกเล่มหนึ่ง สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า ฯ โปรด งานพระเมรุครั้งนี้ข้าพเจ้าก็นึกปราถนาอยู่ ว่าจะรับหน้าที่ทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง พอสนองพระคุณสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า ฯ ซึ่งได้มีมาแก่ตัวข้าพเจ้าตลอดจนเหล่าธิดาหาที่จะเปรียบปานได้โดยยาก ก็นึกขึ้นได้ว่า ถ้าลงแรงแต่งตำนานหนังสือสามก๊กพิมพ์เพิ่มเปนภาคผนวกถวายบูชาพระศพเหมือนอย่างเคยแต่งเรื่องตำนานละคอนอิเหนาถวายเมื่อพระองค์ยังเสด็จดำรงพระชนม์อยู่ เห็นจะสมควรยิ่งกว่าอย่างอื่น อันนี้แลเปนมูลเหตุให้ข้าพเจ้าแต่งตำนานหนังสือสามก๊กซึ่งพิมพ์ในสมุดเล่มนี้

ความสำคัญอีกข้อหนึ่งนั้น คือการที่จะชำระต้นฉะบับแลพิมพ์หนังสือสามก๊กฉะบับงานพระเมรุครั้งนี้ ด้วยหนังสือสามก๊กเปนเรื่องใหญ่ถึง ๔ เล่มสมุดพิมพ์ และจะต้องพิมพ์ให้แล้วภายในเวลามีกำหนด ตัวพนักงานการพิมพ์หนังสือซึ่งมีประจำอยู่ในราชบัณฑิตยสภาไม่พอการ ต้องหาบุคคลภายนอกช่วย ผะเอิญได้มหาเสวกโท พระยาพจนปรีชา (ม.ร.ว.สำเริง อิศรศักดิ์ ณอยุธยา) ซึ่งเปนนักเรียนมีเกียรติมาแต่ก่อน มีแก่ใจรับหน้าที่เปนบรรณาธิการ ด้วยเห็นว่าการพิมพ์หนังสือสามก๊กจะเปนสาธารณะประโยชน์อย่างสมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ ฯ ทรงพระดำริ ข้าพเจ้าจึงได้มอบการให้พระยาพจนปรีชาทำตั้งแต่ชำระต้นฉะบับตลอดจนตรวจฉะบับพิมพ์ แลให้รองอำมาตย์ตรี ขุนวรรณรักษ์วิจิตร (เชย ชุมากร เปรียญ) รองบรรณารักษ์ในหอพระสมุดวชิราวุธเปนผู้ช่วยในการนั้น(๑)

หนังสือซึ่งใช้เปนต้นฉะบับชำระ ใช้หนังสือสามก๊กฉะบับหมอบรัดเลพิมพ์ครั้งแรกฉะบับ ๑ หนังสือนี้ที่ในหอพระสมุดฯ มีไม่บริบูรณ์ ต้องเที่ยวสืบหาตามบันดาท่านผู้ที่สะสมหนังสือ ทั้งฝ่ายในพระบรมมหาราชวังแลฝ่ายหน้า ข้าพเจ้าขอถือโอกาสนี้แสดงความขอบคุณ ด้วยไม่ว่าท่านผู้ใด เมื่อได้ทราบว่าต้องการฉะบับเพื่อจะพิมพ์ในงานพระเมรุสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า ฯ ก็ยินดีให้ยืมตามประสงค์ทุกราย ที่ยอมยกหนังสือนั้นให้เปนสิทธิ์แก่หอพระสมุดฯ ทีเดียวก็มี อาศัยเหตุนี้จึงได้ฉะบับพิมพ์ครั้งแรกของหมอบรัดเลมาครบครัน นอกจากนั้นให้เอาหนังสือฉะบับเขียนของเก่าสอบด้วยอีกฉะบับ ๑ บันดาฉะบับเขียนที่มีอยู่ในหอพระสมุดฯ ฉะบับของกรมหลวงวรเสรฐสุดาซึ่งสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสประทานไว้ในหอพระสมุดฯ เปนบริบูรณ์ดีกว่าเพื่อน ได้ใช้ฉะบับนี้สอบกับฉะบับพิมพ์ครั้งแรกของหมอบรัดเลเปน ๒ ฉะบับด้วยกัน แลยังได้อาศัยฉะบับพิมพ์ภาษาจีนด้วยอีกฉะบับ ๑ สำหรับสอบในเมื่อมีความบางแห่งเปนที่สงสัย หรือต้นฉะบับภาษาไทยแย้งกันแต่ชี้ไม่ได้ว่าฉะบับไหนถูก

เนื่องในการชำระต้นฉะบับนั้น ข้าพเจ้าคิดเห็นว่าสิ่งซึ่งควรจะเพิ่มเติมเข้าในฉะบับพิมพ์ใหม่ให้ดียิ่งขึ้นด้วยไม่ต้องแก้หนังสือฉะบับเดิมมีอยู่บางอย่าง เปนต้นว่าศักราชซึ่งอ้างถึงในฉะบับเดิม บอกเปนปีรัชกาลของพระเจ้าแผ่นดินตามประเพณีนับศักราชอย่างจีน ไทยเราเข้าใจได้ยาก จึงให้คำนวณเปนพุทธศักราชพิมพ์แทรกลงไว้ให้เข้าใจง่ายขึ้นอย่างหนึ่ง อีกอย่างหนึ่งในฉะบับเดิมความบางแห่งกล่าวเข้าใจยาก ได้ให้ลงอธิบายหมายเลขพอให้เข้าใจความง่ายขึ้น อนึ่งข้าพเจ้าคิดเห็นว่าหนังสือไทยเรื่องต่าง ๆ ซึ่งพิมพ์กันในปัจจุบันนี้ ที่นับว่าดีมักมีรูปภาพ แลรูปภาพเรื่องสามก๊กจีนก็ชอบเขียนไว้พอจะหาแบบอย่างได้ไม่ยาก จึงได้เลือกรูปภาพในหนังสือสามก๊กจีนจำลองมา พิมพ์รูปภาพตัวบุคคลไว้ในสมุดตำนานนี้ แลพิมพ์รูปภาพแสดงเรื่องไว้ในหนังสือสามก๊กฉะบับงานพระเมรุให้เปนฉะบับมีรูปภาพ ผิดกับฉะบับอื่นซึ่งเคยพิมพ์มาแต่ก่อนด้วย

การพิมพ์นั้นได้ตกลงให้โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากรพิมพ์ เพราะฝีมือดีแลทำเร็ว ฝ่ายรองเสวกเอก พระโสภณอักษรกิจ (เล็ก สมิตสิริ) ผู้เปนเจ้าของโรงพิมพ์ เมื่อทราบว่าข้าพเจ้าแต่งตำนานเปนภาคผนวกจะพิมพ์อีกเรื่องหนึ่ง มาขอพิมพ์เปนส่วนของตนถวายในงานพระเมรุสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า ฯ ครั้งนี้ ส่วนการทำรูปภาพ นายพลตรี พระยาภักดีภูธร เจ้ากรมแผนที่ทหารบก รับทำแม่พิมพ์ ตลอดจนรับพิมพ์แผนที่ประเทศจีนสมัยสามก๊กสำหรับหนังสือตำนานเล่มนี้ด้วย

นอกจากที่ได้พรรณนามา ยังมีท่านผู้อื่นได้ช่วยเมื่อแต่งหนังสือนี้ ขอแสดงความขอบคุณ คือ ท่านกุยชิโร ฮายาชี อัครราชทูตญี่ปุ่น ได้ช่วยสืบเรื่องแปลหนังสือสามก๊กเปนภาษาญี่ปุ่น พระวิทยประจง (จ่าง โชติจิตรกะ) ได้ช่วยเขียนอักษรไทยเทียมจีน แลรองอำมาตย์ตรี สมบุญ โชติจิตร นายเวรวิเศษราชบัณฑิตยสภาเปนผู้เขียนแลดีดพิมพ์หนังสือให้ข้าพเจ้าด้วย

ราชบัณฑิตยสภามั่นใจว่าท่านทั้งหลายบันดาที่ได้รับประทานหนังสือสามก๊กฉะบับงานพระเมรุสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า ฯ ตลอดจนผู้ซึ่งจะได้อ่านด้วยประการอย่างอื่น คงจะถวายอนุโมทนาในการที่สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิตได้โปรดให้พิมพ์หนังสือสามก๊กฉะบับนี้ เปนส่วนหนึ่งเนื่องในการกุศลบุญราศีทักษิณานุปทาน ซึ่งทรงบำเพ็ญสนองพระคุณสมเด็จพระชนนีครั้งนี้ทั่วกัน

ดำรงราชานุภาพ
นายกราชบัณฑิตยสภา

วันที่ ๓๑ มีนาคม พระพุทธศักราช ๒๔๗๐


(๑) เดิมให้อำมาตย์โท พระพินิจวรรณการ (แสง สาลิตุล เปรียญ) เลขานุการราชบัณฑิตยสภาเปนผู้ตรวจฉะบับพิมพ์ แต่พระพินิจ ฯ ทำงานเหลือกำลังจนมีอาการป่วย จึงผ่อนงานนี้ให้ทำเพียงแต่สารบารพ์

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

๑ ว่าด้วยหนังสือสามก๊ก

หนังสือสามก๊กไม่ใช่เปนพงศาวดารสามัญ จีนเรียกว่า “สามก๊กจี่” แปลว่าจดหมายเหตุเรื่องสามก๊ก เปนหนังสือซึ่งปราชญ์จีนคนหนึ่งเลือกเอาเรื่องในพงศาวดารตอนหนึ่งมาแต่งขึ้น โดยประสงค์จะให้เปนตำราสำหรับศึกษาอุบายการเมืองแลการสงคราม แลแต่งดีอย่างยิ่ง จึงเปนหนังสือเรื่องหนึ่งซึ่งนับถือทั่วไปในประเทศจีน แลตลอดไปจนถึงประเทศอื่นๆ

ต้นตำนานของหนังสือสามก๊กนั้น ทราบว่าเดิมเรื่องสามก๊กเปนแต่นิทานสำหรับเล่ากันอยู่ก่อน เมื่อถึงสมัยราชวงศ์ถัง (พ.ศ. ๑๑๖๑ - ๑๔๔๙) เกิดมีการเล่นงิ้วขึ้นในเมืองจีน พวกงิ้วก็ชอบเอาเรื่องสามก๊กไปเล่นด้วยเรื่องหนึ่ง ต่อมาถึงสมัยราชวงศ์หงวน (พ.ศ. ๑๘๒๐ - ๑๙๑๐) การแต่งหนังสือจีนเฟื่องฟูขึ้น มีผู้ชอบเอาเรื่องพงศาวดารมาแต่งเปนเรื่องหนังสืออ่าน แต่ก็ยังไม่ได้เอาเรื่องสามก๊กมาแต่งเปนหนังสือ(๑) จนถึงสมัยราชวงศ์ไต้เหม็ง (พ.ศ. ๑๙๑๑ - ๒๑๘๖) จึงมีนักปราชญ์จีนชาวเมืองฮั่งจิ๋วคนหนึ่งชื่อล่อกวนตง คิดแต่งหนังสือเรื่องสามก๊กขึ้น เปนหนังสือ ๑๒๐ ตอน ต่อมามีนักปราชญ์จีนอีก ๒ คน คนหนึ่งชื่อเม่าจงกังคิดจะพิมพ์หนังสือสามก๊ก จึงแต่งคำอธิบายแลพังโพย(๒)
เพิ่มเข้า แล้วให้นักปราชญ์จีนอีกคน ๑ ชื่อกิมเสี่ยถ่างอ่านตรวจ กิมเสี่ยถ่างเลื่อมใสในหนังสือสามก๊ก ช่วยแก้ไขคำพังโพยของเม่าจงกัง แล้วแต่งคำอธิบายของกิมเสี่ยถ่างเปนทำนองคำนำ(๓) มอบให้เม่าจงกังไปแกะตัวพิมพ์ตีพิมพ์หนังสือเรื่องสามก๊กขึ้น หนังสือสามก๊กจึงได้มีฉะบับพิมพ์แพร่หลายในประเทศจีน แล้วได้ฉะบับต่อไปถึงประเทศอื่นๆ

(๑) ในคำนำเรื่องสามก๊กภาษาอังกฤษของมิสเตอร์บริเวตเตเลอว่าหนังสือสามก๊กแต่งครั้งสมัยราชวงศ์หงวน แต่พระเจนจีนอักษรได้สอบว่าหาเปนเช่นนั้นไม่

(๒) พังโพยนั้นเปนทำนองฟุตโนต มักเรียกในภาษาไทยว่า “คำกลาง” แปลไว้ในหนังสือสามก๊กภาษาไทยหลายแห่ง แต่ว่าไม่หมดที่เม่าจงกังได้แต่งไว้

(๓) คำอธิบายของกิมเสี่ยถ่างจะปรากฎในหนังสือนี้ต่อไปข้างหน้า

๒ ว่าด้วยแปลหนังสือสามก๊ก

ได้ลองสืบสวนดูเมื่อจะแต่งตำนานนี้ ได้ความว่าหนังสือสามก๊กได้แปลเปนภาษาต่างๆ ถึง ๑๐ ภาษา(๑) คือ

๑ แปลเปนภาษาญี่ปุ่นเมื่อ พ.ศ. ๒๒๓๕

๒ แปลเปนภาษาเกาหลีพิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๒

๓ แปลเปนภาษาญวนพิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๒

๔ แปลเปนภาษาเขมร แปลเมื่อใดหาทราบไม่ ยังไม่ได้พิมพ์

๕ แปลเปนภาษาไทยเมื่อราว พ.ศ. ๒๓๔๕

๖ แปลเปนภาษามาลายูพิมพ์(๒) เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๕

๗ แปลเปนภาษาละติน มีฉะบับเขียนอยู่ในรอยัลอาเซียติคโซไซเอตี แต่จะแปลเมื่อใดไม่ปรากฎ

๘ แปลเปนภาษาสะเปญเมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๓

๙ แปลเปนภาษาฝรังเศสเมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๘

๑๐ แปลเปนภาษาอังกฤษพิมพ์(๓) เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๙

ตำนานการแปลหนังสือสามก๊กเปนภาษาไทยมีคำบอกเล่าสืบกันมาว่าเมื่อในรัชกาลที่ ๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก มีพระราชดำรัสสั่งให้แปลหนังสือพงศาวดารจีนเปนภาษาไทย ๒ เรื่อง คือเรื่องไซ่ฮั่นเรื่อง ๑ กับเรื่องสามก๊กเรื่อง ๑ โปรดฯ ให้สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ กรมพระราชวังหลังทรงอำนวยการแปลเรื่องไซ่ฮั่น แลให้เจ้าพระยาพระคลัง (หน) อำนวยการแปลเรื่องสามก๊ก คำที่เล่ากันมาดังกล่าวนี้ ไม่มีในจดหมายเหตุ แต่เมื่อพิเคราะห์ดูเห็นมีหลักฐานควรเชื่อได้ว่าเปนความจริง ด้วยเมื่อในรัชกาลที่ ๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงเอาเปนพระราชธุระขวนขวายสร้างหนังสือต่างๆ ขึ้นเพื่อประโยชน์สำหรับพระนคร หนังสือซึ่งเปนต้นฉะบับตำหรับตำราในกรุงรัตนโกสินทรนี้ ทั้งที่รวบรวมของเก่า ที่แต่งใหม่ แลที่แปลมาจากภาษาต่างประเทศ เกิดขึ้นในรัชกาลที่ ๑ มีมาก แต่ว่าในสมัยนั้นเปนหนังสือเขียนในสมุดไทยทั้งนั้น ฉะบับหลวงมักมีบานแผนกแสดง ว่าโปรดฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อปีใด แต่หนังสือเรื่องไซ่ฮั่นกับสามก๊ก ๒ เรื่องนี้ ต้นฉะบับที่ยังปรากฎอยู่มีแต่ฉะบับชเลยศักดิ์ขาดบานแผนกข้างต้น จึงไม่มีลายลักษณอักษรเปนสำคัญว่าแปลเมื่อใด ถึงกระนั้นก็ดีมีเค้าเงื่อนอันส่อให้เห็นชัดว่าหนังสือเรื่องไซ่ฮั่นกับเรื่องสามก๊กแปลเมื่อในรัชกาลที่ ๑ ทั้ง ๒ เรื่อง เปนต้นว่าสังเกตเห็นได้ในเรื่องพระอภัยมณีที่สุนทรภู่แต่ง ซึ่งสมมตให้พระอภัยมณีมีวิชชาชำนาญการเป่าปี่ ก็คือเอามาแต่เตียวเหลียงในเรื่องไซฮั่น ข้อนี้ยิ่งพิจารณาดูคำเพลงปี่ของเตียวเหลียงเทียบกับคำเพลงปี่ของพระอภัยมณี ก็ยิ่งเห็นได้ชัดว่าถ่ายมาจากกันเปนแท้ ด้วยเมื่อรัชกาลที่ ๑ สุนทรภู่เปนข้าอยู่ในกรมพระราชวังหลัง คงได้ทราบเรื่องไซ่ฮั่นมาแต่เมื่อแปลที่วังหลัง ส่วนเรื่องสามก๊กนั้นเค้าเงื่อนก็มีอยู่เปนสำคัญในบทละคอนนอกเรื่องคาวี ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงพระราชนิพนธ์บทหนึ่ง ว่า

“๏ เมื่อนั้น ไวยทัตหุนหันไม่ทันตรึก
อวดรู้อวดหลักฮักฮึก ข้าเคยพบรบศึกมาหลายยก
จะเข้าออกยอกย้อนผ่อนปรน เล่ห์กลเรานี้อย่าวิตก
ทั้งพิไชยสงครามสามก๊ก ได้เรียนไว้ในอกสารพัด
ยายกลับไปทูลพระเจ้าป้า ว่าเรารับอาสาไม่ข้องขัด
ค่ำวันนี้คอยกันเปนวันนัด จะเข้าไปจับมัดเอาตัวมา”


พึงเห็นได้ในบทละคอนนี้ ว่าถึงรัชกาลที่ ๒ หนังสือสามก๊กที่แปลเปนภาษาไทยได้อ่านกันจนนับถืออยู่แล้ว สมกับที่อ้างว่าแปลในรัชกาลที่ ๑ ใช่แต่เท่านั้น มีเค้าเงื่อนที่จะสันนิษฐานต่อไปอีก ว่าความนับถือเรื่องสามก๊กดังในพระราชนิพนธ์นั้น เปนมูลเหตุให้แปลหนังสือพงศาวดารจีนเรื่องอื่นๆ ในรัชกาลภายหลังต่อมา ข้อนี้มีจดหมายเหตุเปนหลักฐานอยู่ในบานแผนก ว่าถึงรัชกาลที่ ๒ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๒ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยโปรดฯ ให้แปลเรื่องเลียดก๊กอีกเรื่อง ๑ แลปรากฎนามผู้รับสั่งให้เปนพนักงานการแปลล้วนผู้มีศักดิ์สูงแลทรงความสามารถถึง ๑๒ คน คือ กรมหมื่นนเรศร์โยธี ๑ เจ้าพระยาวงศาสุรศักดิ์ ๑ เจ้าพระยายมราช ๑ พระยาโชฎึกราชเศษฐี ๑ พระท่องสื่อ ๑ จมื่นวัยวรนาถ ๑ นายจ่าเรศ ๑ นายเล่ห์อาวุธ ๑ หลวงลิขิตปรีชา ๑ หลวงวิเชียรปรีชา ๑ หลวงญาณปรีชา ๑ ขุนมหาสิทธิโวหาร ๑ พึงสันนิษฐานว่าเพราะทรงพระราชดำริเห็นว่าเปนหนังสืออันสมควรแปลไว้เพื่อประโยชน์ราชการบ้านเมือง เช่นเดียวกับที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกโปรดฯ ให้แปลเรื่องไซ่ฮั่นแลสามก๊ก ยังมีหนังสือเรื่องห้องสินกับเรื่องตั้งฮั่นอีก ๒ เรื่อง ฉะบับพิมพ์ที่ปรากฎอยู่ไม่มีบานแผนกบอกว่าแปลเมื่อใด แต่สำนวนแต่งเห็นเปนสำนวนเก่า อาจแปลเมื่อในรัชกาลที่ ๒ ก็เปนได้ ด้วยเรื่องห้องสินอยู่ข้างหน้าต่อเรื่องเลียดก๊กแลเรื่องตั้งฮั่นอยู่ในระวางเรื่องไซ่ฮั่นกับเรื่องสามก๊ก แต่ประหลาทอยู่อย่างหนึ่งที่ไม่ปรากฎว่าได้แปลหนังสือพงศาวดารจีนเรื่องใดเรื่องหนึ่งเมื่อในรัชกาลที่ ๓ น่าจะเปนด้วยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริว่าในรัชกาลแต่ก่อนมาได้สร้างหนังสือเพื่อประโยชน์ในทางคดีโลกย์มากแล้ว หนังสือคดีธรรมยังบกพร่องอยู่ เปลี่ยนไปทรงอุดหนุนการแปลพระไตรปิฎกจากภาษาบาลีมาเปนภาษาไทย จึงมีหนังสือเรื่องต่างๆ ซึ่งแปลจากภาษาบาลีเกิดขึ้นในรัชกาลที่ ๓ เปนอันมาก แต่อย่างไรก็ดีบรรดาหนังสือเรื่องพงศาวดารจีนที่ปรากฎอยูทุกวันนี้ นอกจาก ๔ เรื่องที่ได้ออกชื่อมาแล้ว เปนหนังสือแปลตั้งแต่รัชกาลที่ ๔ มาทั้งนั้น ได้ลองสำรวจเมื่อแต่งตำนานนี้มีจำนวนหนังสือพงศาวดารจีนที่ได้แปลพิมพ์เปนภาษาไทยถึง ๓๔ เรื่อง คือ

แปลในรัชกาลที่ ๑

๑ เรื่องไซ่ฮั่น แปลเมื่อก่อน(๔) พ.ศ. ๒๓๔๙ เปนหนังสือ ๓๗ เล่มสมุดไทย โรงพิมพ์หมอบรัดเลพิมพ์ครั้งแรกในรัชกาลที่ ๕ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๗ เปนสมุด ๒ เล่ม

๒ เรื่องสามก๊ก แปลเมื่อก่อน(๕) พ.ศ. ๒๓๔๘ เปนหนังสือ ๙๕ เล่มสมุดไทย โรงพิมพ์หมอบรัดเลพิมพ์ครั้งแรกในรัชกาลที่ ๔ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๘ เปนสมุด ๔ เล่ม

แปลในรัชกาลที่ ๒

๓ เรื่องเลียดก๊ก พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยโปรดฯ ให้แปลเมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๒ เปนหนังสือ ๑๕๓ เล่มสมุดไทย โรงพิมพ์หมอบรัดพิมพ์ครั้งแรกในรัชกาลที่ ๕ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๓ เปนสมุด ๕ เล่ม

๔ เรื่องห้องสิน สันนิษฐานว่าแปลเมื่อรัชกาลที่ ๒ เปนหนังสือ ๔๓ เล่มสมุดไทย โรงพิมพ์หมอบรัดเลพิมพ์ครั้งแรกในรัชกาลที่ ๕ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๙ เปนสมุด ๒ เล่ม

๕ เรื่องตั้งฮั่น สันนิษฐานว่าแปลเมื่อรัชกาลที่ ๒ เปนหนังสือ ๓๐ เล่มสมุดไทย โรงพิมพ์หมอบรัดเลพิมพ์ครั้งแรกในรัชกาลที่ ๕ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๙ เปนสมุด ๑ เล่ม

แปลในรัชกาลที่ ๔

๖ เรื่องไซ่จิ้น สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ให้หลวงพิชัยวารีแปลเมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๑ เปนหนังสือ ๓๕ เล่มสมุดไทย โรงพิมพ์หมอบรัดเลพิมพ์ครั้งแรกในรัชกาลที่ ๕ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๖

๗ เรื่องตั้งจิ้น สันนิษฐานว่าจะแปลเนื่องกันกับเรื่องไซ่จิ้น เปนหนังสือ ๓๘ เล่มสมุดไทย โรงพิมพ์หมอบรัดเลพิมพ์ครั้งแรกในรัชกาลที่ ๕ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๐ เปนสมุด ๒ เล่ม

๘ เรื่องน่ำซ้อง สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ให้แปลเปนหนังสือ ๕๔ เล่มสมุดไทย โรงพิมพ์หลวงพิมพ์ครั้งแรกในรัชกาลที่ ๕ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๔ เปนสมุด ๒ เล่ม

๙ เรื่องซุยถัง เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ให้จีนบั้นกิม กับจีนเพงแปลเมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๘ กล่าวกันว่าสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (จี่) วัดประยูรวงศาวาสเปนผู้แต่งภาษาไทย เปนหนังสือ ๖๐ เล่มสมุดไทย โรงพิมพ์หมอสมิธพิมพ์ครั้งแรกในรัชกาลที่ ๕ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๑ เปนสมุด ๓ เล่ม

๑๐ เรื่องน่ำปักซ้อง หลวงพิศาลศุภผลให้จีนบั้นกิมแปลเมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๘ เปนหนังสือ ๒๓ เล่มสมุดไทย โรงพิมพ์หลวงพิมพ์ครั้งแรกในรัชกาลที่ ๕ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๓ เปนสมุดไทย ๑ เล่ม

๑๑ เรื่องหงอโต้ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ให้แปลเมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๙ เปนหนังสือ ๒๐ เล่มสมุดไทย โรงพิมพ์หลวงพิมพ์ครั้งแรกในรัชกาลที่ ๕ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๑ เปนสมุด ๑ เล่ม

๑๒ เรื่องบ้วนฮวยเหลา สันนิษฐานว่าสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ให้แปล (คราวเดียวกับเรื่องโหงวโฮ้วเพงหนำ) เปนหนังสือ ๑๓ เล่มสมุดไทย โรงพิมพ์หมอบรัดเลพิมพ์ครั้งแรกในรัชกาลที่ ๕ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๓ เปนสมุด ๑ เล่ม

๑๓ เรื่องโหงวโฮ้วเพงไซ สันนิษฐานว่าสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ให้แปล (คราวเดียวกับเรื่องโหงวโฮ้วเพงหนำ) เปนหนังสือ ๑๔ เล่มสมุดไทย โรงพิมพ์หมอบรัดเลพิมพ์ครั้งแรกในรัชกาลที่ ๕ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๑ เปนสมุด ๑ เล่ม

๑๔ เรื่องโหงวโฮ้วเพงหนำ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ให้จีนโตแปลเมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๐ เปนหนังสือ ๖ เล่มสมุดไทย โรงพิมพ์หมอบรัดเลพิมพ์ครั้งแรกในรัชกาลที่ ๕ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๙ เปนสมุด ๑ เล่ม

๑๕ เรื่องซวยงัก สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ให้จีนโตกับจีนแสอินบั้นอั๋นแปลเมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๐ เปนหนังสือ ๓๘ เล่มสมุดไทย โรงพิมพ์หลวงพิมพ์ครั้งแรกในรัชกาลที่ ๕ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๒ เปนสมุด ๓ เล่ม

๑๖ เรื่องซ้องกั๋ง สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ให้แปลเมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๐ เปนหนังสือ ๘๒ เล่มสมุดไทย โรงพิมพ์หมอบรัดเลพิมพ์ครั้งแรกในรัชกาลที่ ๕ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๒ เปนสมุด ๕ เล่ม

๑๗ เรื่องเม่งเฉียว สมเด็จเจ้าพระยาบรมหาศรีสุริยวงศ์ให้แปล (เมื่อปีใดไม่ปรากฎ) เปนหนังสือ ๑๗ เล่มสมุดไทย โรงพิมพ์หลวงพิมพ์ครั้งแรกในรัชกาลที่ ๕ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๔ เปนสมุด ๒ เล่ม

แปลในรัชกาลที่ ๕

๑๘ เรื่องไคเภ็ก เจ้าพระยาภานุวงศ ฯ ให้หลวงพิพิธภัณฑวิจารณ์(๖) แปลเมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๐ เปนหนังสือ ๑๘ เล่มสมุดไทย โรงพิมพ์หมอบรัดเลพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๔ เปนสมุด ๑ เล่ม

๑๙ เรื่องซ่วยถัง ใครแปลหาทราบไม่ เปนหนังสือ ๒๓ เล่มสมุดไทย โรงพิมพ์ศิริเจริญพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๖ เปนสมุด ๑ เล่ม

๒๐ เรื่องเสาปัก สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ให้แปลเมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๓ เปนหนังสือ ๑๘ เล่มสมุดไทย โรงพิมพ์หมอบรัดเลพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๔ เปนสมุด ๓ เล่ม

๒๑ เรื่องซิยินกุ้ยเจงตัง สันนิษฐานว่าสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศให้แปล (ในคราวเดียวกับเรื่องสิเตงซันเจงไซ) เปนหนังสือ ๑๒ เล่มสมุดไทย โรงพิมพ์หมอบรัดเลพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๖ เปนสมุด ๑ เล่ม

๒๒ เรื่องซิเตงซันเจงไซ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ให้จีนโตแปลเมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๒ เปนหนังสือ ๑๔ เล่มสมุดไทย โรงพิมพ์หมอบรัดเลพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๗ เปนสมุด ๒ เล่ม

๒๓ เรื่องเองเลียดต้วน สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ให้แปลเมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๓ เปนหนังสือ ๒๐ เล่มสมุดไทย โรงพิมพ์หมอบรัดเลพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๒ เปนสมุด ๑ เล่ม

๒๔ เรื่องอิวกังหนำ สันนิษฐานว่าสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ให้แปล เปนหนังสือ ๑๔ เล่มสมุดไทย โรงพิมพ์หมอบรัดเลพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๒ เปนสมุด ๑ เล่ม

๒๕ เรื่องไต้อั้งเผ่า สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ให้หลวงพิชัยวารีแปลเมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๒ เปนหนังสือ ๒๗ เล่มสมุดไทย โรงพิมพ์หมอบรัดเลพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๒ เปนสมุด ๒ เล่ม

๒๖ เรื่องเซียวอั้งเผ่า สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ให้หลวงพิชัยวารีแปลเมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๓ เปนหนังสือ ๑๓ เล่มสมุดไทย โรงพิมพ์อุดมกิจเจริญพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๕ เปนสมุด ๑ เล่ม

๒๗ เรื่องเนียหนำอิดซือ สันนิษฐานว่าสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ให้แปล เปนหนังสือ ๒๖ เล่มสมุดไทย โรงพิมพ์หมอบรัดเลพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๑ เปนสมุด ๒ เล่ม

๒๘ เรื่องเม่งมวดเชงฌ้อ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ให้หลวงพิชัยวารีแปลเมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๓ เปนหนังสือ ๑๗ เล่มสมุดไทย โรงพิมพ์หมอบรัดเลพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๑ เปนสมุด ๑ เล่ม

๒๙. เรื่องไซอิ๋ว พระโสภณอักษรกิจ (เล็ก สมิตศิริ) ให้นายตีนแปล แลนายเทียนวรรณาโภ เรียบเรียง เปนหนังสือ ๖๕ เล่มสมุดไทย โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากรพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๙ เปนสมุด ๔ เล่ม

๓๐ เรื่องเปาเล่งถูกงอั้น นายหยอง อยู่ในกรมทหารปืนใหญ่แปล นายเทียนวรรณาโภ เรียบเรียง เปนหนังสือ ๑๘ เล่มสมุดไทย โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๑ เปนสมุด ๒ เล่ม

แปลในรัชกาลที่ ๖

๓๑ เรื่องเชงเฉียว พระโสภณอักษรกิจ (เล็ก สมิตสิริ) ให้ขุนจีนภาคบริวัตร (โซวคึนจือ) แปล พระยาอุดมพงศ์พงเพญสวัสดิ์ (ม.ร.ว. ประยูร อิศรศักดิ์ ณอยุธยา) เรียบเรียง (ประมาณขนาด ๑๒ เล่มสมุดไทย) โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากรพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๘ เปนสมุด ๑ เล่ม

๓๒ เรื่องง่วนเฉียว นายซุ่ยเทียม ตันเวชกุล แปล (ประมาณขนาด ๔๖ เล่มสมุดไทย) โรงพิมพ์เดลิเมล์พิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๔ เปนสมุด ๒ เล่ม

๓๓ เรื่องบูเซ็กเทียน คณะหนังสือพิมพ์สยามแปล (ประมาณขนาด ๑๘ เล่มสมุดไทย) แลพิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๕ เปนสมุด ๑ เล่ม

๓๔ เรื่องโหงวโฮ้วเพ็งปัก แปลพิมพ์ในหนังสือพิมพ์สยามราษฎร์ (ประมาณขนาด ๑๘ เล่มสมุดไทย) แลคณะหนังสือพิมพ์ศรีกรุงรวมพิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๕ เปนสมุด ๒ เล่ม(๗)

หนังสือเรื่องต่าง ๆ ที่ แปลจากพงศาวดารจีนดังพรรณนามา ถ้าลำดับเทียบกับสมัยในพงศาวดารจีน ตรงกันดังแสดงต่อไปนี้

ศักราชพงศาวดารจีน / ชื่อเรื่องหนังสือ

(๑) พระเจ้าอึ่งตี่ฮองเต้ครองราชสมบัติอยู่ ๑๐๐ ปี
แต่เมื่อก่อนพุทธกาล ๒๑๕๔ ปี เรื่องไคเภ็ก
(๒) พระเจ้ากิมเต๊กอ๋องฮองเต้ครองราชสมบัติอยู่ ๘๔ ปี
แต่เมื่อก่อนพุทธกาล ๒๐๕๔ ปี เรื่องไคเภ็ก
(๓) พระเจ้าจวนยกตี่ฮองเต้ครองราชสมบัติอยู่ ๗๔ ปี
แต่เมื่อก่อนพุทธกาล ๑๙๗๐ ปี เรื่องไคเภ็ก
(๔) พระเจ้าตี่คอกฮองเต้ครองราชสมบัติอยู่ ๗๐ ปี
แต่เมื่อก่อนพุทธกาล ๑๘๙๒ ปี เรื่องไคเภ็ก
(๕) พระเจ้าจี่เต้ฮองเต้ครองราชสมบัติอยู่ ๙ ปี
แต่เมื่อก่อนพุทธกาล ๑๘๒๒ ปี เรื่องไคเภ็ก
(๖) พระเจ้าเงี้ยวเต้ฮองเต้ครองราชสมบัติอยู่ ๑๐๐ ปี
แต่เมื่อก่อนพุทธกาล ๑๘๑๔ ปี เรื่องไคเภ็ก
(๗) พระเจ้าอึ่งตี่ฮองเต้ครองราชสมบัติอยู่ ๔๘ ปี
แต่เมื่อก่อนพุทธกาล ๑๗๑๒ ปี เรื่องไคเภ็ก

๑ ราชวงศ์แฮ่
พระเจ้าอู๋เต้ปฐมกษัตริย์สืบราชวงศ์ถึงพระเจ้าเกียดรวม ๑๗ พระองค์ จำนวนรัชกาล ๔๒๓ ปี ตั้งแต่ก่อนพุทธกาล ๑๖๖๒ ถึง ๑๒๔๐ ปี เรื่องไคเภ็ก

๒ ราชวงศ์เซียง
พระเจ้าเซียงทางปฐมกษัตริย์สืบราชวงศ์ถึงพระเจ้าติวอ๋องรวม ๒๘ องค์ จำนวนรัชกาล ๖๕๐ ปี ตั้งแต่ก่อนพุทธกาล ๑๒๔๐ ถึง ๕๙๐ ปี เรื่องไคเภ็กตอนปลาย
เรื่องห้องสินตอนต้น

๓ ราชวงศ์จิว
พระเจ้าจิวบูอ๋องปฐมกษัตริย์สืบราชวงศ์ถึงพระเจ้าจิวหมั้นอ๋องรวม ๓๔ องค์ จำนวนรัชกาล ๘๘๘ ปี ตั้งแต่ก่อนพุทธกาล ๕๙๑ ปี ถึง พ.ศ. ๒๙๗ เรื่องห้องสิน
เรื่องเลียดก๊ก

๔ ราชวงศ์จิ๋น
พระเจ้าจิ๋นซีฮองเต้ปฐมกษัตริย์สืบราชวงศ์ถึงพระเจ้าซาซีฮองเต้รวม ๒ องค์ จำนวนรัชกาล ๔๐ ปี ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๙๘ ถึง ๓๓๗ เรื่องไซ่ฮั่นตอนต้น

๕ (๑) ราชวงศ์ฮั่น
พระเจ้าฮั่นโกโจปฐมกษัตริย์สืบราชวงศ์ถึงพระเจ้าจูเอ๋งรวม ๑๓ องค์ จำนวนรัชกาล ๒๑๕ ปี ตั้งแต่ พ.ศ. ๓๓๗ ถึง ๕๕๑ เรื่องไซ่ฮั่นตอนปลาย

แซก
อองมั้งครองราชสมบัติ ๑๕ ปี ตั้งแต่ พ.ศ. ๕๕๒ ถึง ๕๖๖ เรื่องตั้งฮั่นตอนต้น
วางเอียงอ๋องครองราชสมบัติ ๒ ปี ตั้งแต่ พ.ศ. ๕๖๖ ถึง ๕๖๗ เรื่องตั้งฮั่นตอนต้น

๕ (๒) ราชวงศ์ฮั่น
พระเจ้ากองบู๊สืบราชวงศฮั่นถึงพระเจ้าเหี้ยนเต้ รวม ๑๒ องค์​ จำนวนรัชกาล ๑๙๖ ปี ตั้งแต่ พ.ศ. ๕๖๗ ถึง ๗๖๓ เรื่องตั้งฮั่นตอนปลาย เรื่องสามก๊กตอนต้น

๖ ราชวงศ์วุย
พระเจ้าโจผีปฐมกษัตริย์สืบราชวงศ์ถึงพระเจ้าโจฮวนรวม ๕ องค์ จำนวนรัชกาล ๔๕ ปี ตั้งแต่ พ.ศ. ๗๖๓ ถึง ๘๐๗ เรื่องสามก๊กตอนกลาง

๗ ราชวงศ์จิ้น
พระเจ้าสุมาเอี๋ยนปฐมกษัตริย์สืบราชวงศ์ถึงพระเจ้ากรองเต้รวม ๑๕ องค์ จำนวนรัชกาล ๑๕๕ ปี ตั้งแต่ พ.ศ. ๘๐๘ ถึง ๙๖๒ เรื่องสามก๊กตอนปลาย เรื่องไซ่จิ้น เรื่องตั้งจิ้น เรื่องน่ำซ้อง
เอกราชภาคเหนือแลเอกราชภาคใต้

๘ ราชวงศ์ซอง
พระเจ้าซองเกาโจ๊ปฐมกษัตริย์สืบราชวงศ์ถึงพระเจ้าสุนเต้รวม ๗ องค์ จำนวนรัชกาล ๕๙ ปี ตั้งแต่ พ.ศ. ๙๖๓ ถึง ๑๐๒๑ เรื่องน่ำซ้อง

๙ ราชวงศ์ซี
พระเจ้าชีเกาเต้ปฐมกษัตริย์สืบราชวงศถึงพระเจ้าฮัวเต้รวม ๕ องค์ จำนวนรัชกาล ๒๓ ปี ตั้งแต่ พ.ศ. ๑๐๒๒ ถึง ๑๐๔๔ เรื่องน่ำซ้อง

๑๐ ราชวงศ์เหลียง
พระเจ้าเหลียงบูเต้ปฐมกษัตริย์สืบราชวงศ์ถึงพระเจ้าเกงเต้รวม ๔ องค์ จำนวนรัชกาล ๕๖ ปี ตั้งแต่ พ.ศ. ๑๐๔๕ ถึง ๑๑๐๐ เรื่องน่ำซ้อง

๑๑ ราชวงศ์ตั้น
พระเจ้าตั้นบูเต้ปฐมกษัตริย์สืบราชวงศ์ถึงพระเจ้าเอ๋าจู๊รวม ๕ องค์ จำนวนรัชกาล ๓๓ ปี ตั้งแต่ ๑๑๐๐ ถึง ๑๑๓๒ เรื่องน่ำซ้อง

๑๒ ราชวงศ์ซุย
พระเจ้าอ๋องบุนเต้ปฐมกษัตริย์สืบราชวงศ์ถึงพระเจ้าเกงเต้รวม ๓ องค์ จำนวนรัชกาล ๓๐ ปี ตั้งแต่ พ.ศ. ๑๑๓๒ ถึง ๑๑๖๑ เรื่องส้วยถัง เรื่องซุยถัง

๑๓ ราชวงศ์ถัง
พระเจ้าถังตี้ปฐมกษัตริย์สืบราชวงศ์ถึงพระเจ้าถังเจียงจงรวม ๒๐ องค์ จำนวนรัชกาล ๒๙๐ ปี ตั้งแต่ พ.ศ. ๑๑๖๑ ถึง ๑๔๕๐ เรื่องซุยถังตอนปลาย เรื่องเสาปัก เรื่องซิยินกุ้ย เรื่องซิเตงซัน เรื่องไซอิ๋ว เรื่องบูเซ็กเทียน

๑๔ ราชวงศ์เหลียง
พระเจ้าเหลียงไทโจ๊ปฐมกษัตริย์สืบราชวงศ์ถึงพระเจ้ามะเต้รวม ๒ องค์ จำนวนรัชกาล ๑๗ ปี ตั้งแต่ พ.ศ. ๑๔๕๐ ถึง ๑๔๖๖ เรื่องหงอโต้ว

๑๕ ราชวงศ์ถัง
พระเจ้าจังจงฮองเต้ปฐมกษัตริย์สืบราชวงศ์ถึงพระเจ้าฮุยเต้รวม ๔ องค์ จำนวนรัชกาล ๑๓ ปี ตั้งแต่ พ.ศ. ๑๔๖๖ ถึง ๑๔๗๘ เรื่องหงอโต้ว

๑๖ ราชวงศ์จิ้น
พระเจ้าเกาโจ๊ฮองเต้ปฐมกษัตริย์สืบราชวงศ์ถึงพระเจ้าชุดเต้รวม ๒ องค์ จำนวนรัชกาล ๑๒ ปี ตั้งแต่ พ.ศ. ๑๔๗๙ ถึง ๑๔๙๐ เรื่องหงอโต้ว

๑๗ ราชวงศ์ฮั่น
พระเจ้าเคียนอิ้วปฐมกษัตริย์สืบราชวงศ์ถึงพระเจ้าอึนเต้รวม ๒ องค์ จำนวนรัชกาล ๕ ปี ตั้งแต่ พ.ศ. ๑๔๙๐ ถึง ๑๔๙๔ เรื่องหงอโต้ว

๑๘ ราชวงศ์จิว
พระเจ้าไทโจ๊วเกาเต้ปฐมกษัตริย์สืบราชวงศ์ถึงพระเจ้าตรองเต้รวม ๓ องค์ จำนวนรัชกาล ๑๐ ปี ตั้งแต่ พ.ศ. ๑๔๙๔ ถึง ๑๕๐๓ เรื่องหงอโต้ว

๑๙ ราชวงศ์ซ้อง
พระเจ้าไทโจ๊วฮองเต๊ปฐมกษัตริย์สืบราชวงศ์ถึงพระเจ้าซองกงจงฮองเต้ รวม ๑๖ องค์ จำนวนรัชกาล ๓๑๗ ปี ตั้งแต่ พ.ศ. ๑๕๐๓ ถึง ๑๘๑๙ เรื่องน่ำปักซ้อง เรื่องบ้วนฮวยเหลา เรื่องโหงวโฮ้วเพงไซ เพงหนำ, เพงปัก, เรื่องซวยงัก เรื่องซ้องกั๋ง เรื่องเปาเล่งถูกงอั้น

๒๐ ราชวงศ์หงวน
พระเจ้าจ่วนสีโจ๊ฮองเต้ปฐมกษัตริย์สืบราชวงศ์ถึงพระเจ้าง่วนซุนเต้รวม ๘ องค์ จำนวนรัชกาล ๙๒ ปี ตั้งแต่ พ.ศ. ๑๘๒๐ ถึง ๑๙๑๑ เรื่องง่วนเฉียว

๒๑ ราชวงศ์เหม็ง
พระเจ้าฮ่องบู๊ปฐมกษัตริย์สืบราชวงศ์ถึงพระเจ้าชงเจงรวม ๑๖ องค์ จำนวนรัชกาล ๒๗๖ ปี ตั้งแต่ พ.ศ. ๑๙๑๑ ถึง ๒๑๘๖ เรื่องเม่งเฉียว เรื่องเองเลียดต้วน เรื่องเองเต๊กอิ้วกังหนำ เรื่องไต้อั้งเผ่า เรื่องเซียวอั้งเผ่า เรื่องเนียหนำอิดซือ

๒๒ ราชวงศเชง
พระเจ้าไทโจเกาฮ่องเต้ปฐมกษัตริย์ สืบราชวงศถึงพระเจ้าซุงทุงรวม ๑๐ องค์ จำนวนรัชกาล ๓๑๗ ปี ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๑๘๗ ถึง ๒๔๕๔ เรื่องเม่งมวดเชงฌ้อ เรื่องเชงเฉียว


เรื่องพงศาวดารจีนที่ได้แปลเปนภาษาไทยนั้น ไม่ใช่แต่แปลเปนหนังสืออ่านอย่างเดียว บางเรื่องถึงมีผู้เอาไปแต่เปนกลอนแลเปนบทละคอน ได้ลองสำรวจดูที่มีฉะบับอยู่ในหอพระสมุดสำหรับพระนครขณะเมื่อแต่งตำนานนี้ มีทั้งที่พิมพ์แล้วแลยังไม่ได้พิมพ์หลายเรื่องหลายตอน คือ

บทละคอนรำ

(สำหรับเล่นละคอนนอกอย่างเก่า)
๑ เรื่องห้องสิน ตอนพระเจ้าติวอ๋องไปไหว้เทพารักษ์ที่เขาอิสาน จนถึงพระเจ้าบู๊อ๋องตีได้เมืองอิวโก๋ หลวงพัฒนพงศภักดี (ทิม สุขยางค์) แต่งให้เจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรงเล่นละคอน เปนหนังสือ ๔ เล่มสมุดไทย ยังไม่ได้พิมพ์

๒ เรื่องใต้ฮั่น ตอนพระเจ้าบูฮ่องเต้ให้นางเต๊กเอี๋ยงกงจู๊เลือกคู่ จนถึงเตียวเห่าไปล่าเนื้อในป่า หลวงพัฒนพงศ ฯ แต่ให้เจ้าพระยามหินทร์ ฯ เล่นละคอน เปนหนังสือ ๒ เล่มสมุดไทย ยังไม่ได้พิมพ์

๓ เรื่องสามก๊ก (ก) ตอนพระเจ้าเลนเต้ประพาสสวน จนถึงตั๋งโต๊ะเข้าไปขู่พระเจ้าเหี้ยนเต้ หลวงพัฒนพงศ ฯ แต่ให้เจ้าพระยามหินทร์ ฯ เล่นละคอน เปนหนังสือ ๑๖ เล่มสมุดไทย ยังไม่ได้พิมพ์

(ข) ตอนอ่องอุ้นกำจัดตั๋งโต๊ะ หลวงพัฒนพงศ ฯ แต่งให้เจ้าพระยามหินทร์ ฯ เล่นละคอน เปนหนังสือ ๒ เล่มสมุดไทย ยังไม่ได้พิมพ์

(ค) ตอนจิวยี่คิดอุบายจะเอาเมืองเกงจิ๋ว หลวงพัฒนพงศ ฯ แต่งให้เจ้าพระยามหินทร์ ฯ เล่นละคอน เปนหนังสือ ๒ เล่มสมุดไทย ยังไม่ได้พิมพ์

(ฆ) ตอนจิวยี่คิดอุบายจะเอาเมืองเกงจิ๋ว หมื่นเสนานุชิต (เจต) แต่งลงพิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๖

(ง) ตอนจิวยี่รากเลือด หลวงพัฒนพงศ ฯ แต่งให้เจ้าพระยามหินทร์ ฯ เล่นละคอน เปนหนังสือสมุดไทย ๑ ยังไม่ได้พิมพ์

(จ) ตอนนางซุนฮูหยิน หนีกลับไปเมืองกังตั๋ง หลวงพัฒนพงศ ฯ แต่งให้เจ้าพระยามหินทร์ ฯ เล่นละคอน เปนหนังสือเล่มสมุดไทย ๑ ยังไม่ได้พิมพ์

๔ เรื่องซุยถัง ตอนเซงจือเกณฑ์ทัพ จนถึงนางย่งอั่นกงจู๊จับนางปักลันกับทิก๊กเอี๋ยนได้ หลวงพัฒนพงศ ฯ แต่งให้เจ้าพระยามหินทร์ ฯ เล่นละคอน เปนหนังสือเล่มสมุดไทย ๑ ยังไม่ได้พิมพ์

๕ เรื่องหงอโต้ ตอนฮองเฉาสามิภักดิ์ต่อพระเจ้ากวางเผ็ง หลวงพัฒนพงศ ฯ แต่งให้เจ้าพระยามหินทร์ ฯ เล่นละคอน เปนหนังสือเล่มสมุดไทย ๑ ยังไม่ได้พิมพ์

๖ เรื่องบ้วนฮวยเหลา ตอนพวกฮวนตีด่านเมืองหลวง จนถึงนางโปยเหลงจะทำร้ายเพ็งไซอ๋อง หลวงพัฒนพงศ ฯ แต่งให้เจ้าพระยามหินทร์ ฯ เล่นละคอน เปนหนังสือ ๖ เล่มสมุดไทย ยังไม่ได้พิมพ์

๗ เรื่องซวยงัก ตอนกิมงิดตุดตีเมืองลูอันจิ๋ว กรมพระราชวังบวรวิชัยชาญทรงพระนิพนธ์ (สันนิษฐานว่าเพื่อให้เจ้าคุณจอมมารดาเอมเล่นละคอน) พิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๒

บทละคอนร้อง

(เล่นบนเวฑีอย่างละคอนปราโมไทย)

๑ เรื่องสามก๊ก (ก) ตอนนางเตียวเสี้ยนลวงตั๋งโต๊ะ ผู้แต่งใช้นามปากกาว่า “นายบุญสอาด” พิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๘

(ข) ตอนตั๋งโต๊ะหลงนางเตียวเสี้ยน ผู้แต่งใช้นามว่า “เหม็งกุ่ยปุ้น” พิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๘

(ค) ตอนเล่าปี่แต่งงาน จนจิวยี่รากเลือด ผู้แต่งใช้นามปากกาว่า “ทิดโข่ง” พิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๑

กลอนสุภาพ

(แต่งตามแบบสุนทรภู่)

๑ เรื่องห้องสิน ขุนเสนานุชิต (เจต) แต่งค้างอยู่ เปนหนังสือ ๓ เล่มสมุดไทย

๒ เรื่องสามก๊ก ตอนนางเตียวเสี้ยนลวงตั๋งโต๊ะ หลวงธรรมาภิมณฑ์ (ถึก จิตรกถึก) แต่ง พิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๙

(๑) เชื่อว่าจะได้แปลเปนภาษาอื่นซึ่งยังสืบไม่ได้ความมีอยู่อีก เช่นภาษามงโกเลเปนต้น

(๒) พวกเกาหลีกับพวกญวนใช้หนังสือจีนเปนหนังสือสำหรับบ้านเมืองอยู่แล้ว บางทีจะใช้หนังสือสามก๊กที่จีนพิมพ์อยู่ก่อน พิมพ์เองต่อชั้นหลัง ที่แปลเปนภาษาเขมรนั้น เข้าใจว่าแปลจากฉะบับพิมพ์ภาษาไทยที่ได้ไปจากกรุงเทพ ฯ ที่แปลเปนภาษามะลายูพิมพ์ที่เมืองสิงคโปร์ แต่จะได้ฉะบับมาแต่ไหนและแปลเมื่อใดหาทราบไม่

(๓) หนังสือสามก๊กที่แปลเปนภาษาละตินนั้น บาดหลวงโรมันคัทธอลิคคน ๑ ซึ่งได้มียศเปนบิฉอบอยู่ในเมืองจีนเปนผู้แปล ที่แปลเปนภาษาอังกฤษนั้น เคยแปลช้านานแล้ว แต่ว่าแปลเพียงบางตอน มิสเตอรบริเวตเตเลอพึ่งแปลตลอดทั้งเรื่องแล้วพิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๙ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิตเสด็จไปได้มาจากเมืองสิงคโปร์ ประทานแก่หอพระสมุดสำหรับพระนคร

(๔) กรมพระราชวังหลังทิวงคตเมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๙ เจ้าพระยาพระคลัง (หน) ถึงอสัญกรรมเมื่อ พ.ศ. ๒๓๔๘

(๕) กรมพระราชวังหลังทิวงคตเมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๙ เจ้าพระยาพระคลัง (หน) ถึงอสัญกรรมเมื่อ พ.ศ. ๒๓๔๘

(๖) พระยาโชฎึก (ฟัก) เคยเปนหลวงพิพิธภัณฑพิจารณ์ แลเปนผู้ชำนาญหนังสือจีน บางทีจะเปนผู้แปลเรื่องไคเภ็ก

(๗) ยังมีหนังสือพิมพ์เรื่องจีนซึ่งมีผู้แปลเปนภาษาไทยลงพิมพ์อีกหลายเรื่อง แต่เปนเรื่องเบ็ดเตล็ดชั่วแต่อ้างพงศาวดาร มิใช่เอาเรื่องพงศาวดารจีนมาแต่งอย่างทำนองเรื่องสามก๊ก จึงมิได้กล่าวถึง

๓ ว่าด้วยสำนวนแปลหนังสือสามก๊ก

ลักษณการแปลหนังสือจีนเปนภาษาไทยแต่โบราณ (หรือแม้จนชั้นหลังมา) อยู่ข้างลำบาก ด้วยผู้รู้หนังสือจีนไม่มีใครชำนาญภาษาไทย ผู้ชำนาญภาษาไทยก็ไม่มีใครรู้หนังสือจีน การแปลจึงต้องมีพนักงานเปนสองฝ่ายช่วยกันทำ ฝ่ายผู้ชำนาญหนังสือจีนแปลความออกให้เสมียนจดลง แล้วผู้ชำนาญภาษาไทยเอาความนั้นเรียบเรียงแต่งเปนภาษาไทยให้ถ้อยคำแลสำนวนความเรียบร้อยอีกชั้นหนึ่ง เพราะฉะนั้นจึงต้องมีผู้ซึ่งทรงความสามารถ เช่นกรมพระราชวังหลังแลเจ้าพระยาพระคลัง (หน) เปนต้น จนเมื่อชั้นหลังสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ เปนผู้อำนวยการแปล ท่านผู้อำนวยการบางทีจะไม่ได้เปนผู้แต่งภาษาไทยเองทุกเรื่อง แต่เห็นจะต้องสันนิษฐานทักท้วงแก้ไขทั้งข้อความแลถ้อยคำที่แปลมากอยู่ ข้อนี้พึงสังเกตได้ในบรรดาหนังสือเรื่องพงศาวดารจีนที่แปลนั้น ถ้าเปนเรื่องที่ผู้มีบันดาศักดิ์สูงอำนวยการแปล สำนวนมักดีกว่าเรื่องที่บุคคลสามัญแปล แต่สำนวนแปลคงจะไม่สู้ตรงกับสำนวนที่แต่งไว้ในภาษาจีนแต่เดิม เพราะผู้แปลมิได้รู้สันทัดทั้งภาษาจีนแลภาษาไทยรวมอยู่ในคนเดียว เหมือนเช่นแปลหนังสือฝรั่งกันทุกวันนี้

ในบรรดาหนังสือเรื่องพงศาวดารจีนที่ได้แปลเปนภาษาไทย นับถือกันว่าสำนวนหนังสือสามก๊กดีกว่าเรื่องอื่น ด้วยใช้ถ้อยคำแลเรียงความเรียบร้อยสม่ำเสมออ่านเข้าใจง่าย ถึงมีผู้ชอบยกเอาประโยคในหนังสือสามก๊กไปพูดเล่นเปนภาสิตในเมื่อจะกล่าวถึงสำนวนหนังสือเรื่องอื่นซึ่งไม่ยักเยื้อง มักกล่าวว่าเปนสำนวนอย่าง “สามเพลงตกม้าตาย” หรือ “ได้ฟังดังนั้นก็โกรธ” ดังนี้ แต่มิใช่ติเตียนสำนวนหนังสือสามก๊ก ยอมว่าเปนสำนวนดีด้วยกันทั้งนั้น จึงได้ใช้หนังสือสามก๊กเปนแบบสำหรับหัดเรียงความในโรงเรียน แต่เมื่อข้าพเจ้าอ่านหนังสือสามก๊กคราวหลัง มาสังเกตเห็นขึ้นใหม่อย่างหนึ่งซึ่งมิได้เคยรู้มาแต่ก่อน ว่าหนังสือสามก๊กนั้นสำนวนที่แต่งคำแปลเปนสองสำนวน สำนวนหนึ่งแต่งตั้งแต่ต้นไปจนในสมุดพิมพ์เล่มที่ ๓ ตามฉะบับเดิม หรือที่เปลี่ยนแปนตอนที่ ๕๕ ในฉะบับพิมพ์ใหม่นี้ แต่นั้นไปจนหมดเรื่องเปนอีกสำนวนหนึ่งต่างหาก แต่งก็ไม่เลวแต่ไม่ดีเหมือนสำนวนที่แต่งตอนต้น(๑) ซึ่งหนังสือสามก๊กเปนสองสำนวนดังกล่าวนี้ น่าสันนิษฐานว่าจะเปนเพราะเจ้าพระยาพระคลัง (หน) อำนวยการแปลอยู่ไม่ทันตลอดเรื่อง ถึงอสัญกรรมเสีย (เมื่อ พ.ศ. ๒๓๔๘) มีผู้อื่นอำนวยการแปลต่อมา สำนวนจึงผิดกันไป

อนึ่งการแปลภาษาจีนเปนภาษาไทยผิดกับแปลภาษาอื่นอีกอย่างหนึ่ง ด้วยจีนต่างเหล่าอ่านหนังสือจีนสำเนียงผิดกัน เช่นหนังสือเรื่องสามก๊กนี้ จีนต่างเหล่าต่างเรียกชื่อเมืองและชื่อบุคคลผิดกัน ดังจะแสดงพอให้เห็นเปนตัวอย่างต่อไปนี้

ราชอาณาเขตต์ของพระเจ้าโจผี คำหลวง (คือจีนเมืองหลวงเดิม)(๒) เรียกว่า ไวโกวะ จีนฮกเกี้ยนเรียกว่า วุยก๊ก จีนแต้จิ๋วเรียกว่า งุ่ยก๊ก จีนกวางตุ้งเรียกว่า ง่ายโกะ จีนไหหลำเรียกว่าหงุ่ยก๊ก

ราชอาณาเขตต์ของพระเจ้าเล่าปี่ คำหลวงเรียกว่า จ๊กโกวะ จีนฮกเกี้ยนเรียกว่า จ๊กก๊ก จีนแต้จิ๋วเรียกว่า จ๊วกก๊ก จีนกวางตุ้งเรียกว่า ซกโกะ จีนไหหลำเรียกว่า ต๊กก๊ก

ราชอาณาเขตต์ของพระเจ้าซุนกวน คำหลวงเรียกว่า อู๋โกวะ จีนฮกเกี้ยนเรียกว่า ง่อก๊ก จีนแต้จิ๋วเรียกว่า โหง็วก๊ก จีนกวางตุ้งเรียกว่า อื้อโกะ จีนไหหลำเรียกว่า โง่วก๊ก

เล่าปี่ คำหลวงเรียกว่า ลิ่วปิ๋ จีนฮกเกี้ยนเรียกว่า เล่าปี่ จีนแต้จิ๋วเรียกว่า เล่าปี๋ จีนกวางตุ้งเรียกว่า เหล่าปี๊ จีนไหหลำเรียกว่า ลิ่วปี่

โจโฉ คำหลวงเรียกว่า เฉาเช่า จีนฮกเกี้ยนเรียกว่า โจโฉ จีนแต้จิ๋วเรียกว่า เช่าเฉา จีนกวางตุ้งเรียกว่า โช่วเชา จีนไหหลำเรียกว่า เซาเซ่า

ซุนกวน คำหลวงเรียกว่า ซุนขยง จีนฮกเกี้ยนเรียกว่า ซุ่นกวน จีนแต้จิ๋วเรียกว่า ซึงขวน จีนกวางตุ้งเรียกว่า ซุนคิ่น จีนไหหลำเรียกว่า ตุนเขียน

ขงเบ้ง คำหลวงเรียกว่า ข้งหมึง จีนฮกเกี้ยนเรียกว่า ขงเบ้ง จีนแต้จิ๋วเรียกว่า ขงเหมง จีนกวางตุ้งเรียกว่า หงเม่ง จีนไหหลำเรียกว่า ขงเหม่ง

สุมาอี้ คำหลวงเรียกว่า ซือม้าอี๋ จีนฮกเกี้ยนเรียกว่า สุมาอี้ จีนแต้จิ๋วเรียกว่า ซือเบอี๋ จีนกวางตุ้งเรียกว่า สือหม่าอี้ จีนไหหลำเรียกว่า ซีมาอี๋

จิวยี่ คำหลวงเรียกว่า เจี่ยวหยี่ จีนฮกเกี้ยนเรียกว่า จิวยี่ จีนแต้จิ๋วเรียกว่า จิวหยู จีนกวางตุ้งเรียกว่า จาวหยี่ จีนไหหลำเรียกว่า จิวยี่

กวนอู คำหลวงเรียกว่า กวานอี้ จีนฮกเกี้ยนเรียกว่า กวนอู จีนแต้จิ๋วเรียกว่า กวนอู๊ จีนกวางตุ้งเรียกว่า กวานยี่ จีนไหหลำเรียกว่า กวนยี่

เตียวหุย คำหลวงเรียกว่า เจียงฟุย จีนฮกเกี้ยนเรียกว่า เตียวหุย จีนแต้จิ๋วเรียกว่า เตียฮุย จีนกวางตุ้งเรียกว่า จงฟุย หรือ จางฟุย จีนไหหลำเรียกว่า เจียงฮุย ดังนี้

หนังสือเรื่องจีนที่แปลเปนภาษาไทย บางเรื่องเรียกชื่อตามสำเนียงฮกเกี้ยน บางเรื่องเรียกตามสำเนียงแต้จิ๋ว เพราะจีนในประเทศสยามนี้มีจีนเหล่าฮกเกี้ยนกับเหล่าแต้จิ๋วมากกว่าเหล่าอื่น ผู้แปลเปนจีนเหล่าไหนอ่านหนังสือสำเนียงเปนอย่างใดไทยเราก็จดลงอย่างนั้น หนังสือสามก๊กที่แปลเปนไทยเรียกชื่อต่างๆ ตามสำเนียงจีนฮกเกี้ยน เมื่อเทียบกับหนังสือสามก๊กที่แปลเปนภาษาอื่นชื่อที่เรียกจึงผิดเพี้ยนกัน เพราะเขาเรียกตามสำเนียงจีนเหล่าอื่น มักทำให้เกิดฉงนด้วยเหตุนี้

(๑) ข้าพเจ้าได้ชวนพระยาพจนปรีชาให้ช่วยพิเคราะห์อีกคนหนึ่ง ก็เห็นว่าเปนสองสำนวนเช่นเดียวกันกับข้าพเจ้า

(๒) เมืองหลวงเดิมอยู่แถวเมืองน้ำกิ่ง เมืองปักกิ่งเปนเมืองหลวงชั้นหลัง สำเนียงชาวปักกิ่งเพี้ยนไปอีกอย่างหนึ่ง

๔ ว่าด้วยพิมพ์หนังสือสามก๊กภาษาไทย

หนังสือไทยแม้พิมพ์ได้ตั้งแต่รัชกาลที่ ๓ ก็ดี มาใช้การพิมพ์แพร่หลายต่อเมื่อในรัชกาลที่ ๔ ก็ในสมัยเมื่อก่อนพิมพ์หนังสือไทยได้นั้น หนังสือที่แปลจากเรื่องพงศาวดารจีนมีแต่ ๕ เรื่อง คือเรื่องห้องสิน เรื่องเลียดก๊ก เรื่องไซฮั่น เรื่องตั้งฮั่น กับเรื่องสามก๊ก แต่คนทั้งหลายชอบเรื่องสามก๊กยิ่งกว่าเรื่องอื่น ผู้มีบันดาศักดิ์ซึ่งสะสมหนังสือก็มักคัดลอกเรื่องสามก๊กไว้ในห้องสมุดของตน ด้วยเหตุนี้หนังสือเรื่องสามก๊กจึงมีฉะบับมากกว่าเพื่อน(๑) ครั้นถึงรัชกาลที่ ๔ หมอบรัดเลมิชชันนารีอเมริกันย้ายโรงพิมพ์มาตั้งที่ปากคลองบางกอกใหญ่ เริ่มพิมพ์หนังสือไทยเรื่องต่างๆ ขาย ได้ต้นฉะบับหนังสือเรื่องสามก๊กของผู้อื่นมา ๒ ฉะบับ แล้วไปยืมต้นฉะบับของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ เมื่อยังเปนเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ ที่สมุหพระกลาโหมมาสอบกันเปน ๓ ฉะบับ พิมพ์หนังสือสามก๊กขึ้นเปนสมุดพิมพ์ ๔ เล่มตลอดเรื่อง สำเร็จเมื่อปีฉลู พ.ศ. ๒๔๐๘ ขายราคาฉะบับละ ๒๐ บาท พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงรับซื้อช่วยหมอบรัดเลเห็นจะราวสัก ๕๐ ฉะบับ พระราชทานพระราชโอรสธิดาพระองค์ละฉะบับทั่วกัน(๒) เหลือนั้นก็เห็นจะพระราชทานผู้อื่นต่อไป การที่หมอบรัดเลพิมพ์หนังสือสามก๊กขึ้นครั้งแรกนั้น เมื่อมาพิจารณาดูเห็นควรนับว่าเปนการสำคัญในทางพงศาวดารอย่างหนึ่ง ด้วยเรื่องสามก๊กเปนเรื่องที่ไทยชอบอยู่แล้ว บุคคลชั้นสูงได้เคยอ่านหนังสือก็มี แลบุคคลชั้นต่ำได้เคยดูงิ้วเล่นก็มาก ครั้นเกิดมีหนังสือสามก๊กฉะบับพิมพ์อันจะพึงซื้อหาหรือหยิบยืมกันอ่านได้ง่าย ก็ทำให้มีผู้ชอบอ่านหนังสือมากขึ้น เลยเปนปัจจัยต่อออกไปถึงให้มีผู้พิมพ์หนังสือขายมากขึ้น แลให้ผู้มีศักดิ์ เช่นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศเปนต้น เอาเปนธุระสร้างหนังสือสำหรับให้พิมพ์มากขึ้น ที่ชอบแปลแต่เรื่องจีนเปนพื้นนั้นก็ไม่ประปลาดอันใด ด้วยในสมัยนั้นผู้รู้ภาษาฝรั่งยังมีน้อยนัก ถึงเรื่องจีนก็ทำให้เกิดปัญญาความรู้เจริญแพร่หลายยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน จึงควรยกย่องหนังสือสามก๊กว่าได้ทำให้เกิดประโยชน์เกื้อกูลการศึกษาในประเทศนี้ด้วยอีกสถานหนึ่ง

หนังสือไทยที่ตีพิมพ์จับแพร่หลายเมื่อตอนปลายรัชกาลที่ ๔ พอถึงรัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดบำรุงการศึกษาทรงอุดหนุนซ้ำ การพิมพ์หนังสือไทยก็ยิ่งเจริญขึ้นโดยรวดเร็ว ก็ในสมัยเมื่อแรกขึ้นรัชกาลที่ ๕ นั้น มีโรงพิมพ์อันนับว่าเปนโรงใหญ่อยู่ ๓ โรง คือโรงพิมพ์หลวงตั้งอยู่ที่ในพระบรมมหาราชวัง (ตรงบริเวณสวนศิวาลัยบัดนี้) กรมหลวงบดินทรไพศาลโสภณ เมื่อยังดำรงพระยศเปนกรมหมื่นอักษรสาสนโสภณ เปนตำแหน่งจางวางกรมพระอาลักษณได้ทรงบัญชาการโรง ๑ โรงพิมพ์ของหมอบรัดเลมิชชันนารีอเมริกัน ตั้งอยู่ที่ริมปากคลองบางกอกใหญ่โรง ๑ โรงพิมพ์ของหมอสมิธมิชชันนารีชาติอังกฤษ ตั้งขึ้นที่บางคอแหลมโรง ๑ โรงพิมพ์หลวงนั้น เมื่อชั้นแรกในรัชกาลที่ ๕ ก็พิมพ์หนังสือเรื่องพงศาวดารจีนจำหน่ายหลายเรื่อง ดังปรากฎอยู่ในบัญชีหนังสือเรื่องจีนซึ่งได้แสดงมาแล้ว แต่ต่อมาเมื่อต้องพิมพ์หนังสือแบบเรียนสำหรับโรงเรียนหลวง แล้วต้องพิมพ์หนังสือราชกิจจานุเบกษาก็ต้องงดพิมพ์หนังสืออื่น คงพิมพ์หนังสือเรื่องต่าง ๆ ขายแต่โรงพิมพ์หมอบรัดเลกับโรงพิมพ์หมอสมิธ ต่างไปขอต้นฉะบับที่สมเด็จเจ้าพระยาฯ ท่านจึงไกล่เกลี่ยให้หมอบรัดเลเอาแต่หนังสือจำพวกความร้อยแก้ว เช่นเรื่องพงศาวดารจีนไปพิมพ์ ส่วนหมอสมิธให้พิมพ์หนังสือจำพวกบทกลอน(๓) ต่างคนต่างพิมพ์มาเช่นนั้นหลายปี ทีหลังเกิดมีฝรั่งฟ้องหมอสมิธในศาลกงสุลอังกฤษ ว่าพิมพ์หนังสือไม่เปนศีลเปนธรรมจำหน่ายหาประโยชน์ โจทย์อ้างพวกมิชชันนารีอเมริกันที่รู้ภาษาไทยเปนพยาน แลขอให้เปนผู้แปลหนังสือบทกลอนที่หมอสมิธพิมพ์บางแห่ง เช่นบทเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนตอนที่อยู่ข้างหยาบ และบทละคอนตอนเข้าห้องสังวาส เปนภาษาอังกฤษพิสูจน์ในศาล ๆ ตัดสินให้หมอสมิธแพ้ ห้ามมิให้พิมพ์หนังสืออย่างนั้นจำหน่ายอีกต่อไป หมอสมิธก็ต้องเลิกพิมพ์หนังสือบทกลอน แต่เมื่อถูกห้ามนั้นหมอสมิธรวยเสียแล้ว ในว่าแต่หนังสือพระอภัยมณีของสุนทรภู่เรื่องเดียวพิมพ์ขายได้กำไรงามจนพอสร้างตึกได้หลังหนึ่ง หมอสมิธก็ไม่เดือดร้อน ส่วนหมอบรัดเลนั้นตัวเองอยู่มาในรัชกาลที่ ๕ เพียง พ.ศ. ๒๔๑๗ ก็ถึงแก่กรรม แต่บุตรภรรยายังทำการโรงพิมพ์ต่อมา พิมพ์หนังสือจำพวกความร้อยแก้วขายก็ได้กำไรมาก ครั้นนานมาไม่มีตัวผู้ที่จะจัดการก็ต้องเลิกโรงพิมพ์ การพิมพ์หนังสือขายจึงกระจายไปตามโรงพิมพ์อื่นๆ ซึ่งตั้งขึ้นใหม่(๔)

การพิมพ์หนังสือเรื่องสามก๊กโรงพิมพ์หมอบรัดเลได้พิมพ์ ๓ ครั้ง แล้วโรงพิมพ์อื่นพิมพ์ต่อมาอีก ๓ ครั้ง รวมเบ็ดเสร็จได้พิมพ์ถึง ๖ ครั้งด้วยกัน แต่การที่พิมพ์ต่อๆ กันมาเปนแต่อาศัยฉะบับที่พิมพ์ก่อนเปนต้นฉะบับ ไม่ได้ตรวจชำระเหมือนอย่างเมื่อหมอบรัดเลพิมพ์ครั้งแรก แลบางฉะบับซ้ำมีผู้แก้ไขเพิ่มเติมถ้อยคำลงตามอำเภอใจ หนังสือสามก๊กที่มีจำหน่ายอยู่ในท้องตลาดสมัยนี้จึงวิปลาสคลาดเคลื่อนจากฉะบับเดิมด้วยประการฉะนี้

(๑) หอพระสมุดวชิรญานได้ไว้ก็หลายฉะบับ มีทั้งฉะบับที่เขียนด้วยเส้นหรดาน เขียนด้วยเส้นฝุ่น แลเขียนด้วยเส้นดินสอ

(๒) เมื่อข้าพเจ้าได้พระราชทานหนังสือสามก๊กเปนเวลาพึ่งอ่านหนังสือออก ยังจำได้ว่าอ่านสนุกมาก แต่สนุกประสาเด็ก ไม่เข้าใจความเท่าใดนัก

(๓) มีหนังสือสามก๊กหมอสมิธพิมพ์ยังปรากฎอยู่ แต่ว่ามีฉะเพาะเล่มที่ ๑ เล่มเดียว ข้อนี้เปนเค้าเงื่อนให้สันนิษฐานว่า ชรอยหมอสมิธเห็นคนชอบซื้อหนังสือสามก๊กก็พิมพ์ขายบ้าง คงเกิดเกี่ยงแย่งกับหมอบรัดเล สมเด็จเจ้าพระยา ฯ จึงไกล่เกลี่ยให้พิมพ์หนังสือคนละประเภทดังกล่าว ทั้งสองฝ้ายก็จำยอม เพราะต้องอาศัยหนังสือของสมเด็จเจ้าพระยา ฯ เปนต้นฉะบับอยู่ด้วยกัน

(๔) ได้ยินว่าเมื่อหมอสมิธถูกศาลห้ามมิให้พิมพ์หนังสือบทกลอนขายนั้น บรรดาหนังสือซึ่งพิมพ์ไว้แล้ว แลกำลังพิมพ์ค้างอยู่ นายเทพ ทรรทรานนท์ อยู่แพที่หน้าโรงเรียนราชินีเดี๋ยวนี้ รับซื้อจากหมอสมิธเอามาพิมพ์จำหน่ายที่โรงพิมพ์ของตน แล้วโรงพิมพ์อื่นจึงพิมพ์จำหน่ายบ้าง ส่วนโรงพิมพ์หมอบรัดเลนั้น หลวงดำรงธรรมสาร (มี ธรรมาชีวะ) เจ้าของโรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจรับซื้อหนังสือค้างมาพิมพ์จำหน่าย แล้วโรงพิมพ์อื่นจึงพิมพ์จำหน่ายบ้าง

๕ ว่าด้วยรูปเรื่องสามก๊ก

ข้าพเจ้าผู้แต่งตำนานนี้ได้เคยอ่านหนังสือสามก๊กหลายครั้ง แต่อ่านครั้งก่อนๆ ประสงค์เพียงจะรู้เรื่องเปนสำคัญ ต่อมาอ่านเมื่อจะแต่งตำนานนี้ จึงได้ตั้งใจพิจารณาเหตุการณ์ในเรื่องสามก๊ก รู้สึกว่าตามที่เคยสำเหนียกมาแต่ก่อนเปนความเข้าใจผิดอยู่หลายอย่าง บางทีผู้อื่นซึ่งเข้าใจผิดเช่นเดียวกับข้าพเจ้า หรือที่ยังไม่เข้าใจรูปเรื่องสามก๊กก็จะมีอยู่ไม่น้อย เพราะฉะนั้นข้าพเจ้าจะลองบอกอธิบายรูปเรื่องสามก๊กไว้ในตำนานนี้ พอให้ผู้อ่านหนังสือสามก๊กที่แปลเปนภาษาไทยเข้าใจได้ง่ายขึ้น

ประเทศจีนเมื่อเริ่มเรื่องสามก๊กนั้น กษัตริย์ราชวงศ์ฮั่นเปนใหญ่ ตั้งราชธานีอยู่ณเมืองลกเอี๋ยง ได้ครอบครองแผ่นดินจีนทั่วทั้งประเทศ แลลักษณการปกครองบ้านเมืองนั้น รัฐบาลกลางบังคับบัญชาการทุกอย่างอยู่เพียงในมณฑลราชธานี นอกนั้นออกไปเปนหัวเมือง อำนาจการปกครองทั้งฝ่ายทหารแลพลเรือนเปนสิทธิขาดอยู่กับผู้เปนเจ้าเมือง(๑) เปนแต่ฟังบังคับบัญชารัฐบาลกลางที่ราชธานี เวลามีศึกสงครามที่ใดก็เกณฑ์ให้เจ้าเมืองคุมกำลังเมืองของตนไปรบพุ่ง หรือถ้าเจ้าเมืองไหนกำเริบเปนกบฎ ก็มีท้องตราสั่งให้เจ้าเมืองอื่นยกกำลังไปปราบปราม หรือบางทีเกิดจลาจลขึ้นในเมืองหลวง ให้พวกเจ้าเมืองขึ้นเข้าไปช่วยปราบปรามก็มี พวกเจ้าเมืองขึ้นมีอำนาจเช่นนั้นก็มักถือเอาประโยชน์ตนเปนอันหนึ่งอันเดียวกันกับหน้าที่ในตำแหน่ง บางทีถึงเกิดรบพุ่งแย่งชิงประโยชน์กัน หรือบังอาจขัดแขงต่อรัฐบาลกลางเพื่อรักษาประโยชน์ของตน รัฐบาลกลางจำต้องมีไหวพริบคอยระวังมิให้พวกเจ้าเมืองขึ้นมีกำลังถึงอาจจะลเมิดหรือต่อสู้อำนาจรัฐบาลกลางได้ วิธีการปกครองอย่างว่ามานี้จำต้องมีพระเจ้าแผ่นดินซึ่งทรงอานุภาพมาก หรือมิฉะนั้นก็ต้องมีอัครมหาเสนาบดีอันมีความสามารถเปนที่นับถือยำเกรงของคนทั้งหลายทั่วไป การปกครองแผ่นดินจึงจะเรียบร้อย ถ้าขาดทั้ง ๒ อย่างบ้านเมืองก็มักเกิดจลาจล

หนังสือสามก๊กกล่าวความเริ่มเรื่องตั้งแต่พระเจ้าเลนเต้ได้รับรัชทายาทเมื่อ พ.ศ. ๗๑๑ เพราะปฐมเหตุที่ประเทศจีนจะแยกกันเปนสามก๊ก เกิดแต่พระเจ้าเลนเต้ปราศจากความสามารถ หลงเชื่อพวกขันทีในราชสำนัก พวกขันทีจึงกำเริบเอิบเอื้อมแสวงหาอำนาจในราชการบ้านเมืองด้วยอุบายต่างๆ ขุนนางผู้ใหญ่ในเมืองหลวงเวลานั้นก็ไม่มีคนสำคัญอันเปนที่นับถือยำเกรงของคนทั้งหลาย มีขุนนางบางคนที่ซื่อสัตย์คิดจะกำจัดพวกขันที ก็ติดด้วยพระเจ้าเลนเต้ป้องกันไว้ การปกครองแผ่นดินจึงวิปริตผันแปร แลเกิดโจรผู้ร้ายชุกชุมยิ่งขึ้นเปนอันดับมาจนพระเจ้าเลนเต้สิ้นพระชนม์ลง มีราชบุตร ๒ องค์ต่างชนนีกัน แลยังเปนเด็กอยู่ด้วยกัน ราชบุตรองค์ใหญ่ชื่อห้องจูเปียนได้รับรัชทายาท นางโฮเฮามะเหษีผู้เปนชนนีเปนผู้ว่าราชการแผ่นดิน ราชบุตรองค์น้อยนั้นชื่อห้องจูเหียบกำพร้าชนนี นางตังไทฮอผู้เปนอัยยิกาเลี้ยงมาแต่น้อย แลขวนขวายจะให้ได้ราชสมบัติแต่หาได้ไม่ นางทั้งสองจึงเปนอริแก่กัน เมื่อพระเจ้าเลนเต้สิ้นพระชนม์แล้ว โฮจิ้นพี่นางโฮเฮาได้เปนขุนนางผู้ใหญ่ให้ลอบฆ่านางตังไทฮอเสีย แล้วคิดจะกำจัดพวกขันทีต่อไป แต่นางโฮเฮาป้องกันพวกขันทีไว้เหมือนอย่างพระเจ้าเลนเต้ โฮจิ้นจะทำการเองไม่ถนัด จึงมีหนังสือไปถึงตั๋งโต๊ะเจ้าเมืองชีหลงให้ยกกองทัพเข้าไปปราบพวกขันที ก็ตั๋งโต๊ะนั้นวิสัยเปนคนพาลสันดานชั่ว เห็นได้ช่องจะเปนประโยชน์แก่ตนก็ยกกองทัพเข้าไปยังเมืองหลวง ครั้นพวกขันทีรู้ว่าโฮจิ้นคิดอ่านกับตั๋งโต๊ะจะกำจัดพวกของตน ก็ชิงทำกลอุบายลวงโฮจิ้นเข้าไปในวัง แล้วปิดประตูวังช่วยกันจับโฮจิ้นฆ่าเสีย ฝ่ายพรรคพวกโฮจิ้นพากันโกรธแค้น เอาไฟเผาวังพังประตูเข้าไปไล่จับพวกขันที ในเวลาจับกุมฆ่าฟันกันนั้น ไฟเลยไหม้ลุกลามเกิดอลหม่านทั้งพระราชวัง ถึงพระเจ้าแผ่นดินกับราชกุมารองค์น้อยต้องพากันหนีออกจากเมืองไปอาศัยอยู่ที่อื่น ฝ่ายตั๋งโต๊ะได้ช่องก็เข้าจัดการระงับจลาจลแล้วเลยกำจัดพระเจ้าแผ่นดินกับนางโฮเฮาชนนีเสีย ยกห้องจูเหียบราชกุมารองค์น้อยขึ้นเปนพระเจ้าแผ่นดิน ทรงนามว่าพระเจ้าเหี้ยนเต้ ตั๋งโต๊ะก็ได้เปนที่ “เซียงก๊ก” สำเร็จราชการแผ่นดิน(๒) เพราะเปนผู้ยกพระเจ้าเหี้ยนเต้ขึ้นทรงราชย์ แต่พอตั๋งโต๊ะได้เปนเซียงก๊กขึ้นก็ประพฤติพาลทุจริตต่าง ๆ พวกขุนนางในเมืองหลวงไม่มีใครสามารถจะกำจัดตั๋งโต๊ะได้ ก็พากันหลีกหนีไปอยู่ตามหัวเมืองเปนอันมาก(๓ ก็ในพวกที่หนีตั๋งโต๊ะไปนั้น คนหนึ่งชื่อโจโฉไปคิดอ่านชวนเจ้าเมืองขึ้นหลายเมืองให้ยกกองทัพเข้าไปปราบตั๋งโต๊ะ แต่การก็ไม่สำเร็จ เพราะพวกเจ้าเมืองเหล่านั้นต่างถือเปรียบเกี่ยงแย่งไม่เปนสามัคคีกัน มัวคิดหาอำนาจบ้างเกิดเปนอริต่อกันบ้าง การครั้งนี้เปนต้นเหตุอันหนึ่งซึ่งเจ้าเมืองต่าง ๆ เกิดรบพุ่งชิงอำนาจแลอาณาเขตต์กันต่อมาในเรื่องสามก๊ก

ส่วนตั๋งโต๊ะนั้น แม้พวกหัวเมืองไม่สามารถกำจัดได้ด้วยกำลังทหารก็ดี ต่อมาไม่ช้าอ่องอุ้นขุนนางในเมืองหลวงก็กำจัดได้ด้วยใช้กลสตรี แต่เมื่อกำจัดตั๋งโต๊ะได้แล้ว อ่องอุ้นไม่สามารถจะทำอย่างไรให้บ้านเมืองเรียบร้อยได้ แลพระเจ้าเหี้ยนเต้นั้นก็ซ้ำเปนกษัตริย์ปราศจากความสามารถอีกองค์หนึ่ง พรรคพวกของตั๋งโต๊ะมีลิฉุยกุยกีเปนหัวหน้า จึงอาจทำการแก้แค้นฆ่าอ่องอุ้นเสีย แล้วบังคับพระเจ้าเหี้ยนเต้ให้ตั้งพวกของตนเปนขุนนางผู้ใหญ่มีอำนาจในเมืองหลวงต่อมา แล้วทรยศต่อพระเจ้าเหี้ยนเต้ด้วยประการต่าง ๆ ที่สุดถึงพยายามจะกำจัดพระเจ้าเหี้ยนเต้ ๆ ต้องทิ้งเมืองหลวงหลบหนีมีความเดือดร้อนเปนสาหัส จึงมีรับสั่งให้หาโจโฉ ซึ่งได้เปนเจ้าเมืองตงกุ๋นอยู่ในเวลานั้นเข้าไปช่วย โจโฉเข้าไปปราบปรามพวกกบฎได้ราบคาบ ก็ได้เปนที่เซียงก๊กอยู่ในเมืองหลวงต่อมา แต่ในเวลานั้นหัวเมืองที่กระด้างกระเดื่องมาแต่ครั้งตั๋งโต๊ะแลครั้งลิฉุยกุยกียังมีมาก พวกผู้ดีที่หนีตั๋งโต๊ะไปจากเมืองหลวงในคราวเดียวกันกับโจโฉก็ได้ไปเปนเจ้าเมืองอยู่หลายคน เมื่อโจโฉได้เปนเซียงก๊กขึ้น ที่อ่อนน้อมต่อโจโฉก็มี ที่เฉยๆ อยู่คอยดูว่าโจโฉจะทำอย่างไรก็มี

โจโฉเปนคนฉลาดมีสติปัญญาสามารถผิดกับตั๋งโต๊ะ อาจปกครองบังคับบัญชาการบ้านเมืองแลทำนุบำรุงกำลังรี้พลให้มณฑลราชธานีมีอำนาจขึ้นกว่าแต่ก่อน แต่มักทำการตามอำเภอใจ ขุนนางที่มิใช่พรรคพวกของโจโฉจึงมักเกลียดชัง แต่ก็ไม่มีใครสามารถจะกำจัดได้ ด้วยคนทั้งหลายในราชธานีนิยมกันอยู่โดยมาก ว่าโจโฉทำการเพื่อรักษาราชอาณาจักรในเวลาเมื่อพระเจ้าแผ่นดินอ่อนแอ แต่โจโฉใช้อำนาจเพลินไปจนถึงทำให้พระเจ้าเหี้ยนเต้ได้ความคับแค้น ถึงเอาพระโลหิตเขียนเปนหนังสือลับร้องทุกข์ขอให้ผู้มีความจงรักภักดีช่วยกำจัดโจโฉ ความทราบไปถึงหัวเมือง พวกเจ้าเมืองที่มีกำลังแลมิได้เปนพรรคพวกของโจโฉ ก็ถือว่าโจโฉเปนศัตรูของพระเจ้าแผ่นดินเหมือนอย่างตั๋งโต๊ะ แล้วพากันกระด้างกระเดื่องขึ้น ฝ่ายโจโฉก็ถือว่าตัวเปนเซียงก๊ก มีหน้าที่จะต้องปราบปรามหัวเมืองที่กระด้างกระเดื่องเปนเสี้ยนหนามแผ่นดิน จึงเกิดรบกันขึ้น ทั้งสองฝ่ายประกาศอ้างเหตุใส่ความข้อเดียวกัน ฝ่ายโจโฉว่าพวกเจ้าเมืองเปนกบฎต่อพระเจ้าเหี้ยนเต้ ฝ่ายพวกเจ้าเมืองก็ว่าโจโฉเปนกบฎต่อพระเจ้าเหี้ยนเต้ในเวลากำลังรบพุ่งกันนั้น ต่างก็ถือว่าเปนข้าของพระเจ้าเหี้ยนเต้ด้วยกัน เวลาโจโฉมีท้องตราอ้างรับสั่งพระเจ้าเหี้ยนเต้ออกไปถึงหัวเมืองที่เปนข้าศึก หัวเมืองเหล่านั้นก็เคารพนบนอบต่อท้องตรา เปนแต่ไม่ยอมฟังบังคับบัญชาของโจโฉ การที่พวกหัวเมืองต่อสู้ทหารเมืองหลวงหรือบางทีตีเข้าไปจนแดนเมืองหลวง ก็ถือว่ารบกับอัครมหาเสนาบดีหาได้คิดร้ายต่อพระเจ้าแผ่นดินไม่ ผลของการที่รบพุ่งกันนั้น ฝ่ายโจโฉมีชัยชนะปราบหัวเมืองได้โดยมาก ปราบไม่ลงแต่หัวเมืองที่ซุนกวนกับเล่าปี่ปกครอง

ซุนกวนเปนเจ้าเมืองกังตั๋ง อันเปนหัวเมืองใหญ่อยู่ทางทิศตวันออก ได้ครองเมืองโดยสืบสกุล แลเปนผู้อยู่ในศีลธรรมปกครองบ้านเมืองดี จึงมีคนนิยมเข้าเปนพวกจนมีกำลังมาก เล่าปี่นั้นเดิมเปนคนอนาถา แต่สกุลสูงเปนเชื้อสายในราชวงศ์ฮั่น แลเปนผู้มีอัธยาศัยโอบอ้อมอารี กับผะเอิญได้คนดีมีฝีมือไว้เปนนายทหารหลายคน จึงมีชื่อเสียงปรากฎแลพวกเจ้าเมืองมักเชิญให้ไปช่วยในเวลาเกรงศัตรู แต่เล่าปี่เปนคนอาภัพ แม้ได้นายทหารดีก็มีกำลังรี้พลน้อย มักต้องหลบหนีเอาตัวรอดเนืองๆ จึงไม่สามารถตั้งมั่นเปนหลักแหล่ง จนได้ขงเบ้งเปนที่ปรึกษา แนะนำให้ไปเปนสัมพันธมิตรกับซุนกวน ช่วยกันต่อสู้โจโฉจึงรักษาตัวได้ และต่อมาจึงไปได้เมืองเสฉวนเปนที่มั่นอยู่ทางทิศตวันตก เรื่องราวตอนนี้แม้พระเจ้าเหี้ยนเต้เปนแต่อย่างเจว็ชอยู่ในศาล ในพงศาวดารก็ยังนับว่าเปนพระเจ้าแผ่นดินทั่วทั้งประเทศจีน

ครั้นโจโฉตายลง โจผีลูกโจโฉได้เปนที่เซียงก๊กแทน เลยถอดพระเจ้าเหี้ยนเต้เสียจากราชสมบัติ เมื่อ พ.ศ. ๗๖๓ แล้วตั้งตัวขึ้นเปนพระมหากษัตริย์ราชวงศใหม่ เรียกว่าราชวงศ์วุย ฝ่ายเล่าปี่ถือว่าเปนสมาชิกราชวงศฮั่น ก็ตั้งตัวเปนพระมหากษัตริย์สืบราชวงศฮั่นขึ้นณเมืองเสฉวน ซุนกวนไม่อยากยอมขึ้นแก่โจผีหรือเล่าปี่ ก็ตั้งตัวเปนเอกราชขึ้นที่เมืองกังตั๋งบ้าง(๔) ตั้งแต่นี้ประเทศจีนจึงแยกกันเปนสามก๊ก คือ ๓ ราชอาณาเขตต์อันเปนอิสสระแก่กัน อาณาเขตต์ของพระเจ้าโจผีได้นามว่า “วุยก๊ก” อาณาเขตต์ของพระเจ้าเล่าปี่ได้นามว่า “จ๊กก๊ก” อาณาเขตต์ของพระเจ้าซุนกวนได้นามว่า “ง่อก๊ก” เปนอยู่อย่างนั้นไม่นานเท่าใด พอสิ้นพระเจ้าเล่าปี่พระเจ้าโจผีแลพระเจ้าซุนกวนแล้ว เชื้อสายที่รับรัชทายาทสืบมาก็เสื่อมความสามารถลงด้วยกันทั้งสามก๊ก สุม้าเจียวซึ่งเปนผู้สำเร็จราชการวุยก๊กปราบจ๊กก๊กได้ก่อน แล้วสุมาเอี๋ยนลูกสุม้าเจียวชิงราชสมบัติวุยก๊ก ตั้งราชวงศ์ใหม่เรียกว่าราชวงศ์จิ้น พระเจ้าสุมาเอี๋ยนปราบง่อก๊กได้อีกก๊กหนึ่ง แผ่นดินจีนก็กลับรวมกันเปนราชอาณาเขตต์เดียวสืบมา สิ้นเรื่องสามก๊กเท่านี้

ลำดับเหตุการณ์ในเรื่องสามก๊กตามศักราชเปนดังอธิบายต่อไปนี้

พระเจ้าเลนเต้ครองราชสมบัติปีวอก พ.ศ. ๗๑๑

พระเจ้าเหี้ยนเต้ครองราชสมบัติปีมะเมีย พ.ศ. ๗๓๓

โจโฉรบทัพเรือกับพวกซุนกวนแลเล่าปี่ปีชวด พ.ศ. ๗๕๑

จิวยี่ตาย ปีขาน พ.ศ. ๗๕๓

เล่าปี่ได้เมืองเสฉวน ปีมะเมีย พ.ศ. ๗๕๗

กวนอูเสียเมืองเกงจิ๋วแก่ซุนกวน ปีกุน พ.ศ. ๗๖๒

โจผีถอดพระเจ้าเหี้ยนเต้ แล้วก็ขึ้นครองราชสมบัติเปนพระเจ้าโจผี ปีชวด พ.ศ. ๗๖๓

เล่าปี่ตั้งตัวเปนพระเจ้าแผ่นดินณเมืองเสฉวน ปีฉลู พ.ศ. ๗๖๔

ซุนกวนตั้งตัวเปนเอกราชเมืองกังตั๋ง ปีขาน พ.ศ. ๗๖๕

พระเจ้าเล่าปี่สิ้นพระชนม์ พระเจ้าเล่าเสี้ยนรับรัชทายาทครองจ๊กก๊ก ปีเถาะ พ.ศ. ๗๖๖

พระเจ้าโจผีสิ้นพระชนม์ พระเจ้าโจยอยรับรัชทายาทครองวุยก๊ก ปีมะเมีย พ.ศ. ๗๖๙

ซุนกวนตั้วตัวเปนพระเจ้าแผ่นดินเมืองกังตั๋ง ลบศักราชเก่าตั้งศักราชใหม่นับปีระกา พ.ศ. ๗๗๒ เปนศักราชพระเจ้าซุนกวนทรงราชย์ (แต่ในหนังสือสามก๊กที่แปล เขานับเอาปีขาน เมื่อพระเจ้าซุนกวนตั้งเปนเอกราชเปนต้น)

ขงเบ้งตาย ปีขาน พ.ศ. ๗๗๗

พระเจ้าโจยอยสิ้นพระชนม์ พระเจ้าโจฮองรับรัชทายาทครองวุยก๊ก ปีมะแม พ.ศ. ๗๘๒

สุมาอี้ตาย ปีมะแม พ.ศ. ๗๙๔

พระเจ้าซุนกวนสิ้นพระชนม์ พระเจ้าซุนเหลียงรับรัชทายาทครองง่อก๊ก ปีวอก พ.ศ. ๗๙๕

พระเจ้าโจฮองถูกถอดจากราชสมบัติวุยก๊ก พระเจ้าโจมอขึ้นครองราชสมบัติ ปีจอ พ.ศ. ๗๙๗

พระเจ้าซุนเหลียงถูกถอดจากราชสมบัติง่อก๊ก พระเจ้าซุนฮิวขึ้นครองราชสมบัติ ปีขาน พ.ศ. ๘๐๑

พระเจ้าโจมอสิ้นพระชนม์ พระเจ้าโจฮวนขึ้นครองราชสมบัติวุยก๊ก ปีมะโรง พ.ศ. ๘๐๓

พระเจ้าเล่าเสี้ยนเสียบ้านเมืองแก่วุยก๊ก ปีมะแม พ.ศ. ๘๐๖

พระเจ้าโจฮวนถูกถอดจากราชสมบัติ สุมาเอี๋ยนขึ้นครองราชสมบัติวุยก๊ก เปนปฐมกษัตริย์ราชวงศ์จิ้น ปีระกา พ.ศ. ๘๐๘

พระเจ้าซุนฮิวเสียบ้านเมืองแก่ราชวงศ์จิ้น ปีชวด พ.ศ. ๘๒๓

สามก๊กรวมเข้าเปนก๊กเดียว อยู่ในปกครองของพระเจ้าสุมาเอี๋ยน ต้นราชวงศ์จิ้น ปีชวด พ.ศ. ๘๒๓

หรืออีกนัยหนึ่งถ้ากำหนดจำนวนปีเปนต่างสมัยในเรื่องสามก๊กก็แบ่งได้เปน ๓ สมัย คือ

สมัยราชวงศ์ฮั่นซุดโทรม ในรัชกาลพระเจ้าเลนเต้ ๒๑ ปี

สมัยตั้งก๊กในรัชกาลพระเจ้าเหี้ยนเต้ ๓๐ ปี

สมัยสามก๊ก ๖๐ ปี

คำนวณเวลาของพงศาวดารเรื่องสามก๊กเปน ๑๑๑ ปี

หนังสือสามก๊กดีอยู่ที่พลความ อันกล่าวถึงอุบายการเมืองแลการสงคราม ควรนับว่าเปนหนังสือซึ่งน่าอ่านอย่างยิ่งเรื่องหนึ่ง

(๑) ที่เรียกว่าเมืองในเรื่องสามก๊กนั้น เปนเมืองใหญ่อย่างหลายมณฑลรวมกันก็มี เปนเมืองอย่างกลางเช่นมณฑลเดียวก็มี เปนแต่อย่างเมืองเดียวก็มี

(๒) ผู้แปลหนังสือสามก๊กเปนภาษาไทย แปลศัพท์เซียงก๊กว่า “พระยามหาอุปราช” (เห็นจะเอานามซึ่งมีอยู่ในกฎหมายทำเนียบศักดินาพลเรือนมาใช้) แต่ชอบใช้โดยย่อว่า “มหาอุปราช” มักทำให้ฉงนว่าจะเปนตำแหน่งรัชทายาทหรืออย่างไร ที่แท้ตำแหน่งเซียงก๊กนั้น เปนเอกอัครมหาเสนาบดีที่เรียกอย่างอังกฤษว่า ปริมิเอ หรือ ไปรมมินิศเตอร เท่านั้น

(๓) พวกเจ้าเมืองที่มีชื่อเสียงในเรื่องสามก๊กตอนหลังเปนผู้ที่หลีกหนีจากเมืองหลวงไปในคราวนี้หลายคน

(๔) ซุนกวนตั้งตัวเปนเอกราชใช้นามแต่ว่าวุยอ๋องก่อน ต่อเมื่อพระเจ้าเล่าปี่และพระเจ้าโจผีสิ้นพระชนม์แล้ว จึงราชาภิเษกเปนพระมหากษัตริย์

๖ ว่าด้วยวินิจฉัยเรื่องสามก๊ก

ข้าพเจ้าได้กล่าวไว้ในตอนข้างต้น ว่านักปราชญ์จีนคนหนึ่งชื่อกิมเสี่ยถ่างแต่งคำอธิบายคล้ายคำนำเรื่องสามก๊กไว้ คำอธิบายนั้นมีอยู่ในหนังสือสามก๊กภาษาจีน ปรากฎว่ากิมเสี่ยถ่างแต่งเมื่อ พ.ศ. ๒๑๘๗ แปลออกเปนภาษาไทยดังต่อไปนี้(๑)

ข้าพเจ้าอ่านหนังสือเรื่องต่าง ๆ เห็นเปนเรื่องที่นักปราชญ์แต่งดี ๖ เรื่อง คือเรื่องจังจื๊อเรื่อง ๑ ลีส่าวเรื่อง ๑ ซือมาเซียนซือกี่เรื่อง ๑ โต้วโพ้วลุดซีเรื่อง ๑ ซ้องกั๋งเรื่อง ๑ ไซเซียเรื่อง ๑ ข้าพเจ้าได้แต่งคำอธิบายหนังสือเหล่านั้นไว้ทุกเรื่อง ท่านทั้งหลายที่ได้อ่านคำอธิบายก็ยอมว่าข้าพเจ้าเปนผู้รู้ถึงความคิดของผู้แต่งหนังสือนั้น ๆ บัดนี้ข้าพเจ้าได้อ่านหนังสือเรื่องสามก๊กฉะบับนี้ เห็นว่าควรนับเข้าเปนเรื่องดีได้เรื่อง ๑ เพราะเนื้อเรื่องขยายความในพงศาวดารเปนหลักฐานดียิ่งนัก หนังสือเรื่องอื่น ๆ แม้ที่นับว่าดีก็ไม่มีเรื่องใดดีถึงเรื่องสามก๊กเลย

หากมีคำถาม ว่าหนังสือเรื่องต่างๆ อันเปนเรื่องแต่งก่อนสมัยราชวงศจิวก็ดี แลเรื่องภายหลังสมัยนั้นมาจนปัตยุบันนี้ก็ดี เขาก็แต่งโดยอาศัยพงศาวดารคล้ายสามก๊กทุกเรื่อง ดังฤๅจึงว่าดีไม่ถึงเรื่องสามก๊ก

ตอบว่าเรื่องสามก๊กกล่าวถึงกระบวนการแย่งชิงอาณาเขตต์กันอย่างน่าอ่านน่าฟังนัก เรื่องแย่งชิงอาณาเขตต์ตั้งแต่โบราณมาจนปัตยุบันนี้ก็มีมาก แต่ไม่มีเรื่องใดน่าพิศวงเหมือนเรื่องสามก๊ก ผู้แต่งเรื่องสามก๊กมีความรู้มาก ทั้งฉลาดเรียงความ ในบรรดานักประพันธ์ตั้งแต่โบราณมาจนปัตยุบันนี้ ผู้แต่งเรื่องสามก๊กควรนับว่าเปนชั้นเอกได้คนหนึ่ง อันเรื่องแย่งชิงอาณาเขตต์ครั้งราชวงศต่าง ๆ ที่ปรากฎในพงศาวดารมาเปนลำดับเรื่องอื่น ๆ จะเก็บเอาเรื่องออกแต่งได้ไม่ยาก แม้นักประพันธ์สามัญความรู้น้อยก็แต่งได้ ด้วยเหตุนี้หนังสือเรื่องอื่น ๆ จึงไม่เทียมเรื่องสามก๊ก ข้าพเจ้าอ่านเรื่องสามก๊กแล้วลองพิจารณาเหตุบ้านการณ์เมืองครั้งนั้น ก็ไม่เห็นทางที่จะสันนิษฐานให้แปลกกับที่แต่งไว้ได้เปนอย่างอื่น

คือเมื่อรัชกาลพระเจ้าเหี้ยนเต้นั้น เปนสมัยราชวงศ์ฮั่นซุดโทรม อำนาจไปตกอยู่แก่ตั๋งโต๊ะ หัวเมืองทั้งปวงก็แขงเมืองขึ้น เปนเหตุให้เกิดรบพุ่งกัน ถ้าหากในตอนนี้เล่าปี่มีกำลังมากเหมือนอย่างว่าปลาอยู่ในน้ำเมื่อได้เมืองเกงจิ๋วแล้วเล่าปี่ยกไปปราบปรามหัวเมืองฮ่อปัก เช่นเมืองกังหลำเมืองกังตั๋งแลเมืองจิ๋นเมืองยงเหล่านี้ เพียงแต่ประกาศไปตามหัวเมืองทั้งปวงก็คงยอมอยู่ในอำนาจ (เพราะเล่าปี่เปนเชื้อกษัตริย์ราชวงศ์ฮั่น) บ้านเมืองก็จะเปนสุขสืบไปดุจครั้งกองบู๊ (ในเรื่องตั้งฮั่น) คงไม่ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของบ้านเมืองปรากฎเปนสามก๊ก

ตั๋งโต๊ะชิงราชสมบัติยังไม่สมความคิดก็ถูกฆ่าตาย แล้วอำนาจไปตกอยู่แก่โจโฉ บังอาจบังคับพระมหากษัตริย์ให้มีรับสั่งไปตามหัวเมืองตามใจตน กระแสรับสั่งก็ไม่เปนที่เชื่อถือ แต่ถึงกระนั้นก็จำต้องเคารพเพราะราชวงศ์ฮั่นยังปกครองแผ่นดินอยู่ ฝ่ายเล่าปี่ตกอับไม่สามารถทำนุบำรุงราชวงศ์ฮั่นให้รุ่งเรือง หัวเมืองภาคเหนือภาคใต้แห่งแม่น้ำเอี้ยงจือเกียงก็ตกอยู่ในอำนาจของโจโฉซุนกวน ต่างพยายามแย่งชิงกัน ยังเหลือแต่หัวเมืองภาคตวันตกเฉียงใต้ (เสฉวน) สำหรับเล่าปี่จะได้อาศัย ถ้าเล่าปี่ไม่ได้ขงเบ้งเปนกำลัง แลไม่ได้ไปช่วยซุนกวนรบกับโจโฉที่ตำบลเชียะเบี้ย(๒)ในภาคตวันออก หัวเมืองทางภาคตวันตกเฉียงใต้ คือเมืองฮันต๋งและเมืองเสฉวนนั้นก็คงต้องตกเปนของโจโฉ เพราะเหตุที่ซุนกวนไม่สามารถต่อสู้โจโฉได้ บ้านเมืองก็คง (จะไปรวมอยู่ในอำนาจโจโฉ) กลายเปนเหมือนเมื่อครั้งอองมัง (ในเรื่องตั้งฮั่น) ชิงราชสมบัติราชวงศ์ฮั่น การเปลี่ยนแปลงของบ้านเมืองก็คงไม่ปรากฎให้เห็นเปนสามก๊ก

ตั้งแต่โจโฉข้ามพ้นตำบลฮัวหยงแล้ว ถึงขานยามขาไก่เลิกทัพกลับเมือง บ้านเมืองตอนนี้เริ่มเปนรูปสามก๊ก จนพวกซุนกวนพร้อมใจกันสู้รบชนะข้าศึกแล้ว(๓) รูปสามก๊กจึงปรากฎเปนสามก๊กแท้จริง แม้โจโฉทำบาปกรรมไว้มาก จนคนทั้งหลายพากันแค้นเคือง ที่ประกาศโทษไปตามหัวเมืองก็มี แช่งด่าต่อหน้าก็มี ลอบทำร้ายก็มี วางยาพิษก็มี เอาไฟเผาก็มี เข้าปล้นก็มี จนโจโฉต้องตัดหนวดฟันหัก ตกม้าตกคูเมือง เกือบตายหลายครั้ง แต่ก็ไม่ตาย แม้ผู้เปนศัตรูโจโฉมีมาก ผู้เปนพรรคพวกช่วยเหลือก็มีมาก ดูเหมือนดินฟ้าอากาสบันดาลจะให้บ้านเมืองเปนสามก๊ก โจโฉผู้เชี่ยวชาญในการโกงจึงยังไม่ตาย ได้อยู่ทรยศราชวงศฮั่นดังแมลงมุมชักใยคอยจับสัตว์ เทพดาตกแต่งให้จิวยี่เกิดมาเปนคู่คิดกับขงเบ้ง ก็ตกแต่งให้สุมาอี้เกิดมาเปนคู่คิดกับโจโฉ ดูเหมือน (เทวดา) เกรงสามก๊กจะรวมเข้าเปนก๊กเดียวเสียในตอนกลาง จึงให้ผู้มีปรีชาสามารถเกิดมาทำการให้แยกกันสืบไป

อันการแย่งชิงอาณาเขตต์นั้น ก็เคยมีมาแต่โบราณหลายครั้ง ที่มีผู้ตั้งตัวเปนเจ้าได้ก็มี เปน ๑๒ ก๊กก็มี เปน ๗ ก๊กก็มี เปน ๑๖ ก๊กก็มี เปนไซ่ฮั่นตั้งฮั่น(๔)ก็มี เปนเอกราชภาคเหนือแลเอกราชภาคใต้ก็มี เปนตั้งงุ่ยไซงุ่ย(๕)ก็มี ครั้งนั้น ๆ ผู้ที่ได้เมืองก็มี ที่เสียเมืองก็มี ที่อยู่ถาวรก็มี ที่สูญสิ้นไปโดยเร็วก็มี อย่างช้าไม่เกิน ๑๒ ปี อย่างเร็วก็ไม่ถึงปี ยังไม่มีเรื่องใด ๆ ซึ่งผู้เจริญจะเจริญอยู่และผู้ซุดโทรมจะสูญสิ้นตลอดระยะเวลาช้านานถึง ๖๐ ปีเหมือนเรื่องสามก๊กนี้เลย

เรื่องสามก๊กนี้เปนเรื่องดีจริง นักปราชญ์ได้อ่านก็ชอบใจ ใครมีปรีชาสามารถได้อ่านก็ชอบใจ ชาวบ้านร้านตลาดได้อ่านก็ชอบใจ ทุคคตะเข็ญใจได้อ่านก็คงจะชอบใจ ครั้งกวยทองห้ามฮั่นสิ้นอย่าให้ไปช่วยพระเจ้าฮั่นโกโจ แล้วแนะให้ฮั่นสิ้นแขงเมืองไว้ให้เปนสามก๊ก(๖) แต่ครั้งนั้นฮั่นสิ้นไม่ทิ้งความสัตย์ซื่อ ซึ่งเปนข้าของราชวงศ์ฮั่น ฝ่ายห้างอี๋มีแต่ความดุร้ายไม่มีความคิด ได้ฟ่ามแจ้งไว้ใช้ก็ใช้ไม่เปน หัวเมืองทั้งปวงไปตกอยู่ในความคิดแลกำลังของพวกราชวงศฮั่นรวมเข้าเปนก๊กเดียว เรื่องสามก๊กนี้มีลางมาแต่สมัยเมื่อตั้งราชวงศฮั่นดังกล่าวมา ครั้นราชวงศฮั่นซุดโทรมจึงปรากฎเปนสามก๊ก พระเจ้าฮั่นโกโจเปนกษัตริย์ราชวงศฮั่นตอนเริ่มเจริญ เล่าปี่เปนกษัตริย์ราชวงศฮั่นตอนซุดโทรม ผู้หนึ่งสามารถเอาเมืองจิ๋นได้ทั้งสามเมือง อีกผู้หนึ่งไม่สามารถเอาดินแดนโจโฉไว้ได้แต่สักคืบเดียว ทั้งนี้ก็คือดินฟ้าอากาสบันดาลให้ราชวงศฮั่นรุ่งเรืองสืบมาด้วยประการทั้งนั้น และให้ซุดโทรมสูญสิ้นไปด้วยประการดังนี้แล

เดิมข้าพเจ้ากำลังสืบสวนหาหนังสือเรื่องดี ๆ พอเพื่อนเขาเอาคำอธิบายเรื่องสามก๊กซึ่งเม่าจงกังแต่งมาให้ดู(๗) ข้าพเจ้าเห็นคำอธิบายนั้นถูกใจ จึงได้เอาเหตุผลเรื่องสามก๊กมาลงไว้ในที่นี้ ให้เม่าจงกังทำแม่พิมพ์ๆ สืบไป เพื่อท่านทั้งหลายที่อ่านหนังสือเรื่องนี้เห็นความคิดข้าพเจ้ากับความคิดเม่าจงกังตรงกัน หมดความอธิบายของกิมเสี่ยถ่างเพียงนี้ นับว่าเปนความเห็นของจีน ยังมีความเห็นของไทยวินิจฉัยเรื่องสามก๊ก ข้าพเจ้าเคยได้ยินกล่าวกันมาแต่ก่อน แต่ว่าช้านานมาแล้ว ลืมไปเสียโดยมาก นึกได้ในเวลาเมื่อแต่งตำนานนี้แต่สองราย

รายหนึ่งเมื่อข้าพเจ้ายังเปนนักเรียนนายร้อยทหารมหาดเล็ก ได้เคยเห็นพระสารสาสน์พลขัณฑ์ (สมบุรณ) ซึ่งเปนตำแหน่งอนุสาสนาจารย์กรมทหารมหาดเล็กอยู่ในเวลานั้น พยายามจะแต่งหนังสือสามก๊กใหม่อีกสำนวนหนึ่ง ข้าพเจ้าเคยถามว่าจะแต่งทำไม พระสารสาสน์ฯ บอกว่าหนังสือเก่าแต่งยังสับเพร่าอยู่หลายแห่ง ได้ยกตัวอย่างตรงที่ “กวนอูกักด่าน” ซึ่งมีปัญหาว่าขงเบ้งรู้อยู่แล้วว่ากวนอูคงไม่ทำอันตรายโจโฉ เหตุใดจึงใช้ให้กวนอูไปคอยจับโจโฉ ในหนังสือสามก๊กฉะบับเดิมแก้ข้อนี้ว่าเพราะขงเบ้งจับยามเห็นว่าโจโฉยังไม่ถึงที่ตาย จึงใช้กวนอูไปเพื่อจะให้ใช้คุณของโจโฉ พระสารสาสน์ ฯ เห็นว่าแก้เช่นนั้นไม่ถูก เหตุที่แท้นั้นเพราะขงเบ้งเห็นว่าจำจะต้องเอาโจโฉไว้ให้เปนคู่แข่งกับซุนกวน ถ้ากำจัดโจโฉเสีย ซุนกวนมีกำลังมากอยู่แต่ก๊กเดียวก็คงทำอันตรายเล่าปี่ ที่ไหนจะปล่อยให้ตั้งตัวได้ แลยังชี้ตรงที่อื่นอีก แต่ข้าพเจ้าลืมเสียหมดแล้ว เห็นพระสารสาสน์ ฯ เขียนหนังสือสามก๊กฉะบับนั้นอยู่นาน แต่ข้าพเจ้าไม่ได้สนใจจะขออ่าน ก็ทราบไม่ได้ว่าแต่งแก้เปนอย่างไร แลจะแต่งได้ตลอดเรื่องหรือไม่ สันนิษฐานว่าถ้าไม่ค้างอยู่จนพระสารสาสน์ ฯ ถึงแก่กรรม ก็คงไปติดอยู่ด้วยไม่มีใครรับพิมพ์ จึงเลยเงียบหายไป ต้นฉะบับที่พระสารสาสน์ ฯ เขียนไว้นั้น ใครจะได้ไว้ในบัดนี้ หรือเปนอันตรายสูยไปเสียแล้วก็หาทราบไม่(๘)

อีกรายหนึ่งข้าพเจ้าเคยได้ยินคำผู้หนึ่ง จะเปนใครก็ลืมไปเสียแล้ว กล่าวว่าเรื่องสามก๊กนั้นแต่งดีจริง แต่ผู้แต่งเปนพวกเล่าปี่ ตั้งใจแต่จะยกย่องเล่าปี่เปนสำคัญ ถ้าหากพวกโจโฉแต่งเรื่องสามก๊ก ก็อาจจะดำเนินความในเรื่องสามก๊กให้ผู้อ่านเข้าใจกลับกันไปได้ ว่าโจโฉเปนผู้ทำนุบำรุงแผ่นดิน ฝ่ายเล่าปี่เปนผู้คิดร้าย เพราะมีข้อที่จะอ้างเข้ากับโจโฉได้หลายข้อ เปนต้นแต่ชั้นเดิมที่โจโฉเปนผู้รู้สึกเจ็บร้อนด้วยแผ่นดิน ไปเที่ยวชักชวนพวกหัวเมืองให้ช่วยกันปราบตั๋งโต๊ะซึ่งเปนราชศัตรู และต่อมาเมื่อโจโฉจะได้มีอำนาจในราชธานีนั้น ก็เปนด้วยพระเจ้าเหี้ยนเต้มีรับสั่งให้หาเข้าไปตั้งแต่ง มิได้กำเริบเอิบเอื้อมเข้าไปโดยลำพังตน เมื่อโจโฉได้เปนที่เซียงก๊กแล้ว สามารถปกครองบ้านเมืองปราบปรามหัวเมืองที่กระด้างกระเดื่องให้กลับอยู่ในบังคับบัญชาของรัฐบาลกลางอย่างแต่ก่อนได้โดยมาก ข้อที่กล่าวหาว่าโจโฉเปนศัตรูราชสมบัตินั้นก็อาจจะคัดค้านได้ว่าถ้าโจโฉเปนศัตรูราชสมบัติจริง จะกำจัดพระเจ้าเหี้ยนเต้เสียเมื่อหนึ่งเมื่อใดก็กำจัดได้ ที่ไหนจะยอมเปนข้าพระเจ้าเหี้ยนเต้อยู่จนตลอดอายุ แลความข้อนี้อาจพิศูจน์ได้ ด้วยเมื่อโจผีได้เปนที่แทนโจโฉก็ชิงราชสมบัติได้โดยง่าย ส่วนเล่าปี่ที่ว่าเปนคนดีก็ดีแต่อัธยาศัย แต่เรื่องประวัติของเล่าปี่ซึ่งปรากฎในเรื่องสามก๊ก ดูเปนแต่เที่ยวรบพุ่งชิงบ้านเมืองเพื่อประโยชน์ของตนเอง ไม่เห็นว่าได้ตั้งใจขวนขวายช่วยพระเจ้าเหี้ยนเต้จริงจังอย่างใด คำที่กล่าวนี้เมื่อพิเคราะห์ประกอบกับรูปเรื่องสามก๊กก็เห็นชอบกล ดูเหมือนจะต้องรับว่าเปนความจริงอย่างหนึ่งในข้อที่ผู้แต่งหนังสืออาจจะจูงใจผู้อ่านให้นิยมได้ตามประสงค์ ยกเรื่องสามก๊กนี้เปนอุทาหรณ์ได้เรื่องหนึ่ง แม้ไทยเรามิได้เปนพวกข้างไหน ใครอ่านเรื่องสามก๊กหรือเพียงได้ดูงิ้วเล่นเรื่องสามก๊กก็ดูเหมือนจะเข้ากับเล่าปี่ด้วยกันทั้งนั้น

(๑) พระเจนจีนอักษรเปนผู้แปล แต่ข้าพเจ้า (ผู้ไม่รู้ภาษาจีน) ได้แก้ไขถ้อยคำแต่งสำนวนไทยหลายแห่ง ถ้าคลาดเคลื่อนจากภาษาจีนไปมากนักขออย่าติโทษพระเจนจีนอักษร

(๒) เชียะเบี้ย เปนชื่อภูเขาแปลว่าชันดังกำแพง อยู่ที่ฝั่งแม่น้ำซามกัง หนังสือเรื่องสามก๊กที่พิมพ์แล้วเรียกว่าที่ฝั่งแม่น้ำซามกัง

(๓) หมายความว่าตอนลกซุนตีทัพพระเจ้าเล่าปี่แตกยับเยินแล้วตีทัพพระเจ้าโจผีแตกพ่าย

(๔) ในเรื่องชิดก๊กไซ่ฮั่นแลตั้งฮั่น ตั้งแต่พระเจ้าฮั่นโกโจครองราชสมบัติถึงอองมังเปนกบฎ ตอนนี้เรียกไซ่ฮั่น ในเรื่องไซ่ฮั่นแลสามก๊ก ตั้งแต่พระเจ้าฮั่นกองบู๊ฮองเต้ครองราชสมบัติถึงพระเจ้าเหี้ยนเต้ออกจากราชสมบัติ ตอนนี้เรียกตั้งฮั่น

(๕) ในเรื่องตั้งจิ้น ตอนพระเจ้าแผ่นดินอ๋าวงุ่ยหนีไปอยู่กับอูยุ่นไถ ตอนนี้เรียกไซงุ่ย เมื่อพระเจ้าแผ่นดินอ๋าวงุ่ยหนีไปแปล้ว พวกขุนนางพร้อมกันเชิญพระเจ้าแผ่นดินองค์ใหม่ครองราชสมบัติ ตอนนี้เรียกตั้งงุ่ย

(๖) ในเรื่องชิดก๊กไซ่ฮั่น ตอนฮั่นอ๋องรบกับฌ้อปาอ๋อง กวยทองบอกให้ฮั่นสิ้นแขงเมืองไว้ให้เปนสามก๊ก ฮั่นอ๋องก๊ก ๑ ฌ้อปาอ๋องก๊ก ๑ ฮั่นสิ้นก๊ก ๑

(๗) สันนิษฐานว่าเม่าจงกังแต่งคำอธิบายไว้ก่อน กิมเสี่ยถ่างชำระแต่งเปนคำอธิบายนี้ขึ้นใหม่ เม่าจงกังยอมว่าดีกว่าของตนจึงให้พิมพ์

(๘) ถ้าใครได้ไว้ แลบอกมาให้ราชบัณฑิตยสภาทราบจะขอบคุณเปนอันมาก

๗ รูปภาพสามก๊ก

ไทยเรารู้เรื่องสามก๊กยิ่งกว่าเรื่องอื่นในพงศาวดารจีนฉันใด อาจจะอ้างต่อไปถึงรูปภาพจีน ว่าไทยเราคุ้นกับรูปบุคคลในเรื่องสามก๊กยิ่งกว่าในเรื่องอื่นทั้งนั้นก็ว่าได้ ข้อนี้พึงสังเกตรูปภาพจีนอย่างที่เขียนในแผ่นกระจกสำหรับติดฝาผนัง ที่ชอบใช้แต่งตำหนักรักษาเหย้าเรือนกันมาแต่ก่อนก็มักเปนรูปเรื่องสามก๊กเปนพื้น(๑) ไทยดูงิ้วก็ชอบดูเรื่องสามก๊กชำนาญตากว่าเรื่องอื่น จนเห็นตัวงิ้วก็มักบอกได้ทันทีว่าเปนบุคคลผู้ใดในเรื่องสามก๊ก แต่รูปภาพในเรื่องสามก๊กนั้น เมื่อสืบสวนหาต้นตำราได้ความว่าเปนรูปคิดสมมตขึ้นทั้งนั้น น่าสันนิษฐานว่า พวกจีนเล่นงิ้วจะคิดสมมตขึ้นก่อน โดยเอาวิสัยของบุคคลตามที่ปรากฎในเรื่อง มาคิดแต่งหน้าแต่งตัวแลทำกิริยาอาการให้เห็นว่าเปนเช่นนั้นๆ คนดูก็รู้สึกนิยมตาม จนเลยยุติเปนแบบแผน ว่าบุคคลนั้นหน้าต้องเปนสีนั้น มีหนวดยาวหรือหนวดสั้น หรือหน้าเกลี้ยง ส่วนเครื่องแต่งตัวนั้น รูปภาพเรื่องสามก๊กซึ่งจีนเขียนก็ดี หรือแต่งเล่นงิ้วก็ดี ได้ความว่าเปนแบบเครื่องแต่งตัวในสมัยราชวงศใต้เหม็ง คือในระวาง พ.ศ. ๑๙๑๑ จน พ.ศ. ๒๑๘๖ มิใช่เปนแบบเครื่องแต่งตัวอย่างเก่าถึงสมัยสามก๊ก ข้อนี้ก็เปนเค้าเงื่อนชวนให้สันนิษฐานว่า รูปภาพในเรื่องสามก๊กอย่างเช่นปรากฎทุกวันนี้ น่าจะเกิดขึ้นร่วมสมัยกับเมื่อมีหนังสือสามก๊กอ่านนิยมกันแพร่หลาย แต่ประหลาดอยู่อย่างหนึ่ง สังเกตดูรูปภาพที่จีนทำในเรื่องสามก๊กต่างกันเปน ๒ แบบ ถ้าเปนรูปปั้นระบายสี มักเขียนหน้าสลับสีอย่างงิ้ว ไม่นิยมที่จะให้แม้นเหมือนสีเนื้ออย่างธรรมดา แต่ถ้าเปนรูปเขียน เช่นเขียนในแผ่นกระจกสำหรับติดฝาหรือเขียนในฉาก มักระบายสีหน้าให้คล้ายสีเนื้อธรรมดา แม้ตัวบุคคลซึ่งในเรื่องกล่าวว่าหน้าดำหรือหน้าแดง ก็ประสานสีหน้าพอให้คล้ามหรือให้แดงแปลกกว่าผู้อื่นสักเล็กน้อยพอเปนที่สังเกต ยกตัวอย่างดังเช่นฉากเขียนรูปกวนอู อันมีรูปจิงฉ่องกับกวนเป๋งยืนสองข้าง ซึ่งแขวนณะที่บูชาตามบ้านจีนเห็นอยู่แพร่หลายก็เปนเช่นว่า ข้อที่ช่างจีนทำรูปภาพปั้นกับรูปภาพเขียนผิดกันดังว่ามา จะเปนเพราะเหตุใดยังไม่ทราบ จีนทำหนังฉายเรื่องสามก๊กก็พยายามจะให้เหมือนคนธรรมดา เปนแต่แต่งหน้าให้เข้าเค้าภาพสามก๊ก ทำดีได้หนักหนา

รูปภาพที่พิมพ์ไว้ในหนังสือสามก๊กฉะบับภาษาจีนมีเปน ๒ ประเภท คือภาพรูปตัวคนประเภท ๑ ภาพเรื่องประเภท ๑ ได้จำลองภาพเรื่องพิมพ์ไว้ตรงเรื่องในหนังสือสามก๊กฉะบับงานพระเมรุ ส่วนภาพตัวบุคคลได้จำลองมาพิมพ์ไว้ในหนังสือเล่มตำนานตอนนี้.

สามก๊ก
สารบารพ์รูป

ที่ ๑ พระเจ้าเหี้ยนเต้ นางตังกุยหุย นางฮกเฮา
ที่ ๑ พระเจ้าเหี้ยนเต้ นางตังกุยหุย นางฮกเฮา
ที่ ๒ อ้องอุ้น ตังสิน ฮกอ๋วน
ที่ ๒ อ้องอุ้น ตังสิน ฮกอ๋วน
ที่ ๓ ตั๋งโต๊ะ ลิโป้ นางเตียวเสียน
ที่ ๓ ตั๋งโต๊ะ ลิโป้ นางเตียวเสียน
ที่ ๔ อ้วนเสี้ยว อ้วนสุด บุนทิว งันเหลียง
ที่ ๔ อ้วนเสี้ยว อ้วนสุด บุนทิว งันเหลียง
ที่ ๕ เล่าปี่ กวนอู เตียวหุย
ที่ ๕ เล่าปี่ กวนอู เตียวหุย
ที่ ๖ ชีซี บังทอง ขงเบ้ง
ที่ ๖ ชีซี บังทอง ขงเบ้ง
ที่ ๗ จูล่ง ม้าเฉียว ฮองตง จิวฉอง กวนเป๋ง
ที่ ๗ จูล่ง ม้าเฉียว ฮองตง จิวฉอง กวนเป๋ง
ที่ ๘ เล่าเจี้ยง เตียวสง หวดเจ้ง
ที่ ๘ เล่าเจี้ยง เตียวสง หวดเจ้ง
ที่ ๙ เงียมหงัน เกียงอุย อองเป๋ง ม้าเจ๊ก
ที่ ๙ เงียมหงัน เกียงอุย อองเป๋ง ม้าเจ๊ก
ที่ ๑๐ เบ้งเฮ็ก เลียวฮัว เตียวเปา กวนหิน
ที่ ๑๐ เบ้งเฮ็ก เลียวฮัว เตียวเปา กวนหิน
ที่ ๑๑ ซุนเกี๋ยน ซุนเซ็ก ซุนกวน
ที่ ๑๑ ซุนเกี๋ยน ซุนเซ็ก ซุนกวน
ที่ ๑๒ จิวยี่ โลซก จูกัดกิ๋น
ที่ ๑๒ จิวยี่ โลซก จูกัดกิ๋น
ที่ ๑๓ ฮันต๋ง อุยกาย งำเต๊ก จิวท่าย
ที่ ๑๓ ฮันต๋ง อุยกาย งำเต๊ก จิวท่าย
ที่ ๑๔ โกะหยง ชีเซ่ง เตียวเจียว เตงฮอง
ที่ ๑๔ โกะหยง ชีเซ่ง เตียวเจียว เตงฮอง
ที่ ๑๕ โจโฉ กุยแก ซุนฮก
ที่ ๑๕ โจโฉ กุยแก ซุนฮก
ที่ ๑๖ โจจู๋ อีเกียด เกียดเป๋ง ฮัวโต๋
ที่ ๑๖ โจจู๋ อีเกียด เกียดเป๋ง ฮัวโต๋
ที่ ๑๗ เคาทู เตียนอุย ซีหลง
ที่ ๑๗ เคาทู เตียนอุย ซีหลง
ที่ ๑๘ เตียวคับ งักจิ้น อองสง
ที่ ๑๘ เตียวคับ งักจิ้น อองสง
ที่ ๑๙ โจจิ๋ว เตียวเลี้ยว อิกิ๋ม บังเต๊ก แฮหัวเอี๋ยน
ที่ ๑๙ โจจิ๋ว เตียวเลี้ยว อิกิ๋ม บังเต๊ก แฮหัวเอี๋ยน
ที่ ๒๐ แฮหัวตุ้น ฮัวหิม อองลอง
ที่ ๒๐ แฮหัวตุ้น ฮัวหิม อองลอง
ที่ ๒๑ โจหอง โจหยิน โจเจียง
ที่ ๒๑ โจหอง โจหยิน โจเจียง
ที่ ๒๒ โจผี นางเอียนสี โจสิด
ที่ ๒๒ โจผี นางเอียนสี โจสิด
ที่ ๒๓ สุมาอี้ สุมาสู สุมาเจียว สุมาหู เตงงาย จงโฮย
ที่ ๒๓ สุมาอี้ สุมาสู สุมาเจียว สุมาหู เตงงาย จงโฮย

(๑) รูปภาพเช่นนั้น ที่เปนเครื่องประดับพระที่นั่งในพระราชวังบวรสถานมงคล ยังรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนครก็มีมาก

๘ ว่าด้วยแผนที่สามก๊ก

การที่ไทยเราอ่านหนังสือสามก๊กกันมาแต่ก่อน ได้ความรู้แต่เรื่องกับกระบวนความ ส่วนแผนที่นั้นรู้เพียงว่าเปนเรื่องในประเทศจีน แต่เมืองใดซึ่งปรากฎชื่อในหนังสือสามก๊กจะอยู่ตรงไหน หรืออาณาเขตต์ก๊กไหนจะเท่าหนึ่งเท่าใดก็ไม่รู้ ด้วยไม่มีสิ่งใดซึ่งจะอาศัยสอบสวน ก็เปนธรรมดาอยู่เองที่ตัดความนำพาของผู้อ่านด้วยเรื่องแผนที่ ครั้นมาถึงสมัยเมื่อความรู้ภูมิศาสตร์เจริญแพร่หลาย แลมีแผนที่ประเทศต่างๆ พิมพ์จำหน่ายพอหาได้ไม่ยาก การอ่านหนังสือเรื่องสามก๊กในสมัยชั้นหลัง จึงมีผู้ซึ่งใคร่จะรู้แผนที่เรื่องสามก๊กขึ้น จะเล่าแต่ถึงส่วนตัวข้าพเจ้าเองพอเปนอุทาหรณ์ ได้ลองเอาแผนที่ประเทศจีนมาพิจารณาหาความรู้ในเรื่องสามก๊กก็ไม่สมประสงค์ ได้แต่เค้าเงื่อนบ้างอย่างว่าเห็นเปนเงาๆ เช่นมีชื่อเมืองเสฉวนปรากฎอยู่ในแผนที่ประเทศจีน ก็เข้าใจว่าเล่าปี่คงตั้งเปนอิสระที่นั่น แล้วเลยสันนิษฐานต่อไปถึงเมืองอื่น เช่นเมืองกังตั๋งของซุนกวนก็เห็นว่าคงเปนเมืองเดียวกับเมืองกึงตั๋ง (ที่อยู่ใกล้กับเมืองฮ่องกง) เพราะชื่อคล้ายๆ กัน ได้ความเข้าใจเพียงเท่านั้น ครั้นเมื่อจะพิมพ์หนังสือสามก๊กฉะบับงานพระเมรุสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าฯ คราวนี้ ข้าพเจ้าปรารภว่าถ้ามีแผนที่เมืองจีนครั้งสมัยสามก๊กพิมพ์ไว้ด้วยได้จะดีหนักหนา เพราะไทยเรายังไม่รู้ตำแหน่งแห่งที่บ้านเมืองในเรื่องสามก๊กโดยมาก พระเจนจีนอักษรบอกว่าแผนที่เช่นข้าพเจ้าว่านั้น พวกจีนสมัยใหม่เขาได้พิมพ์แล้ว พระเจนฯ ไปหาแผนที่นั้นมาให้ดู เมื่อข้าพเจ้าได้เห็นแผนที่แลได้ฟังคำชี้แจงของพระเจนฯ ก็รู้สึกว่าเรื่องแผนที่เปนข้อที่ข้าพเจ้าเข้าใจผิดมาแต่ก่อนอีกอย่างหนึ่ง ด้วยอาณาเขตต์ประเทศจีนเมื่อครั้งสมัยสามก๊กยังไม่กว้างใหญ่ไพศาลเหมือนเมื่อชั้นหลัง บรรดาเมืองสำคัญอันกล่าวถึงแลที่สมรภูมิ์ซึ่งรบพุ่งกันในเรื่องสามก๊กอยู่เพียงลุ่มลำน้ำเอี้ยงจือเกียงเท่านั้น เมืองเสฉวนแลเมืองกึงตั๋งที่ข้าพเจ้าสันนิษฐานดังกล่าวมาก็เข้าใจผิด ชื่อเมืองเสฉวนแลเมืองกึงตั๋งเกิดขึ้นต่อเมื่อภายหลังสมัยเรื่องสามก๊กมาช้านาน เปนแต่ล่อกวนตงเอาชื่อซึ่งเรียกกันอยู่ในสมัยเมื่อแต่งหนังสือสามก๊กมาใช้

อันตัวเมืองลกเอี๋ยงที่เปนราชธานีของราชวงศ์ฮั่น แลเปนราชธานีของราชวงศวุยแลราชวงศจิ้นต่อมานั้น คือเมืองที่เรียกว่า “โห้ลำฟู” ในชั้นหลัง เมืองที่พระเจ้าซุนกวนตั้งเปนราชธานี เรียกว่าเมืองเกียนเงียบในแผนที่ คือเมืองนำกิ่งในปัจจุบันนี้ แลเมืองที่พระเจ้าเล่าปี่ตั้งเปนราชธานีนั้น เรียกว่าเมืองเซงโต๋ ในมณฑลเอ๊กจิ๋ว ส่วนอาณาเขตต์ครั้งสามก๊กนั้น มีหนังสือจีนเรียกว่า “ซือย่ง” แต่งชั้นหลัง ได้พรรณนาเทียบด้วยแผนที่ครั้งราชวงศไต้เช็งไว้ดังนี้

“พระเจ้าโจผีปฐมกษัตย์ราชวงศวุย ครองราชสมบัติเมื่อปีชวด พ.ศ. ๗๖๓ เขตต์แดนของพระเจ้าโจผี คือ มณฑลลิจี มณฑลโห้ลำ มณฑลซันตง มณฑลซันซี มณฑลกังซก กับภาคกลางมณฑลเซียนซี และภาคเหนือมณฑลฮูเป มณฑลเกียงซู มณฑลงางไฝ และภาคกลางกับภาคตวันตกมณฑลฟงเทียน (มุกเดน) จนถึงภาคตวันตกเฉียงเหนือเมืองเกาหลี สืบมาถึงพระเจ้าโจฮวนกษัตริย์ราชวงศวุยองค์ที่ ๕ เสียเมืองแก่พระเจ้าสุมาเอี๋ยนปฐมกษัตริย์ราชวงศ์จิ้น เมื่อปีวอก พ.ศ. ๘๐๗ จำนวนรัชกาลราชวงศวุย ๔๕ ปี

พระเจ้าเล่าปี่ปฐมกษัตริย์ราชวงศ์จ๊กฮั่น ครองราชสมบัติเมื่อปีฉลู พ.ศ. ๗๖๔ เขตต์แดนของพระเจ้าเล่าปี่ คือมณฑลเสฉวน กับภาคเหนือมณฑลยงลำ มณฑลกุยจิ๋ว และเมืองฮั่นต๋ง มณฑลเซียนซี สืบมาถึงพระเจ้าเล่าเสี้ยน กษัตริย์ราชวงศจ๊กฮั่นองค์ที่ ๒ เสียเมืองแก่ราชวงศวุย เมื่อปีมะแม พ.ศ. ๘๐๖ จำนวนรัชกาลราชวงศจ๊กฮั่น ๔๓ ปี

พระเจ้าซุนกวนปฐมกษัตริย์ราชวงศง่อ ครองราชสมบัติเมื่อปีขาล พ.ศ. ๗๖๕ เขตต์แดนของพระเจ้าซุนกวน คือ มณฑลเกียงซู มณฑบเจเกียง มณฑลฮูลำ มณฑลฮูเป มณฑลฮกเกี้ยน มณฑลกวางตุ้ง มณฑลกวงซี กับเมืองญวน สืบมาถึงพระเจ้าซุนฮิวกษัตริย์ราชวงศง่อองค์ที่ ๔ เสียเมืองแก่พระเจ้าสุมาเอี๋ยนปฐมกษัตริย์ราชวงศจิ้นเมื่อปีชวด พ.ศ. ๘๒๓ จำนวนรัชกาลราชวงศง่อ ๕๙ ปี”

เมื่อได้ความดังแสดงมา ข้าพเจ้าจึงให้จำลองแผนที่ประเทศจีนครั้งสามก๊กมาพิมพ์ในตำนานนี้ด้วย แต่สำเร็จได้ด้วยความพยายามของพระเจนจีนอักษร ที่รับแปลหนังสือจีนในแผนที่เปนภาษาไทย ใช้สำเนียงฮกเกี้ยนให้เข้ากับหนังสือสามก๊กภาษาไทยสถาน ๑ และต้องอ่านหนังสือสามก๊กภาษาไทยตรวจคัดชื่อต่าง ๆ อันเกี่ยวกับแผนที่มาทำเปนอภิธานแล้วไปสอบตำราจีน ว่าที่นั้น ๆ หรือเมืองนั้น ๆ ในปัจจุบันนี้เรียกอย่างไรด้วยอีกสถาน ๑ เปนการลำบากแก่พระเจน ฯ มากทีเดียว เพราะชื่อบ้านเมืองในประเทศจีนเปลี่ยนมาเนือง ๆ แม้อธิบายที่ลงไว้ในอภิธานแผนที่สามก๊ก พระเจน ฯ ก็ว่ารับรองได้แต่เพียงชื่อที่เรียกในสมัยเมื่อราชวงศไต้เช็งเปนใหญ่ แต่จะเปลี่ยนชื่อมาในชั้นประเทศจีนเปนริปับลิกอีกอย่างใดบ้าง ไม่มีตำราที่จะค้นให้ทราบได้ ข้าพเจ้าเห็นว่าแม้ทำได้เพียงเท่าที่พิมพ์ในหนังสือนี้ก็ต้องจัดเอาเปนดี แลพระเจนจีนอักษรควรได้รับความขอบใจของผู้อ่านเรื่องสามก๊กที่พิมพ์ใหม่ครั้งนี้ทั่วกัน

แผนที่สามก๊ก

ชื่อภูมิประเทศในเรื่องสามก๊ก

ดูเพิ่มที่ ชื่อภูมิประเทศในเรื่องสามก๊ก

กรุณาแสดงความคิดเห็น

ชื่อ

กวนอู,67,การ์ตูน,19,การเมือง,77,กิจกรรม,18,เกม,160,ขงเบ้ง,94,ของสะสม,40,ข่าวสาร,118,คำคมสามก๊ก,77,จิวยี่,5,จูล่ง,21,โจโฉ,66,ซุนกวน,7,เตียวหุย,11,เนื้อหาสามก๊ก,5,บทความ,353,บุคคลภาษิตในสามก๊ก,12,แบบเรียน,8,ปรัชญา,45,เพลง,41,ภาพยนตร์,53,รูปภาพ,67,ลิโป้,9,เล่าปี่,18,วิดีโอ,66,วิธีคิดวิธีทำงาน,13,เว็บไซต์,14,สถานที่,21,สามก๊ก12,14,สามก๊ก13,32,สามก๊ก14,3,สามก๊ก2010,95,สามก๊ก8,1,สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง(หน),87,สุมาอี้,15,หงสาจอมราชันย์,13,หนังสือ,173,อาวุธ,7,แอป,43,Dynasty Warriors,57,E-book,87,
ltr
static_page
สามก๊กวิทยา : Three Kingdoms Academy: ตำนานหนังสือสามก๊ก
ตำนานหนังสือสามก๊ก
ตำนานหนังสือสามก๊ก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระดำรงราชานุภาพ ทรงแต่ง เป็นภาคผนวก ประกอบกับหนังสือสามก๊กฉะบับงานพระเมรุสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า ฯ พิมพ์ที่โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๑
สามก๊กวิทยา : Three Kingdoms Academy
https://www.samkok911.com/p/legend-of-three-kingdoms-book.html
https://www.samkok911.com/
https://www.samkok911.com/
https://www.samkok911.com/p/legend-of-three-kingdoms-book.html
true
4216477688648787518
UTF-8
โหลดเนื้อหาทั้งหมด ไม่พบเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง ดูทั้งหมด อ่านเพิ่ม ตอบ ยกเลิกการตอบ ลบ โดย หน้าแรก หน้า โพสต์ ดูทั้งหมด เรื่องแนะนำสำหรับคุณ หมวดหมู่บทความ เนื้อหาในช่วงเวลา ค้นหา บทความทั้งหมด ไม่พบเนื้อหาที่คุณต้องการ กลับหน้าแรก Sunday Monday Tuesday Wednesday Thursday Friday Saturday Sun Mon Tue Wed Thu Fri Sat January February March April May June July August September October November December Jan Feb Mar Apr May Jun Jul Aug Sep Oct Nov Dec just now 1 minute ago $$1$$ minutes ago 1 hour ago $$1$$ hours ago Yesterday $$1$$ days ago $$1$$ weeks ago more than 5 weeks ago Followers Follow THIS PREMIUM CONTENT IS LOCKED STEP 1: Share to a social network STEP 2: Click the link on your social network Copy All Code Select All Code All codes were copied to your clipboard Can not copy the codes / texts, please press [CTRL]+[C] (or CMD+C with Mac) to copy สารบัญ