Loading ...

$show=home

จุดเริ่มต้นของการศึกษาสามก๊ก

แหล่งศึกษาเรียนรู้ ทุกเรื่องราวของวรรณกรรมเพชรน้ำเอกของโลก

สามก๊กวิทยา : THREE KINGDOMS ACADEMY

ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่อาณาจักร
"สามก๊กวิทยา"
THREE KINGDOMS ACADEMY

36 กลศึกสามก๊ก (Thirty-Six Stratagems)

36 กลศึกสามก๊ก
"ทำศึก อย่าหน่าย เล่ห์"
     36 กลศึกสามก๊ก (Thirty-Six Stratagems of Three Kingdoms , 三十六计) เป็นการรวบรวมกลยุทธ์และกลอุบายต่าง ๆ ที่ใช้ในการทำศึกสงคราม จำนวน 36 กลยุทธ์ โดยยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่ปรากฏในวรรณกรรมจีนอิงประวัติศาสตร์เรื่อง สามก๊ก

     ในเรื่อง สามก๊ก มีการทำศึกสงครามมากมายหลายครั้ง ทั้งการแย่งชิงอำนาจและความเป็นใหญ่ การนำกำลังทหารและไพร่พลจำนวนมาก การบุกโจมตีและยึดครองเมืองหรือสถานที่ต่าง ๆ หรือทางการทูต การเจรจาต่อรองผูกสัมพันธ์ไมตรี การต่อสู้ทางด้านสติปัญญาและกุศโลบาย การแสดงแสนยานุภาพแก่ศัตรู การปกครองไพร่พล นักรบ รวมทั้งผู้ใต้บังคับบัญชา การใช้คนอย่างถูกต้อง

     36 กลศึกสามก๊ก เป็นการนำเอาทรัพยากรที่มีนำมาใช้ในการทำศึกสงคราม บ่อยครั้งที่กำลังไพร่พลน้อยกว่ากลับเอาชนะกำลังไพร่พลมากกว่าได้ กลยุทธ์ในด้านยุทธศาสตร์และความชำนาญด้านภูมิศาสตร์ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด

     การวางแผน การศึกในเชิงรบระหว่างทัพ แม่ทัพ อัศวิน ผู้นำศึก ต้องมีความรู้ความสามารถ มีภูมิปัญญาอันเป็นเลิศ มีความมั่นใจในตนเอง มีความเมตตา ความเด็ดเดี่ยวแน่วแน่และความกล้าหาญชาญชัย รักไพร่พลของตนรวมทั้งมีการแม่นยำในสภาพภูมิศาสตร์ รู้สภาพดินฟ้าอากาศ ธรรมชาติและฤดูกาลต่าง ๆ อันส่งผลให้เกิดขอบเขตขีดจำกัดในการทำศึก ดั่งคำกล่าวของ จูกัดเหลียง ขงเบ้ง ที่ว่า

     "อันธรรมดาเป็นชายชาติทหาร ถ้าไม่รู้คะเนการฤกษ์บนแลฤกษ์ต่ำ ก็มิได้เรียกว่ามีสติปัญญา"

     ถ้าแม่ทัพผู้นำศึกขาดสิ่งต่าง ๆ ดังกล่าวแล้ว ย่อมเพลี่ยงพล้ำหลงกลศึกของแม่ทัพฝ่ายตรงข้ามได้ง่าย กลศึกทางบกเป็นการคำนวณระยะทางใกล้ไกล สภาพภูมิประเทศ และความยากง่ายต่อการเข้าถึงของพื้นที่ รวมทั้งการให้คุณให้โทษแก่ไพร่พลทหาร การจัดส่งเสบียงอาหารและกองกำลังหนุนยามเพลี้ยงพล้ำ

     การวางแผน การศึก ในเชิงรบระหว่างทัพเรือ แม่ทัพผู้นำศึกต้องมีความรู้ความสามารถ มีภูมิปัญญาอันเป็นเลิศ มีความมั่นใจในตนเอง มีความเมตตา ความเด็ดเดี่ยวแน่วแน่และความกล้าหาญชาญชัย รักไพร่พลของตนรวมทั้งมีการแม่นยำในสภาพภูมิศาสตร์ ชำนาญในการเดินเรือ รู้สภาพดินฟ้าอากาศ โขดหินและร่องน้ำตามธรรมชาติ รวมทั้งรู้จักฤดูกาลต่าง ๆ อันส่งผลให้เกิดขอบเขตขีดจำกัดในการทำศึก

     ถ้าแม่ทัพผู้นำศึกขาดสิ่งต่าง ๆ ดังกล่าว ย่อมหลงกลศึกของแม่ทัพฝ่ายตรงข้ามได้ง่าย กลศึกทางน้ำเป็นการคำนวณระยะทางใกล้ไกลในการเดินทัพเรือ สภาพภูมิประเทศ และความยากง่ายต่อการเข้าถึงของพื้นที่ รวมทั้งการให้คุณให้โทษแก่ไพร่พลทหาร การจัดส่งเสบียงกรังและกองกำลังหนุนยามเพลี้ยงพล้ำและพ่ายแพ้

     ในเรื่อง สามก๊ก มีการใช้กลศึกจำนวนมากมาย แต่ก็สามารถสรุปรวมเป็น 36 กลศึกสามก๊ก ที่ใช้ในการหลอกล่อศัตรูเพื่อชัยชนะ การต่อสู้ทางสติปัญญา สุดยอดแห่งกุศโลบายในการแสดงศักยภาพของกองทัพ

     แม่ทัพที่นำทัพในสนามรบนอกจากจะมีฝีมือในการที่สูงส่งแล้ว จะต้องรู้หลักตำราพิชัยสงครามและ 36 กลศึกสามก๊ก นี้ด้วย

     เสนาธิการที่ปรึกษาทัพจะต้องรอบรู้ในทุก ๆ ด้าน รู้แจ้งในกลศึกต่าง ๆ ของศัตรู รู้ถึงจิตใจของทหารใต้บังคับบัญชา และรู้จักฉกฉวยจังหวะสำคัญในการโจมตีจึงจะสามารถเอาชนะศัตรูได้

     ดังที่ ตำราพิชัยสงคราม ซุนวู 13 บท กล่าวไว้ว่า

     "การบัญชาทัพชั้นเอกคือชนะด้วยอุบาย รองลงมาคือชนะด้วยการทูต รองลงมาอีกคือชนะด้วยการรบ"

     ขงเบ้ง จิวยี่ สุมาอี้ ตันฮก ลิบอง ลกซุน ตั๋งโต๊ะ โจโฉ กุยแกและบุคคลอื่นอีกมากมาย ล้วนแต่ชำนาญกลศึกและตำราพิชัยสงครามในการทำศึก

     กลศึกสำคัญและเป็นมาตรฐานของการทำสงครามสามก๊กในแต่ละครั้ง สามารถแบ่งเป็น 6 หมวดกลยุทธ์หลัก และจำแนกออกเป็นกลย่อย ๆ ได้ 36 กลศึกสามก๊ก ดังนี้

36 กลศึกสามก๊ก


กลยุทธ์ชนะศึก (WINNING STRATAGEMS)

กลยุทธ์ที่ 1 ปิดฟ้าข้ามทะเล

กวนอูเสียเมืองเกงจิ๋ว และพ่ายแพ้ด้วยกลปิดฟ้าข้ามทะเล
เทพเจ้ากวนอู เสียเมืองเกงจิ๋ว และพ่ายแพ้ด้วยกลปิดฟ้าข้ามทะเล

     กลยุทธ์ปิดฟ้าข้ามทะเล หรือ หมานเทียนกว้อไห่ (Deceive the heavens to cross the ocean, 瞒天过海) เป็นกลยุทธ์ที่มีความหมายถึงการที่คิดหรือมองข้ามสิ่งใด ๆ ก็ตามที่คิดว่าตนเองนั้นได้ตระเตรียมไว้พร้อมสรรพแล้ว ก็มักจะมีความประมาทมองข้ามศัตรูไปอย่างง่ายดาย พบเห็นสิ่งใดที่มองเห็นเสมอในยามปกติ ก็ไม่เกิดความติดใจสงสัยในสิ่งนั้น เกิดความชะล่าใจในตนเอง การบุกเข้าโจมตีศัตรูโดยที่ศัตรูไม่รู้ตัวนับว่าเป็นการได้ชัยชนะมาแล้วครึ่งหนึ่ง สามารถเอาชนะได้อย่างง่ายดาย การปกปิดอำพรางซ่อนเร้น จึงเป็นกลยุทธ์ที่มีความสำคัญมากที่สุดในการทำศึกสงคราม ตัวอย่างการนำเอากลยุทธ์ปิดฟ้าข้ามทะเลไปใช้ได้แก่
  • ลิบอง ที่ลอบบุกเข้าโจมตีเกงจิ๋วโดยที่ กวนอู ไม่รู้ตัวแม้แต่น้อย
  • โจโฉ อุ่นสุราว่าด้วยวีรบุรุษ  เล่าปี่ แสร้งขี้ขลาดกลัวเสียงฟ้าร้อง
  • ขงเบ้ง อาศัยคืนเดือนมืดลวง โจโฉ  โจโฉ ถูกลวงเสียลูกเกาทัณฑ์เป็นแสน

กลยุทธ์ที่ 2 ล้อมเวยช่วยจ้าว

พญามังกร ขงเบ้งใช้กลล้อมเวยช่วยจ้าว เข้ายึดเมืองฮันต๋ง
ขงเบ้ง ใช้กลล้อมเวยช่วยจ้าว เข้ายึดเมืองฮันต๋ง

     กลยุทธ์ล้อมเวยช่วยจ้าว หรือ เหวยเวยจิ้วจ้าว (Besiege Wèi to rescue Zhào, 围魏救赵) เป็นกลยุทธ์ที่มีความหมายถึงการที่ศัตรูรวบรวมกำลังทหารและไพร่พลไว้เป็นจุดศูนย์กลางของกองทัพ ทำให้มีกำลังและความเข้มแข็งเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม ควรที่จะใช้กลยุทธ์ในการดึงแยกศัตรูให้แตกออกจากกัน เพื่อให้กำลังไพร่พลทหารกระจัดกระจาย คอยเฝ้าระวังและมีความห่วงหน้าพะวงหลังในการทำศึกสงครามแล้วจึงบุกเข้าโจมตี ตัวอย่างการนำเอากลยุทธ์ล้อมเวยช่วยจ้าวไปใช้ได้แก่
  • จูกัดเหลียง ที่หลอกให้ โจโฉ นำทัพไปทำศึกสงครามกับ ซุนกวน และนำทัพบุกเข้ายึดฮันต๋งจาก โจโฉ มาเป็นของตนได้สำเร็จ
  • โจโฉ เปิดศึกใหญ่กับอ้วนเสี้ยวที่กัวต๋อ  ลอบบุกอัวเจ๋าตีทัพ อ้วนเสี้ยว ยับเยิน

กลยุทธ์ที่ 3 ยืมดาบฆ่าคน

จิวยี่ยืมดาบฆ่าคน
จิวยี่ยืมดาบฆ่าคน

     กลยุทธ์ยืมดาบฆ่าคน หรือ เจี้ยเตาซาเหริน (Kill with a borrowed knife, 借刀杀人) เป็นกลยุทธ์ที่มีความหมายถึงการกำจัดศัตรูที่มีความเข้มแข็งและแข็งแกร่งในศึกสงคราม ไม่จำเป็นที่จะต้องลงมือจัดการด้วยตนเอง พึงยืมกำลังและไพร่พลทหารของผู้อื่นเป็นฝ่ายกำจัดศัตรูโดยไม่ต้องออกแรง เพื่อเป็นการรักษากำลังและไพร่พลทหารของตนเองไว้สำหรับการศึกอื่น ตัวอย่างการนำเอากลยุทธ์ยืมดาบฆ่าคนไปใช้ได้แก่
  • จิวยี่ ที่หลอกให้ โจโฉ ฆ่า ซัวมอ และ เตียวอุ๋น แม่ทัพเรือของตนเองในคราวศึกเซ็กเพ็ก จนทำให้ เรือรบ ถูกเผาพ่ายแพ้ย่อยยับ
  • โจโฉ คิดยืมดาบฆ่าคน  เล่าเปียว มีแผนเหนือกว่า
  • โจโฉ วางแผนจับ ลิโป้  เล่าปี่ ยืมดาบ โจโฉ ฆ่า ลิโป้

กลยุทธ์ที่ 4 รอซ้ำยามเปลี้ย

ลกซุนรอซ้ำวุย ที่กำลังเปลี้ย
ลกซุน รอซ้ำวุย ที่กำลังเปลี้ย

     กลยุทธ์รอซ้ำยามเปลี้ย หรือ อี่อี้ไต้เหลา (Substitute leisure for labour, 以逸待劳) เป็นกลยุทธ์ที่มีความหมายถึงการที่ศัตรูยังคงมีความเข้มแข็ง กำลังไพร่พลทหารยังคงแข็งแกร่งยากจะต่อสู้ก็ไม่ควรจะเข้าปะทะโดยตรงด้วยกำลังที่มีอยู่ แต่ยามใดที่ศัตรูเกิดความอ่อนแอในกองทัพเมื่อใด ต้องรีบฉวยโอกาสบุกเข้าโจมตีโดยเร็ว เพื่อเป็นการข่มขวัญและป้องกันไม่ให้ศัตรูกลับมาแข็งแกร่งดั้งเดิม กลยุทธ์รอซ้ำยามเปลี้ยเป็นการใช้ความสงบสยบความเคลื่อนไหว ให้ระยะเวลาเป็นการบั่นทอนกำลังและจิตใจของศัตรู ฉวยโอกาสพลิกสถานการณ์จากเดิมที่กลายเป็นรองหรือเสียเปรียบให้กลายเป็นฝ่ายได้เปรียบ ในสามก๊กยามเกิดศึกสงคราม กองทัพทุกกองทัพต่างใช้กลยุทธ์รอซ้ำยามเปลี้ยเพื่อหาโอกาสเหมาะในการบุกเข้าโจมตีศัตรูยามเพลี่ยงพล้ำอยู่ตลอดเวลา ตัวอย่างการนำเอากลยุทธ์รอซ้ำยามเปลี้ยไปใช้ได้แก่
  • ลกซุน ที่แนะนำ ซุนกวน ให้ช่วย พระเจ้าเล่าเสี้ยน นำกำลังทหารไปตีลกเอี๋ยง
  • เล่าปี่ ตั้งค่ายยาวร้อยลี้  ลกซุน ทลายค่าย เล่าปี่ ยับเยิน

กลยุทธ์ที่ 5 ตีชิงตามไฟ

ตั๋งโต๊ะ ตีชิงตามไฟ
ตั๋งโต๊ะ ตีชิงตามไฟ

      กลยุทธ์ตีชิงตามไฟ หรือ เชิ่นหว่อต่าเจี๋ย (Loot a burning house, 趁火打劫) เป็นกลยุทธ์ที่มีความหมายถึงการที่ศัตรูยังอยู่ในสถานการณ์ที่อ่อนแอและย่ำแย่ ควรรีบฉกฉวยโอกาสนำทัพเข้าโจมตีเพื่อให้ได้มาซึ่งชัยชนะ หรือมอบหมายให้แม่ทัพหรือทหารที่มีความเข้มแข็งนำทัพเข้าโจมตี ซึ่งเป็นการฉกฉวยเอาผลประโยชน์จากเหตุการณ์หรือสถานการณ์ที่ทวีความรุนแรงและยุ่งเหยิง นำความดีความชอบมาเป็นของตน ตัวอย่างการนำเอากลยุทธ์ตีชิงตามไฟไปใช้ได้แก่
  • ตั๋งโต๊ะ ที่ฉกฉวยโอกาสยึดเอาเมืองหลวงและราชสำนักของ พระเจ้าหองจูเหียบ มาเป็นของตน และแต่งตั้งตนเองเป็นมหาอุปราชและเป็นบิดาบุญธรรมของ พระเจ้าหองจูเปียน
  • เตียวหุย เมาโบยตีโจป้า  ลิโป้ ฉวยโอกาสยึดชีจิ๋ว
  • เตาอี้ ก่อให้เกิดไฟไหม้  จิวจี๋ จึงตีชิงตามไฟได้สบาย

กลยุทธ์ที่ 6 ส่งเสียงบูรพาฝ่าตีประจิม

ขงเบ้งใช้กลส่งเสียงบูรพาฝ่าตีประจิม ทะลายค่ายเฮ็กเจียว
ขงเบ้ง ใช้กลส่งเสียงบูรพาฝ่าตีประจิม ทะลายค่าย เฮ็กเจียว

      กลยุทธ์ส่งเสียงบูรพาฝ่าตีประจิม หรือ เซิงตงจีซี (Make a sound in the east, then strike in the west, 声东击西) เป็นกลยุทธ์ที่มีความหมายถึงการโจมตีศัตรู จะต้องเตรียมการและบุกโจมตีในจุดที่ศัตรูต่างคาดไม่ถึงเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ศัตรูวางแนวการตั้งรับได้ถูก โดยหลอกล่อศัตรูให้เกิดการหลงทิศกับการบุกโจมตีและนำกำลังทหารไปเฝ้าระวังผิดตำแหน่ง เกิดการหละหลวมต่อกำลังทหารและเปิดโอกาสให้สามารถเอาชนะได้โดยง่าย ตัวอย่างการนำเอากลยุทธ์ส่งเสียงบูรพาฝ่าตีประจิมไปใช้ได้แก่
  • จูกัดเหลียง ที่หลอกล่อ เฮ็กเจียว ให้เกิดความสับสนและหลงทิศในการนำกำลังทหารเฝ้าระวังการบุกเข้าโจมตีด่าน ตันฉอง
  • โจโฉ คิดส่งเสียงบูรพาตีฝ่าประจิม  กาเซี่ยง รู้ทันซ้อนกลโจโฉแตกยับ
  • สุมาอี้ ส่งเสียงบูรพาตีฝ่าประจิม  ถูก ขงเบ้ง ใช้กลซ้อนกลเสียหายหนัก

กลยุทธ์เผชิญศึก (ENEMY DEALING STRATAGEMS)

กลยุทธ์ที่ 7 มีในไม่มี

โจโฉใช้กลยุทธ์มีในไม่มีต่อกรกับลิโป้
โจโฉ ใช้กลยุทธ์มีในไม่มีต่อกรกับ ลิโป้

     กลยุทธ์มีในไม่มี หรือ อู๋จงเซิงโหย่ว (Create something from nothing, 无中生有) เป็นกลยุทธ์ที่มีความหมายถึงการใช้ภาพลวงในการหลอกล่อศัตรูเพียงครั้งคราวให้หลงเชื่อ แปรเปลี่ยนจากลวงเป็นจริงจากจริงเป็นลวง ทำให้ศัตรูเกิดความเข้าใจผิดคิดว่าการ "ลวง" ก็คือการ "หลอกหลวง" ที่ว่า "มืด" ก็กลายเป็น "เท็จ" แสงสว่างจากมืดน้อยย่อมทวีความมืดไปจนถึงมืดมาก จากมืดมากย่อมแปรเปลี่ยนกลับกลายเป็นสว่าง การใช้ภาพลวงเพื่อเสแสร้งปกปิดภาพจริง การผันผวนคำเท็จจากลวงให้กลายเป็นความจริง ในจริงมีเท็จ ในเท็จมีจริง ทำให้ในการทำศึกสงครามย่อมมีกลลวงข้อเท็จจริงสลับเป็นฟันปลากันอยู่เสมอ ตัวอย่างการทำเอากลยุทธ์มีในไม่มีไปใช้ได้แก่
  • จิวยี่ คิดลองใจ ขงเบ้ง  กลับถูกยั่วยุให้ร่วมรบ
  • โจโฉ ใช้อุบายหลอกทหาร  อองเฮา หัวขาดเพราะความซื่อ

กลยุทธ์ที่ 8 ลอบตีเฉินชาง

ตันฮกใช้กลยุทธ์ลอบตีเฉินชาง ชิงเมืองห้วนเสีย
ตันฮก ใช้กลยุทธ์ลอบตีเฉินชาง ชิงเมืองห้วนเสีย

     กลยุทธ์ลอบตีเฉินชาง หรือ อั้นตู้เฉินชาง (Openly repair the gallery roads, but sneak through the passage of Chencang, 暗渡陈仓) เป็นกลยุทธ์ที่มีความหมายถึงการใช้โอกาสที่ศัตรูตัดสินใจที่จะรักษาพื้นที่เขตแดนของตนไว้ และแสร้งทำเป็นนำกำลังทหารบุกเข้าโจมตีทางด้านหน้า แต่ลอบนำกำลังทหารบุกเข้าโจมตีในพื้นที่เขตแดนที่ศัตรูไม่ทันคาดคิดและสนใจวางแนวกำลังป้องกัน ในการศึกสงครามการใช้กลวิธีการวกวนลอบเข้าโจมตีย่อมเป็นฝ่ายได้เปรียบ สามารถบุกเข้าโจมตีศัตรูได้โดยที่ไม่ทันระวังตัวและเอาชนะมาเป็นของตนได้โดยง่าย ตัวอย่างการนำเอากลยุทธ์ลอบตีเฉินชางไปใช้ได้แก่
  • ตันฮก ที่ให้ กวนอู คุมทหารลอบเข้าบุกยึดห้วนเสีย ทำให้ โจหยิน ที่พ่ายแพ้ต้องหนีกลับฮูโต๋
  • จงโฮย ไม่ซ่อมทางเดินริมเขา  เตงงาย เสี่ยงตายเข้าเสฉวน
  • ขงเบ้ง ไปเซ่นศพจิวยี่  ที่แท้เพื่อหา บังทอง

กลยุทธ์ที่ 9 ดูไฟชายฝั่ง

กุยแก ดูไฟชายฝั่งเข้าตีกิจิ๋ว
กุยแก ดูไฟชายฝั่งเข้าตีกิจิ๋ว

     กลยุทธ์ดูไฟชายฝั่ง หรือ เก๋ออั้นกวนหว่อ (Watch the fires burning across the river, 隔岸观火) เป็นกลยุทธ์ที่มีความหมายถึงการใช้โอกาสที่ศัตรูเกิดการแตกแยก วุ่นวายและปั่นป่วนอย่างหนักภายในกองทัพ พึงรอจังหวะให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างสงบ จับตาดูความเคลื่อนไหวของศัตรูทุกฝีก้าว ถ้าศัตรูเกิดความระแวงและใช้กำลังเข้าห้ำหั่นกันเอง เกิดการเข่นฆ่าแย่งชิงความเป็นใหญ่ แนวโน้มความพินาศและวอดวายก็จะเกิดขึ้นภายในกองทัพ ในช่วงระยะเวลานี้มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปฏิบัติตนให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของศัตรู เตรียมความพร้อมในกองทัพไว้ล่วงหน้า ช่วงชิงชัยชนะมาเป็นของตนโดยใช้การเปลี่ยนแปลงโดยฉับพลันของศัตรูให้เป็นประโยชน์ ตัวอย่างการนำเอากลยุทธ์ดูไฟชายฝั่งไปใช้ได้แก่
  • กุยแก ให้แผนพิชิตเลียวตั๋งก่อนตาย  โจโฉ นั่งบนภูดูเสือกัดกัน
  • โจโฉ ตีเสมอเหี้ยนเต้  เล่าปี่ ดูไฟชายฝั่ง

กลยุทธ์ที่ 10 ซ่อนดาบในรอยยิ้ม

ชีฮูหยิน สตรีผู้ซ่อนดาบในรอยยิ้ม
ชีฮูหยิน สตรีผู้ซ่อนดาบในรอยยิ้ม

     กลยุทธ์ซ่อนดาบในรอยยิ้ม หรือ เสี้ยวหลี่ฉางเตา (Hide a knife behind a smile, 笑里藏刀) เป็นกลยุทธ์ที่มีความหมายถึงการหลอกให้ศัตรูหลงเชื่อถึงความสงบ ไม่ให้ล่วงรู้ถึงความเคลื่อนไหวใด ๆ ของกองทัพ ทำให้ศัตรูเกิดความสงสัยและเกิดความสงบไม่เคลื่อนไหวในกองทัพเช่นกัน ทำให้เกิดความคิดที่มึนชาขึ้น และฉวยโอกาสเตรียมการเป็นความลับ เฝ้าคอยระวังมิให้ศัตรูล่วงรู้ความลับหรือรู้ตัว รอคอยโอกาสเพื่อจะจู่โจมโดยฉับพลันอันจะทำให้สถานการณ์เกิดการเปลี่ยนแปลง เป็นการแสร้งทำเป็นมิตรแต่แท้จริงจ้องหาโอกาสจะกำจัดศัตรูอยู่ตลอดเวลา ตัวอย่างการนำเอากลยุทธ์ซ่อนดาบในรอยยิ้มไปใช้ได้แก่
  • ชีฮูหยิน ภรรยาของ ซุนเซียง น้องสะใภ้ของซุนกวนที่วางแผนลอบฆ่า อิหลำ ที่คิดข่มเหงตนเองเป็นภรรยาด้วยรอยยิ้มประดุจยินดีจะมีสามีใหม่
  • แผนซ่อนดาบในรอยยิ้มลวงข้าศึก  ขุนพลเฒ่าวางแผนล่มกังตั๋ง
  • ลกซุน แสร้งนอบน้อม กวนอู กวนอูหลงกลเสียเกงจิ๋ว

กลยุทธ์ที่ 11 หลี่ตายแทนถาว

อองเฮาผู้ตายแทน
อองเฮา ผู้ตายแทน

     กลยุทธ์หลี่ตายแทนถาว หรือ หลี่ไต้เถาเจียง (Sacrifice the plum tree to preserve the peach tree, 李代桃僵) เป็นกลยุทธ์ที่มีความหมายถึงการใช้ประโยชน์จากสถานการณ์ที่เสียบเปรียบในศึกสงคราม ซึ่งไม่เป็นผลดีแก่ตนเองและกองทัพ เกิดความเสียหายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพื่อที่จะแปรเปลี่ยนจากสถานการณ์ที่เป็นฝ่ายเสียเปรียบให้เป็นการได้เปรียบ จำต้องยินยอมเสีย "มืด" เพื่อที่จะได้ประโยชน์จาก "สว่าง" ซึ่งหมายความถึงการจะได้ประโยชน์จากการเสียเปรียบในสถานการณ์ขับคัน จำต้องเสียสละส่วนหนึ่งส่วนใดของกองทัพหรือของตน เสียค่าตอบแทนเพียงเล็กน้อยเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนกับชัยชนะในทุก ๆ ด้าน ตัวอย่างการนำเอากลยุทธ์หลี่ตายแทนถาวไปใช้ได้แก่
  • โจโฉ ที่ยอมเสียหัวของ อองเฮา นายทหารชั้นผู้น้อย เพื่อแลกกับขวัญและกำลังของทหารทั้งกองทัพ
  • โจโฉ ยอมเสียกั้นหยั่นแลกชีวิต  ฆ่าผู้มีพระคุณเพราะความระแวง
  • สุมาเจียว ให้หลี่ตายแทนเถา  เซงเจ กลับกลายเป็นแพะรับบาป 

กลยุทธ์ที่ 12 จูงแพะติดมือ

ขงเบ้งยืมลูกเกาฑัณฑ์ ด้วยกลจูงแพะติดมือ
ขงเบ้ง ยืมลูกเกาฑัณฑ์ ด้วยกลจูงแพะติดมือ

     กลยุทธ์จูงแพะติดมือ หรือ ซุ่นโส่วเชียนหยาง (Take the opportunity to pilfer a goat, 顺手牵羊) เป็นกลยุทธ์ที่มีความหมายถึงการใช้ความประมาทเลินเล่อของศัตรูเพียงเล็กน้อยให้เป็นประโยชน์ เมื่อพบเห็นโอกาสให้รีบฉกฉวยมาเป็นของตน แม้จะเป็นเพียงชัยชนะที่เล็กน้อยก็ตาม แต่เมื่อเป็นประโยชน์แก่กองทัพจำต้องช่วงชิงมาเป็นของตนให้ได้ ตัวอย่างการนำเอากลยุทธ์จูงแพะติดมือไปใช้ได้แก่
  • จูกัดเหลียง ที่หลอกเอาลูกเกาฑัณฑ์จำนวนมากจาก โจโฉ ตามคำสั่งของ จิวยี่ ที่สั่งให้ จูกัดเหลียง ทำลูกเกาฑัณฑ์จำนวนสิบหมื่นให้เสร็จภายในระยะเวลาสามวัน เพื่อหาทางกำจัด จูกัดเหลียง ด้วยความอิจฉาริษาที่มีความฉลาดหลักแหลม รู้เท่าทันแผนการของตนเองตลอดเวลา
  • ซุนเกี๋ยน โชคดีได้ตราหยกคู่แผ่นดิน  เล่าเปียว ดักกลางทางคิดชิงตราหยก
  • จิวยี่ ใช้อุบายตีทัพ โจโฉ กระเจิง  เล่าปี่ ได้สามเมืองติดมือแทน จิวยี่

กลยุทธ์เข้าตี (ATTACKING STRATAGEMS)

กลยุทธ์ที่ 13 ตีหญ้าให้งูตื่น

ขงเบ้งตีหญ้าให้งูตื่น
ขงเบ้งตีหญ้าให้งูตื่น

     กลยุทธ์ตีหญ้าให้งูตื่น หรือ ต๋าเฉ่าจิงเสอ (Startle the snake by hitting the grass around it, 打草惊蛇) เป็นกลยุทธ์ที่มีความหมายถึงการที่มีสิงใดพึงสงสัย ผิดแผกไปจากเดิม ควรจักส่งคนไปทำการสอดแนมให้รู้ชัดแจ้งเพื่อเป็นการกุมสภาพศัตรูเอาไว้ เมื่อได้ข่าวคราวศัตรูแล้วจึงนำกำลังทหารบุกเข้าโจมตีให้พ่ายแพ้ย่อยยับ เรียกว่า "สงสัยพึงแจ้ง สังเกตจึงเคลื่อน" คัมภีร์อี้จิงกล่าวว่า "ใช้มรรควิธีเดิมกลับไปมา 7 วัน เมื่อละเอียดแล้วจึงเข้าใจสิ่งนั้นได้ หากศัตรูสงบนิ่งก็พึงสร้างสถานการณ์ให้ศัตรูเคลื่อนไหวเพื่อให้เกิดช่องโหว่ จากนั้นจึงหาโอกาสเอาชัย" ตัวอย่างการนำเอากลยุทธ์ตีหญ้าให้งูตื่นไปใช้ได้แก่
  • จูกัดเหลียง ที่ต้องการดูชั้นเชิงกองกำลังทหาร โจโฉ เมื่อคราว เล่าปี่ นำกำลังทหารไปตีฮันต๋ง
  • ขงเบ้ง จงใจตีหญ้า  โจโฉ จำใจถอยทัพ
  • เล่าปี่ ตีหญ้าให้งูตื่นที่กังตั๋ง  จิวยี่ เสียฮูหยินซ้ำเสียรี้พล

กลยุทธ์ที่ 14 ยืมซากคืนชีพ

ขงเบ้งยืมซากคืนชีพ หลอกสุมาอี้
ขงเบ้งยืมซากคืนชีพ หลอกสุมาอี้

      กลยุทธ์ยืมซากคืนชีพ หรือ เจี้ยซือหวนหุน (Borrow a corpse to resurrect the soul, 借尸还魂) เป็นกลยุทธ์ที่มีความหมายถึงการที่ผู้ที่มีความสามารถและมีบทบาทในหน้าที่ต่าง ๆ จะใช้ความสามารถนั้นในการปฏิบัติหน้าที่อย่างผลีผลามไม่ได้ ส่วนผู้ที่ไร้ซึ่งความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่ ก็มักจะขอความช่วยเหลืออยู่เป็นนิจ การที่ใช้ผู้ที่ไร้ซึ่งความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่ มิใช่เป็นการที่จะมอบหมายหน้าที่ให้ปฏิบัติ หากแต่เป็นเพราะผู้ที่ไร้ซึ่งความสามารถต้องการความพึ่งพายามต้องการความช่วยเหลือ ตัวอย่างการนำเอากลยุทธ์ยืมซากคืนชีพไปใช้ได้แก่
  • จูกัดเหลียง ที่ให้นำเมล็ดข้าวสารใส่ไว้ในปากเพื่อเป็นการรักษาดาวสำหรับต่ออายุ และหลอกทหาร สุมาอี้ ให้หลงชื่อว่ายังมีชีวิตอยู่ สุมาอี้ หลงกลคิดว่าตนหัวขาด
  • โจผี พี่ชายให้แต่งโคลงจบในเจ็ดก้าว  โคลงเจ็ดก้าวจบ โจสิด น้องชายรอดตาย

กลยุทธ์ที่ 15 ล่อเสือออกจากถ้ำ

อ้องอุ้น ใช้กลยุทธ์ล่อเสือตั๋งโต๊ะ ออกจากถ้ำไปสังหาร
อ้องอุ้น ใช้กลยุทธ์ล่อเสือตั๋งโต๊ะ ออกจากถ้ำไปสังหาร

     กลยุทธ์ล่อเสือออกจากถ้ำ หรือ เตี้ยวหู่หลีซาน (Entice the tiger to leave its mountain lair, 调虎离山) เป็นกลยุทธ์ที่มีความหมายถึงการที่ใช้ภาพลวงที่จงใจสร้างขึ้นเพื่อหลอกล่อให้ศัตรูเกิดความประมาท ชะล่าใจในการทำศึกสงคราม ละทิ้งแนวฐานการป้องกันของกองทัพซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ ฉกฉวยจังหวะและโอกาสที่ศัตรูเกิดความอ่อนแอหลงเชื่อในภาพลวงที่สร้างขึ้น นำกำลังบุกเข้าโจมตีหรือทำลายเสียให้สิ้นซากช่วงชิงชัยชนะมาเป็นของตน ดั่งคำกล่าวว่า "อันธรรมดาเสือเมื่ออยู่ในถ้ำย่อมอันตราย จะจับเสือได้ก็ต่อเมื่อล่อให้มาตกในหลุมพรางที่ดักไว้" ตัวอย่างการนำเอากลยุทธ์ล่อเสือออกจากถ้ำไปใช้ได้แก่
  • อ้องอุ้น ที่ใช้กลยุทธ์สาวงามทำให้ ตั๋งโต๊ะ ผิดใจกับ ลิโป้ และลวงไปฆ่าในวังหลวง
  • ขงเบ้ง ล่อสุมาอี้ออกจากถ้ำ  สุมาอี้ รอดตายจากไฟคลอก
  • กวนอู ถูกล่อเสียเมืองแห้ฝือ  จำใจยอมอยู่กับ โจโฉ ชั่วคราว

กลยุทธ์ที่ 16 แสร้งปล่อยเพื่อจับ

ขงเบ้งแสร้งปล่อยเบ้งเฮ็กแล้วจับถึง 7 ครั้ง
ขงเบ้ง แสร้งปล่อย เบ้งเฮ็ก แล้วจับถึง 7 ครั้ง

     กลยุทธ์แสร้งปล่อยเพื่อจับ หรือ อวี้ฉินกู้จ้ง (In order to capture, one must let loose, 欲擒故纵) เป็นกลยุทธ์ที่มีความหมายถึงการใช้สติปัญญาในการวางแผน การจับเชลยศึกสงครามได้นั้นถ้าหากบีบคั้นจนเกินไปจนไม่สามารถรีดเอาความต่าง ๆ ได้ เปรียบประหนึ่ง "สุนัขที่จนตรอก ย่อมต่อสู้จนสุดชีวิต" การปล่อยศัตรูให้เป็นฝ่ายหลบหนีก็จักเป็นการทำลายขวัญและกำลังใจ ความเหิมเกริมของศัตรูได้ การปล่อยศัตรูหลบหนีจะต้องนำกำลังไล่ติดตามอย่าลดละ เพื่อเป็นการบั่นทอนกำลังทหารของศัตรูให้อ่อนแรง กะปลกกะเปลี้ยน ครั้นเมื่อหมดสิ้นเรี่ยวแรง มิได้มีใจคิดต่อสู้ด้วยก็จะยอมจำนนสวามิภักดิ์ เมื่อนั้นจึงจับเอาเป็นเชลยได้โดยง่าย ซึ่งเป็นการทำศึกสงครามที่ไม่เสียเลือดเนื้อและกำลังทหาร อีกทั้งยังเป็นเหตุให้ศัตรูแตกพ่ายยับเยินไปเอง ตัวอย่างการนำเอากลยุทธ์แสร้งปล่อยเพื่อจับไปใช้ได้แก่
  • จูกัดเหลียง ที่ทำศึกสงครามกับ เบ้งเฮ็ก เมื่อจับได้เป็นเชลยก็ปล่อยตัวเสียเพื่อให้ เบ้งเฮ็ก ไปรวบรวมผู้คนมาต่อสู้อีกครั้ง จนกระทั่งยอมแพ้และสวามิภักดิ์ต่อ จูกัดเหลียง

กลยุทธ์ที่ 17 โยนกระเบื้องล่อหยก

กลยุทธ์โยนกระเบื้องล่อหยก ได้เกียงอุยเป็นขุนพล
กลยุทธ์โยนกระเบื้องล่อหยก ได้ เกียงอุย เป็นขุนพล

     กลยุทธ์โยนกระเบื้องล่อหยก หรือ เพาจวนอิ่วอวี้ (Tossing out a brick to get a jade gem, 抛砖引玉) เป็นกลยุทธ์ที่มีความหมายถึงการใช้สิ่งใดที่มีความคล้ายคลึงกันในการหลอกล่อศัตรู ให้ศัตรูเกิดความสับสนและต้องกลอุบายแตกพ่ายไป การใช้กลยุทธ์โยนกระเบื้องล่อหยกนี้ เป็นกลยุทธ์ที่กำหนดขึ้นตามสภาพรูปธรรมของศัตรู ในยามทำศึกสงครามเมื่อได้รบพุ่งกับศัตรู แม่ทัพหรือขุนศึกฝ่ายตรงข้ามมีแต่ความโง่เง่า มิรู้จักการพลิกแพลงกลยุทธ์ในเชิงรบ จักหลอกล่อด้วยผลประโยชน์ อำนาจวาสนา ถ้าศัตรูหลงในลาภยศต่าง ๆ มิรู้ผลร้าย ขาดการไตร่ตรองใคร่ครวญในกลอุบาย ก็สามารถลอบซุ่มทหารโจมตีเอาชนะมาเป็นของตนได้โดยง่าย ตัวอย่างการนำเอากลยุทธ์โยนกระเบื้องล่อหยกไปใช้ได้แก่
  • จูกัดเหลียง ที่พึงพอใจฝีมือ เกียงอุย จึงอยากได้ตัวไว้ จึงยอมเสีย แฮหัวหลิม ซึ่งมีตำแหน่งเป็นถึงบุตรเขยของ โจยอย เพียงเพื่อให้ได้มาซึ่งนายทหารที่มีสติปัญญาเป็นเลิศ
  • เตียวหุย โยนกระเบื้องที่อวนเทาก๋วน  รบชนะ เตียวคับ ได้หยกงามมา
  • เตียวหุย โยนกระเบื้องล่อหยก  เงียมหงัน ยอมสวามิภักดิ์ด้วย

กลยุทธ์ที่ 18 จับโจรเอาหัวโจก

สุมาอี้ต้องกล จับโจรเอาหัวโจก
สุมาอี้ ต้องกล จับโจรเอาหัวโจก

     กลยุทธ์จับโจรเอาหัวโจก หรือ ฉินเจ๋ยฉินหวาง (Defeat the enemy by capturing their chief, 擒贼擒王) เป็นกลยุทธ์ที่มีความหมายถึงการทำศึกสงคราม จักต้องบุกเข้าโจมตีศัตรูในจุดที่เป็นจุดยุทธศาสตร์ของกองทัพ เพื่อสลายกำลังของศัตรูให้แตกกระจาย ศัตรูที่มีแม่ทัพฝีมือดีในการทำศึกสงครามย่อมเป็นขวัญและกำลังใจของเหล่าทหาร การวางแผนใช้กลอุบายหลอกล่อเอาชนะแม่ทัพที่มีฝีมือในเชิงยุทธ์ที่เก่งกาจ จักให้ต้องกลอุบายที่สับสน หลอกล่อให้หลงทิศและขจัดไปเสียให้พ้น เสมือน "มังกรสู้บนปฐพี ก็อับจนหมดหนทาง" ซึ่งเปรียบประหนึ่งดุจมังกรในท้องทะเล อาจหาญขึ้นมาต่อสู้กับศัตรูบนผืนแผ่นดิน ก็ย่อมได้รับความปราชัยแก่ศัตรูได้โดยง่าย ตัวอย่างการนำเอากลยุทธ์จับโจรเอาหัวโจกไปใช้ได้แก่
  • จูกัดเหลียง ที่มีความกริ่งเกรงต่อ สุมาอี้ ในการทำศึกสงครามกับวุยก๊กจึงวางกลอุบายขจัด สุมาอี้ ซึ่งเมื่อปราศจาก สุมาอี้ แล้ว จูกัดเหลียง ก็ไม่เกรงกลัวต่อความยิ่งใหญ่ของ อาณาจักร วุยก๊กอีกต่อไป
  • โลซก วางแผนฆ่า กวนอู  กวนอู ไม่หวาดหวั่นพรั่นพรึง
  • ม้าเฉียว ไล่จับ โจโฉ ที่ตงก๋วน  โจโฉ ถอดเกราะตัดหนวดรอดไปได้

กลยุทธ์ติดพัน (CHAOS STRATAGEMS)

กลยุทธ์ที่ 19 ถอนฟืนใต้กระทะ

เตงงายโดนกลถอนฟืนใต้กระทะของเกียงอุย
เตงงาย โดนกลถอนฟืนใต้กระทะของ เกียงอุย

     กลยุทธ์ถอนฟืนใต้กระทะ หรือ ฝูตี่โชวซิน (Remove the firewood under the cooking pot, 釜底抽薪) เป็นกลยุทธ์ที่มีความหมายถึงการพิเคราะห์เปรียบเทียบกำลังของศัตรูในการทำศึกสงคราม ถ้ากองทัพมีน้อยกว่าควรพึงหาทางบั่นทอนขวัญและกำลังใจ ความฮึกเหิมของศัตรูให้ลดน้อยถอยลง คัมภีร์อี้จิงกล่าวว่า "ดุจฟ้าอยู่เหนือน้ำ" โดยคำว่า "น้ำ" หมายถึงความแข็งแกร่ง คำว่า "ฟ้า" หมายถึงความอ่อนแอ เมื่อรวมกันแล้ว "ดุจฟ้าอยู่เหนือน้ำ" หมายความถึงความอ่อนชนะความแข็ง คือการพึงใช้วิธีอ่อนพิชิตแข็ง ฉกฉวยจังหวะและโอกาสในการทำลายกองทัพส่วนหนึ่งของศัตรูให้แตกพ่ายย่อยยับในภายหลัง ตัวอย่างการนำเอากลยุทธ์ถอนฟืนใต้กระทะไปใช้ได้แก่
  • เกียงอุย ที่วางกลอุบายให้ พระเจ้าโจฮวน หลงเชื่อว่า เตงงาย คิดหมายตั้งตนเองเป็นใหญ่และสั่งให้จับไปฆ่า
  • เทียหยก ใช้สติปัญญาให้โจโฉ  หลอก ชีซี ให้จำใจทิ้งเล่าปี่
  • ขงเบ้ง วางแผนสยบม้าเฉียว  ม้าเฉียว ได้เจ้านายยอดคน

กลยุทธ์ที่ 20 กวนน้ำจับปลา

อ้วนเสี้ยวกวนน้ำจับปลาหลอกกองซุนจ้าน
อ้วนเสี้ยว กวนน้ำจับปลาหลอก กองซุนจ้าน

     กลยุทธ์กวนน้ำจับปลา หรือ หุนเสว่ยออวี๋ (Catch a fish while the water is disturbed, 混水摸鱼) เป็นกลยุทธ์ที่มีความหมายถึงการรู้จักฉกฉวยจังหวะที่ศัตรูเกิดความปั่นป่วนภายในกองทัพให้เป็นประโยชน์ แย่งยึดเอาผลประโยชน์นั้นมาเป็นของตน นำกำลังทหารบุกเข้าโจมตีเพื่อให้ได้มาซึ่งชัยชนะ การเอาชัยชนะจากศัตรูโดยอาศัยความปั่นปวนภายในกองทัพ เป็นดุจดั่งพายุฝนที่พัดกระหน่ำในยามค่ำคืน ภูมิประเทศที่ต่ำกว่าก็จักขังน้ำฝนไว้เป็นแอ่ง ธรรมชาติของมนุษย์เมื่อสัมผัสกับไอเย็นและละอองฝนจักเข้าสู่ห้วงนิทรา การเฝ้าระวังเวรยามย่อมหละหลวม กองกำลังป้องแนวสำคัญย่อมเพิกเฉยต่อหน้าที่ ทำให้สามารถบุกเข้าโจมตียึดครองได้โดยง่าย ตัวอย่างการนำเอากลยุทธ์กวนน้ำจับปลาไปใช้ได้แก่
  • อ้วนเสี้ยว ที่วางกลอุบายหลอกใช้ กองซุนจ้าน ในการนำกองกำลังทหารบุกร่วมเข้าโจมตียึดเอากิจิ๋วจาก ฮันฮก
  • โจผี ฉวยโอกาสเข้าจวนอ้วนเสี้ยว  กวนน้ำจับปลาได้สาวงามมาครอง
  • จิวยี่ วางแผนรบเสียทีเล่าปี่ที่ลำกุ๋น  ขงเบ้ง ฉวยโอกาสยึดสามเมืองได้สบาย

กลยุทธ์ที่ 21 จักจั่นลอกคราบ

จักจั่นลอกคราบ โดยขงเบ้ง
จักจั่นลอกคราบ โดย ขงเบ้ง

     กลยุทธ์จักจั่นลอกคราบ หรือ จินฉานทวอเชี่ยว (Slough off the cicada's golden shell, 金蝉脱壳) เป็นกลยุทธ์ที่มีความหมายถึงการรักษาไว้ซึ่งตามแบบแผนการจัดแนวรบในรูปแบบเดิม ให้แลดูสง่าและน่าเกรงขาม เป็นการหลอกล่อไม่ให้ศัตรูเกิดความสงสัย ไม่กล้าผลีผลามนำกำลังทหารบุกเข้าโจมตี เมื่อรักษาแนวรบไว้เป็นตั้งมั่นแล้วจึงแสร้งถอยทัพอย่างปกปิด เคลื่อนกำลังทหารให้หลบหลีกไป คัมภีร์อี้จิงกล่าวว่า "เลี่ยงเพื่อสลายลวง" โดยคำว่า "เลี่ยง" หมายถึงการหลบหลีก คำว่า "ลวง" หมายถึงการทำให้เกิดความสับสนงงงวย เมื่อรวมกันแล้ว "เลี่ยงเพื่อสลายลวง" หมายความถึงการหลบหลีกโดยมิให้ผู้ใดล่วงรู้ ซึ่งนับว่าเป็นกลยุทธ์ในการถอยทัพโดยไม่เกิดความกระโตกกระตาก เพื่อให้บรรลุยังเป้าหมายที่ได้กำหนดไว้ หรือเป็นการหลีกเลี่ยงความสูญเสียเลือดเนื้อหรือการปะทะที่อาจเกิดขึ้นในกองทัพ ตัวอย่างการนำเอากลยุทธ์จักจั่นลอกคราบไปใช้ได้แก่
  • จูกัดเหลียง ที่วางกลอุบายอำพรางการถอยทัพกลับ จ๊กก๊ก ในการบุกวุยก๊กครั้งที่ 5 โดยไม่ให้ สุมาอี้ ล่วงรู้และนำกำลังทหารติดตามมา
  • ขงเบ้ง ใช้แผนล่อสุมาอี้ออกจากรัง  สุมาอี้ ลอกคราบรอดตายหวุดหวิด
  • จิวยี่ วางแผนคิดฆ่าขงเบ้งตลอดเวลา  ขงเบ้ง จักจั่นลอกคราบหนีตายอีกครั้ง

กลยุทธ์ที่ 22 ปิดประตูจับโจร

ลิบอง ผู้ปิดประตูจับโจร
 ลิบอง ผู้ปิดประตูจับโจร

     กลยุทธ์ปิดประตูจับโจร หรือ กวนเหมินจวอเจ๋ย (Shut the door to catch the thief, 关门捉贼) เป็นกลยุทธ์ที่มีความหมายถึงเมื่อต้องเผชิญหน้ากับศัตรูที่มีความอ่อนแอแลด้วยจำนวนที่น้อยนิด พึงตีโอบล้อมแล้วบุกทำลายเสียให้สิ้นซาก เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เป็นภัยต่อไปในภายหลัง คัมภีร์อี้จิ้งกล่าวว่า "ปล่อยมิเป็นคุณซึ่งติดพัน" โดยคำว่า "ปล่อย" หมายความถึงการแตกกระจายออกเป็นกองเล็กกองน้อยของศัตรู พละกำลังย่อมอ่อนเปลี้ย ไร้สมรรถนะ เสียขวัญและกำลังใจในการต่อสู้ คำว่า "ติดพัน" หมายความถึงการติดตามไล่ล่าอย่างไม่ลดละทั้งระยะทางใกล้หรือไกล ซึ่งคำว่า "มิเป็นคุณติดพัน" ก็คือเมื่อแม้นศัตรูจะแตกออกเป็นกองเล็กกองน้อย หากในการทำศึกสงครามแล้วปล่อยให้หลบหนีไปได้ด้วยเหตุอันใดก็ตาม แม้จะเป็นเพียงกองเล็ก ๆ แต่อาจนำภัยหวนย้อนกลับมาสร้างความยุ่งยากได้ในภายหลังจนต้องไล่ติดตามเพื่อทำลายเสีย เช่นนี้มิเป็นประโยชน์ในการทำศึกสงคราม ตัวอย่างการนำเอากลยุทธ์ปิดประตูจับโจรไปใช้ได้แก่
  • ลิบอง ที่วางกลอุบายดักจับ กวนอู และ กวนเป๋ง ที่นำกำลังทหารหวนกลับมาตีเกงจิ๋วคืน หลังจาก กวนอู พลาดท่าเสียทีให้แก่ ซุนกวน
  • กวนอู ทดน้ำท่วมเจ็ดทัพ  อิกิ๋ม แม่ทัพตกเป็นเชลย
  • โจโฉ ปิดประตูเมืองแห้ฝือ  ลิโป้ สิ้นชื่อบนเชิงเทิน

กลยุทธ์ที่ 23 คบไกลตีใกล้

เล่าปี่ช่วยซุนกวนด้วยอุบายคบไกลตีใกล้
เล่าปี่ ช่วย ซุนกวน ด้วยอุบายคบไกลตีใกล้

     กลยุทธ์คบไกลตีใกล้ หรือ เหวี่ยนเจียวจิ้นกง (Befriend a distant state while attacking a neighbour, 远交近攻) เป็นกลยุทธ์ที่มีความหมายถึงเมื่อถูกจำกัดโดยสภาพภูมิศาสตร์ ควรจักตีเอาศัตรูที่อยู่ในบริเวณใกล้ตัวจึงจะเป็นประโยชน์ การบุกโจมตีศัตรูที่อยู่ห่างไกลออกไป จักกลายเป็นผลร้ายแก่กองทัพ คัมภีร์อี้จิงกล่าวว่า "เปลวไฟลอยขึ้น น้ำบึงไหลลง บุรุษจักร่วมกันเพราะความผิดแผก" หมายความถึงในการหยิบยื่นไมตรีเพื่อผูกมิตรสัมพันธ์นั้น แม้นความคิดเห็นแต่ละฝ่ายอาจไม่ตรงกัน ก็สามารถที่จะยุติความขัดแย้ง และสามารถที่จะจับมือร่วมกันทำศึกสงครามได้ในชั่วระยะเวลาหนึ่ง ดังนั้นเมื่อต้องเผชิญหน้ากับศัตรูแม้ใกล้ไกล พึงมีนโยบายที่แตกต่างกัน ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่ผูกมิตรกับแคว้นไกลเพื่อเอาชัยชนะต่อแคว้นใกล้อย่างหนึ่ง ตัวอย่างการนำเอากลยุทธ์คบใกล้ตีไกลไปใช้ได้แก่
  • จูกัดเหลียง แนะอุบายให้ เล่าปี่ ยื่นมือเข้าช่วยเหลือ กังตั๋ งของ ซุนกวน ให้รอดพ้นจากเงื้อมมือการบุกโจมตีของ โจโฉ
  • โจโฉ คบกับ ลิโป้ ต้าน เตียวสิ้ว  หันอิ้น ตายเพราะทำงานไม่เสร็จ
  • เล่าปี่ ยกทัพแก้แค้นให้ กวนอู  กังตั๋ง คบ โจผี เพื่อสู้กับ เล่าปี่

กลยุทธ์ที่ 24 ยืมทางพรางกล

จิวยี่โดนยืมทางพรางกล
จิวยี่ โดนยืมทางพรางกล

     กลยุทธ์ยืมทางพรางกล หรือ เจี่ยเต้าฝากว๋อ (Obtain safe passage to conquer the State of Guo, 假道伐虢) เป็นกลยุทธ์ที่มีความหมายถึงการทำศึกสงคราม ประเทศเล็กที่ตั้งอยู่ในระหว่างประเทศใหญ่สองประเทศ เมื่อถูกศัตรูบีบบังคับให้ยอมแพ้ด้วยความจำใจ ยอมสยบอยู่ภายใต้อำนาจ ถูกกดขี่ข่มเหงก็ควรจะให้การช่วยเหลือโดยฉับพลัน เพื่อให้ประเทศเล็กที่ถูกข่มเหงรังแก มีความเชื่อถือต่อประเทศที่ยอมช่วยเหลือประเทศที่ตกอยู่ภายใต้ความยากลำบาก หากการช่วยเหลือแต่เพียงการเจรจามิได้มีการกระทำที่แท้จริง ย่อมจะไม่ได้รับความไว้วางใจจากผู้ที่เฝ้ารอคอยรับความช่วยเหลือ ตัวอย่างการนำเอากลยุทธ์ยืมทางพรางกลไปใช้ได้แก่
  • จูกัดเหลียง ที่รู้เท่าทันการวางกลอุบายของจิวยี่ที่คิดยืมทางเพื่อไปตีเสฉวน และฉวยโอกาสฆ่าเล่าปี่ที่บิดพลิ้วไม่ยอมคืนเกงจิ๋วให้แก่ ซุนกวน
  • เล่าปี่ ยืมทางเพื่อยึดเสฉวน  เล่าเจี้ยง ผิดแผนเสียเอ๊กจิ๋ว
  • โลซก ไปทวงเกงจิ๋วคืนจากเล่าปี่  จิวยี่ ถูกซ้อนกลแตกทัพกระเจิง

กลยุทธ์ร่วมรบ (PROXIMATE STRATAGEMS)

กลยุทธ์ที่ 25 ลักขื่อเปลี่ยนเสา

เทียหยกใช้อุบายลักขื่อเปลี่ยนเสา
เทียหยก ใช้อุบายลักขื่อเปลี่ยนเสา

     กลยุทธ์ลักขื่อเปลี่ยนเสา หรือ โทวเหลียงห้วนจวู้ (Replace the beams with rotten timbers, 偷梁换柱) เป็นกลยุทธ์ที่มีความหมายถึงการต่อกำลังที่ร่วมทำศึกด้วยหรือต่อศัตรู จักต้องหาหนทางเปลี่ยนแปลงการจัดเตรียมแนวรบของศัตรูอยู่เสมอ การถอดถอนเคลื่อนย้ายจุดยุทศาสตร์และกองกำลังสำคัญของศัตรูไป รอให้ศัตรูเกิดความอ่อนแอเสียขวัญและกำลังใจ ประสบกับความพ่ายแพ้ จึงฉกฉวยโอกาสพลิกสถานการณ์ที่ศัตรูเกิดความย่ำแย่ให้เป็นประโยชน์แก่ตน นำกำลังบุกเข้าโจมตียึดครองและควบคุมกองทัพของศัตรูไว้ภายใต้การบังคับบัญชาเพื่อประโยชน์ต่อไปในภายหน้า ตัวอย่างการนำเอากลยุทธ์ลักขื่อเปลี่ยนเสาไปใช้ได้แก่
  • เทียหยก ที่วางกลอุบายหลอกเอาตัว ตันฮก มาจากเล่าปี่เพื่อให้เป็นที่ปรึกษาแก่โจโฉ ภายหลังที่ตันฮกวางกลอุบายซุ่มโจมตีกองทัพของโจหยินจนแตกพ่ายยับเยิน
  • เตียวสิ้ว ใช้อุบายล้อมค่าย  เตียนอุย ตายแทนโจโฉ
  • ขงเบ้ง ลักขื่อเปลี่ยนเสา  ได้ตัว เกียงอุย มาช่วยเล่าปี่

กลยุทธ์ที่ 26 ชี้ต้นหม่อนด่าต้นไหว

สุมาอี้ ชี้ต้นหม่อนด่าต้นไหว
สุมาอี้ ชี้ต้นหม่อนด่าต้นไหว

     กลยุทธ์ชี้ต้นหม่อนด่าต้นไหว หรือ จวื่อซ่างม่าไหว (Point at the mulberry tree while cursing the locust tree, 指桑骂槐) เป็นกลยุทธ์ที่มีความหมายถึงเมื่อฝ่ายที่มีความเข้มแข็งมากกว่า หรือแคว้นที่มีกองกำลังทหารภายใต้สังกัดมากมาย ข่มเหงรังแกแคว้นเล็กหรือผู้ที่มีกำลังทหารน้อยกว่า ควรที่จะใช้วิธีการตักเตือนให้เกิดความเกรงกลัวและยำเกรง แม้นหากแสดงความเข้มแข็งให้ได้ประจักษ์ ก็จักได้รับความสนับสนุนจากผู้ที่อ่อนแอกว่า ถ้าหาญกล้าใช้ความรุนแรง ก็จักได้รับความยอมรับนับถือจากผู้ที่อ่อนแอกว่า คัมภีร์อี้จิงกล่าวว่า "แกร่งจึงต้อนรับ เสี่ยงจึงยอมสยบ นี่ถือหนทางปกครองแผ่นดินราษฏรจึงขึ้นต่อ" ตัวอย่างการนำเอากลยุทธ์ชี้ต้นหม่อนด่าต้นไหวไปใช้ได้แก่
  • สุมาอี้ ที่บุกเข้าควบคุมตัวของครอบครัว โจซอง ภายหลังจากที่ลิดรอนอำนาจของสุมาอี้เพียงเพื่อหวังในตำแหน่งอุปราช
  • ลิบอง วางแผนอย่างแยบยล  กวนอู ประมาทเสียเกงจิ๋ว
  • จอมยุทธ์ เล่าปี่ ตรงไปตรงมา  ประหารลูกเลี้ยงตามวินัยศึก

กลยุทธ์ที่ 27 แสร้งทำบอแต่ไม่บ้า

เล่าปี่ ตกใจเสียงฟ้าผ่า แสร้งทำบอแต่ไม่บ้า
เล่าปี่ ตกใจเสียงฟ้าผ่า แสร้งทำบอแต่ไม่บ้า

     กลยุทธ์แสร้งทำบอแต่ไม่บ้า หรือ เจี่ยชือปู้เตียน (Feign madness but keep your balance, 假痴不癫) เป็นกลยุทธ์ที่มีความหมายถึงการแสร้งยอมทำเป็นโง่ มิเคลื่อนไหวอย่าอวดทำเป็นสู่รู้ทำบุ่มบ่าม การอวดรู้ย่อมกลายเป็นผลเสียแก่ตนเองได้ในภายหน้า คัมภีร์อี้จิงกล่าวว่า "ดุจดั่งอสนีบาตหยุดฟาดฟัน" โดยคำว่า "หยุด" หมายความถึง "อสนีบาตฤดูหนาวแฝงกายอยู่ใต้พื้นพสุธา จักแผดร้องก้องนภาคราฤดูใบไม้ผลิ" ซึ่งมีความหมายว่า ผู้ที่มีสติปัญญามิพึงแสดงตัว แต่พึงเตรียมการทั้งปวงอย่างลับ ๆ มิให้ผู้ใดล่วงรู้ ประหนึ่งคมดาบที่แอบซ่อนอยู่ภายในฝัก มิปรากฏให้ผู้ใดได้เห็น ครั้นเมื่อถึงเวลาอันสมควรก็จักคำรนคำรามเสมือนสายฟ้า ที่จะกระหน่ำพสุธาให้แตกสลายไป ตัวอย่างการนำเอากลยุทธ์แสร้งทำบอแต่ไม่บ้าไปใช้ได้แก่
  • เล่าปี่ ที่แสร้งทำเป็นหวาดกลัวเสียงฟ้าร้องจนตะเกียบหลุดจากมือ เพื่อให้ โจโฉ ตายใจและไม่คิดระแวงเล่าปี่ที่อ่านคิดการใหญ่ในภายหน้า
  • สุมาอี้ แสร้งทำบอแต่ไม่บ้า  โจซอง หลงกลต้องสิ้นโคตร

กลยุทธ์ที่ 28 ขึ้นบ้านชักบันได

อุยเอี๋ยนรอดเพราะกลขึ้นบ้านชักบันได
อุยเอี๋ยน รอดเพราะกลขึ้นบ้านชักบันได

     กลยุทธ์ขึ้นบ้านชักบันได หรือ ซ่างอูโชวที (Remove the ladder when the enemy has ascended to the roof, 上屋抽梯) เป็นกลยุทธ์ที่มีความหมายถึงการจงใจปกปิดซ่อนเร้นจุดอ่อนเพื่อมิให้ศัตรูมองเห็น สร้างเงื่อนไขและหลอกล่อให้ศัตรูเป็นฝ่ายบุกเข้าโจมตี แล้วตัดขาดส่วนหน้าที่คอยวางกำลังสมทบและส่วนหลังที่วางกองกำลังไว้เป็นกองหนุน ตีโอบศัตรูให้หลบหนีเข้าไปภายในกองทัพ เสมือนถุงที่อ้าปากไว้รับหรือวงล้อมหลุมพรางที่วางดักไว้ คัมภีร์อี้จิงกล่าวไว้ว่า "เจอพิษ มิควรที่" การขบเปรียบประดุจการบดเคี้ยวกระดูกหรือเนื้อที่มีความเหนียว รังแต่จะทำให้ฟันเกิดการชำรุดเสียหาย หรือเสมือนดั่งมักได้ในสิ่งที่มิควรได้ฉันใด ย่อมจักนำมาซึ่งความวิบัติฉันนั้น ตัวอย่างการนำเอากลยุทธ์ชักบ้านขึ้นบันไดไปใช้ได้แก่
  • จูกัดเหลียง ที่วางกลอุบายให้ ม้าต้าย นำเกวียนที่บรรทุกประทัดและดินดำไปซุ่ม เพื่อช่วยเหลือ อุยเอี๋ยน ในคราวทำศึกกับ ลุดตัดกุด
  • เล่ากี๋ ขอความช่วยเหลือหนีภัย  เล่าปี่ แสดงนัยให้ขึ้นบ้านชักบันได

กลยุทธ์ที่ 29 ต้นไม้ผลิดอก

ต้นไม้ผลิดอก ของโจโฉ
ต้นไม้ผลิดอก ของ โจโฉ

     กลยุทธ์ต้นไม้ผลิดอก หรือ ซู่ซ่างไคฮวา (Deck the tree with false blossoms, 树上开花) เป็นกลยุทธ์ที่มีความหมายถึงการใช้แนวรบของพันธมิตร มาสร้างแนวรบป้องกันที่จะกลายเป็นประโยชน์อย่างยิ่งแก่ตนเอง แม้กองกำลังทหารจะเล็กน้อยก็สามารถทำให้แลดูเสมือนกองกำลังทหารที่ใหญ่โตได้ ดุจเดียวกับนกอินทรีที่ผกผินบินอยู่ในอากาศ เมื่อกางปีกทั้งสองข้างออกก็ช่วยทำให้นกอินทรีแลดูมีท่วงท่าที่สง่าและน่าเกรงขราม เฉกเช่นเดียวกับต้นไม้ที่ไร้ซึ่งดอกแลผล เมื่อนำดอกไม้มาเสียบติดไว้ทำให้ดูสวยงามขึ้น ผู้ที่ไม่ทันสังเกตก็จะไม่รู้ว่าดอกไม้ไม่ใช่ของจริง เป็นเพียงการสร้างสิ่งบังหน้าเพื่อสบโอกาสในการเคลื่อนไหว ตัวอย่างการนำเอากลยุทธ์ต้นไม้ผลิดอกไปใช้ได้แก่
  • โจโฉ ที่ฉวยจังหวะและโอกาสอาศัยพระนามของ พระเจ้าเหี้ยนเต้ บังหน้าในการนำกองกำลังทหารปราบปรามแคว้นต่าง ๆ ที่ไม่ยอมขึ้นแก่ตนเอง
  • เตียวหุย ใช้อุบายลวงทหารโจโฉ  โจโฉ ถูกลวงหลงเชื่อสนิทใจ
  • โจโฉ โจมตีเมืองปักเอี้ยง  ลิโป้ รบแพ้เตลิดหนี

กลยุทธ์ที่ 30 สลับแขกเป็นเจ้าบ้าน

เตียนอุยตายเพราะกลสลับแขกเป็นเจ้าบ้าน
เตียนอุยตายเพราะกลสลับแขกเป็นเจ้าบ้าน

     กลยุทธ์สลับแขกเป็นเจ้าบ้าน หรือ ฝ่านเค่อเหวยจวู่ (Make the host and the guest exchange roles, 反客为主) เป็นกลยุทธ์ที่มีความหมายถึงเมื่อฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเปิดช่องสบโอกาสให้สอดแทรก ควรสอดแทรกเพื่อกุมจุดสำคัญหรือหัวใจของอีกฝ่ายไว้ คัมภีร์อี้จิงกล่าวว่า "ค่อยผันสู่ชัยชนะ" โดยคำว่า "รุก" หมายความถึง "สรรพสิ่งใดในใต้หล้า เคลื่อนอย่าใจร้อนจักเสีย สงบแต่คล้อยตามจักได้ ค่อย ๆ ผันไปช้า ๆ จักเป็นคุณ เคลื่อนดังนี้จึงจะมีผล" โดย "ค่อยผันสู่ชัยชนะ" หมายความถึงการตอกลิ่มเข้าไปในฝ่ายตรงข้ามเพื่อยึดครองอำนาจการบังคับบัญชานั้น จักต้องค่อยเป็นค่อยไปจึงจะบรรลุซึ่งชัยชนะ การใช้อารมณ์วู่ว่ามบุ่มบามทำการใหญ่ไม่เป็นผลดีในการทำศึกสงคราม นอกจากจะเป็นการเปิดช่องโหว่ให้ศัตรูแล้ว ยังเสี่ยงต่อการพ่ายแพ้ในการศึกอีกด้วย ตัวอย่างการนำเอากลยุทธ์สลับแขกเป็นเจ้าบ้านไปใช้ได้แก่
  • เตียวสิ้ว ที่วางกลอุบาลลอบฆ่า โจโฉ และ เตียนอุย โดยใช้อาสะใภ้ตนเองเป็นเหยื่อล่อให้โจโฉหลงกล
  • โตเกี๋ยม จะมอบชีจิ๋วให้เล่าปี่  เล่าปี่ สลับแขกเป็นเจ้าบ้าน
  • ฮองกี๋ เสนออุบายสลับแขกเป็นเจ้าบ้าน  อ้วนเสี้ยว ยกทัพยึดเมืองกิจิ๋ว

กลยุทธ์ยามพ่าย (DEFEAT STRATAGEMS)

กลยุทธ์ที่ 31 สาวงาม

กลสาวงาม เตียวเสี้ยน
กลสาวงาม เตียวเสี้ยน

     กลสาวงาม หรือ เหม่ยเหรินจี้ (The beauty trap, 美人计) เป็นกลยุทธ์ที่มีความหมายถึงการกำจัดศัตรูที่มีกำลังเข้มแข็ง ในการทำศึกสงครามจำต้องหาหนทางกำจัดแม่ทัพเสียก่อน หากปล่อยไว้จะเป็นภัยในภายหน้า ต่อแม่ทัพที่มีความเฉลียวฉลาด สติปัญญาเป็นเลิศ ชำนาญตำราพิชัยสงคราม รอบรู้ภูมิประเทศและจุดยุทธศาสตร์ เก่งกาจในเชิงยุทธ์ จักต้องโจมตีจุดอ่อนทางใจให้มีอุปสรรค ส่วนแม่ทัพที่หย่อนย่อท้อแท้ กำลังทหารไพร่พลที่กำลังถดถอย ก็จักอ่อนแอแลเสื่อมโทรมพ่ายแพ้ไปเอง ตัวอย่างการนำเอากลยุทธ์สาวงามไปใช้ได้แก่
  • อ้องอุ้น ที่วางกลอุบายทำลายความสัมพันธ์ของ ตั๋งโต๊ะและลิโป้ บุตรบุญธรรมด้วยการยก เตียวเสี้ยน ให้เป็นภรรยา ทำให้ทั้งสองฝ่ายผิดใจกันจนเป็นเหตุให้ ลิโป้ ฆ่า ตั๋งโต๊ะ

กลยุทธ์ที่ 32 อุบายเมืองร้าง

เพราะม้าเจ๊ก ขงเบ้งจึงต้องใช้กลปิดเมือง
เพราะ ม้าเจ๊ก ขงเบ้ง จึงต้องใช้กลปิดเมือง

     อุบายเมืองร้าง หรือ คงเฉิงจี้ (The empty fort strategy, 空城计) เป็นกลยุทธ์ที่หมายความถึงในยามศึกสงคราม หากกำลังทหารไพร่พลเกิดความอ่อนแอหรือมีกำลังน้อย ยิ่งจงใจแสดงให้ศัตรูเห็นว่าในการศึกมิได้มีการวางแนวป้องกัน ทำให้ศัตรูเกิดความฉงนสนเท่ห์ ไม่กล้าผลีผลามนำกำลังเข้าบุกโจมตี ในสถานการณ์ที่ศัตรูมีกำลังมากกว่า การใช้กลยุทธ์ปิดเมืองเพื่อป้องกันกองทัพตนเองเป็นการเลือกใช้กลยุทธ์ที่มีความพิสดารพันลึกเป็นทวีคูณ คัมภีร์อี้จิงกล่าวว่า "ท่ามกลางแข็งกันอ่อน" โดยคำว่า "แก้" ใช้ควบคู่กับคำว่า "พิสดาร ซ่อนพิสดาร" ซึ่งหมายความว่า ในขณะที่ศัตรูมีกองกำลังแข็งแรง หากแต่กองกำลังแลไพร่พลอ่อนแอให้จัดกำลังทหารโดยใช้กลยุทธ์ "กลวงยิ่งทำกลวง" เพื่อเป็นการแสดงให้เห็นถึงความพิสดารในกลศึกที่ศัตรูคาดการณ์ไม่ถึง ตัวอย่างการนำเอากลยุทธ์ปิดเมืองไปใช้ได้แก่
  • จูกัดเหลียง ที่ถอยทัพหลบหนีสุมาอี้หลังจาก ม้าเจ๊ก เสียเมือง เกเต๋ง โดยแสร้งทำเป็นวางเฉยไม่สะดุ้งสะเทือนกับกองกำลังทหารสุมาอี้ที่ยกทัพติดตามมา ดีดพิณเปิดเมืองกว้าง สุมาอี้ ต้องอุบายรีบถอยทัพ
  • จูล่ง ยืนม้าถือทวนใช้กลเปิดค่าย  โจโฉ คนชำนาญศึกกลับรีบถอย

กลยุทธ์ที่ 33 ซ้อนแผนไส้ศึก

จิวยี่ใช้กลยุทธ์ไส้ศึก
จิวยี่ ใช้กลยุทธ์ไส้ศึก

     กลยุทธ์ซ้อนแผนไส้ศึก หรือ ฝ่านเจี้ยนจี้ (Let the enemy's own spy sow discord in the enemy camp, 反间计) เป็นกลยุทธ์ที่มีความหมายถึงเมื่อศัตรูแสร้งวางกลอุบายหลอกล่อให้เกิดการแตกแยกภายในกองทัพ ขาดความไว้ใจ พึงซ้อนกลอุบายสร้างแผนลวงให้ศัตรูเกิดความแตกแยกร้าวฉาน ให้ศัตรูเกิดความระแวงสงสัยซึ่งกันและกัน ใช้ประโยชน์จากความระแวงแล้วฉกฉวยโอกาสบุกเข้าโจมตีแย่งชัยชนะมาเป็นของตน คัมภีร์อี้จิงกล่าวว่า "มีผู้แฝงอยู่ภายใน ไม่เสียหายแก่เรา" โดยคำว่า "ช่วย" หมายความถึงเมื่อมีการช่วยเหลือจากภายในของศัตรู ย่อมเป็นประโยชน์ในการทำศึก จึงเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจในการบุกเข้าโจมตีศัตรูให้ย่อยยับสิ้นซาก ตัวอย่างการนำเอากลยุทธ์ไส้ศึกไปใช้ได้แก่
  • จิวยี่ ที่แสร้งรับ ชัวต๋ง และ ชัวโฮ นายทหารไส้ศึกของโจโฉไว้ในคราวศึกเซ็กเพ็ก และวางกลอุบายซ้อนแผนเผากองทัพเรือของ โจโฉ จนวอดวาย

กลยุทธ์ที่ 34 ทนทุกข์กาย

ทุกข์กาย แบบอุยกาย
ทุกข์กาย แบบ อุยกาย

     กลยุทธ์ทนทุกข์กาย หรือ ขู่โร่วจี้ (Inflict injury on one's self to win the enemy's trust, 苦肉计) เป็นกลยุทธ์ที่หมายความถึงโดยสามัญสำนึกของมนุษย์ทั่วไป ย่อมไม่มีผู้ใดยากทำร้ายตนเอง หากบาดเจ็บก็เชื่อว่าคงเกิดจากการถูกทำร้าย ถ้าหากแม้นสามารถทำเท็จให้กลายเป็นจริง หลอกให้ศัตรูหลงเชื่อโดยไม่ติดใจสงสัย กลอุบายย่อมจะสัมฤทธิ์ผล การแสร้งทำให้ศัตรูหลงเชื่อ ก็พึงเข้าใจในจุดอ่อนของศัตรู ทำเท็จให้จริงจัง ให้เชื่อจริงแท้ คัมภีร์อี้จิงกล่าวว่า "อาศัยจุดอ่อนแห่งจิต ลู่ตามจึงพิชิต" โดยคำว่า "ปิด" หมายความถึงการอาศัยความไร้เดียงสาของทารก หลอกล่อโดยโอนอ่อนผ่อนตามไป ก็จักลวงให้ศัตรูหลงเชื่อและบรรลุตามความประสงค์ที่ตั้งไว้ ตัวอย่างการนำเอากลยุทธ์ทุกข์กายไปใช้ได้แก่
  • อุยกาย ที่ยอมเสียสละร่างกายให้ จิวยี่ โบยหนึ่งร้อยที และแสร้งทำเป็นยอมสวามิภักดิ์ต่อ โจโฉ เพื่อให้ จิวยี่และจูกัดเหลียง ใช้ไฟทำลายกองทัพเรือของโจโฉในคราวศึก เซ็กเพ็ก

กลยุทธ์ที่ 35 ห่วงโซ่สงคราม

โจโฉใช้กลยุทธ์ลูกโซ่รบอ้วนเสี้ยว
โจโฉ ใช้กลยุทธ์ลูกโซ่รบอ้วนเสี้ยว

     กลยุทธ์ห่วงโซ่สงคราม หรือ เหลียนหวนจี้ (Chain stratagems, 连环计) เป็นกลยุทธ์ที่มีความหมายถึงเมื่อกองกำลังศัตรูมีพละกำลังที่เข้มแข็งกว่าหลายเท่า จักปะทะด้วยกำลังมิได้โดยเด็ดขาด พึงใช้กลอุบายนานาให้ศัตรูต่างถ่วงรั้งซึ่งกันและกัน ทำลายความแข็งแกร่งของศัตรูหรือร่วมมือกับพลังต่าง ๆ ร่วมโจมตีเพื่อขจัดความฮึกเหิมของศัตรูให้หมดสิ้นไป คัมภีร์อี้จิงกล่าวว่า "แม่ทัพผู้ปรีชา จักได้ฟ้าอนุเคราะห์" ซึ่งหมายความว่าแม่ทัพผู้ปรีชาสามารถในการศึก ย่อมสามารถจะบัญชาการศึกสงครามได้อย่างคล่องแคล่วดุจดั่งตามคำ "ความประสงค์ของฟ้า" จักต้องได้รับชัยชนะในการศึกสงครามเป็นมั่นคง ตัวอย่างการนำเอากลยุทธ์ลูกโซ่ไปใช้ได้แก่
  • โจโฉ วางกลอุบายลอบโจมตีอ้วนเสี้ยวด้วยการตัดกำลังเสบียงของ อ้วนเสี้ยว จนแตกพ่าย
  • กลลูกโซ่ในศึกเซ็กเพ็ก  สามก๊ก เริ่มยืนคู่ขนานกัน

กลยุทธ์ที่ 36 หนีคือยอดกลยุทธ์

ขงเบ้งหนีเอาตัวรอดจากจิวยี่
ขงเบ้ง หนีเอาตัวรอดจาก จิวยี่

     หนีคือยอดกลยุทธ์ หรือ โจ่วเหวยซ่าง (If everything else fails, retreat, 走为上) เป็นกลยุทธ์ที่หมายความถึงเมื่อทำการศึกสงครามกับศัตรู หากศัตรูมีกองกำลังทหารที่เข้มแข็ง มีกองทัพที่แข็งแกร่ง ชำนาญภูมิศาสตร์ อาจจะถอยร่นหลบหนีอย่างรวดเร็วเพื่อหลบเลี่ยงการปะทะและการเผชิญหน้า คัมภีร์อี้จิงกล่าวว่า "ถอยหนีมิผิด เป็นวิสัยแห่งสงคราม" ซึ่งเป็นการชี้ชัดว่าการถอยหนีในการทำสงครามนั้น มิใช่ความผิดผลาด หากแต่เป็นเรื่องธรรมดาสามัญในการทำศึก ที่มักจะพบเห็นเสมอ การถอยหนีเป็นการถอยเพื่อหาหนทางหลีกเลี่ยงความเสียหาย แลหาโอกาสชิงตอบโต้ในภายหลัง มิใช่เป็นการถอยหนีอย่างสิ้นเชิง ตัวอย่างการนำเอากลยุทธ์หลบหนีไปใช้ได้แก่
  • จูกัดเหลียง ที่ลอบหลบหนี จิวยี่ ภายหลังจากทำพิธีเรียกลมสลาตันที่เขาลำปินสานเพื่อใช้ไฟเผากองทัพเรือโจโฉในคราวศึก เซ็กเพ็ก
  • ชัวมอ วางแผนฆ่าเล่าปี่  เล่าปี่ หนีตายข้าม ตันเข 
  • เล่าปี่ กวนอู เตียวหุย สาบานเป็นพี่น้อง  ถูกกลั่นแกล้งจำต้องหนีเตลิดเปิดเปิง

กรุณาแสดงความคิดเห็น

BLOGGER: 1

ชื่อ

กวนอู,67,การ์ตูน,19,การเมือง,77,กิจกรรม,18,เกม,160,ขงเบ้ง,94,ของสะสม,40,ข่าวสาร,118,คำคมสามก๊ก,77,จิวยี่,5,จูล่ง,21,โจโฉ,66,ซุนกวน,7,เตียวหุย,11,เนื้อหาสามก๊ก,5,บทความ,353,บุคคลภาษิตในสามก๊ก,12,แบบเรียน,8,ปรัชญา,45,เพลง,41,ภาพยนตร์,53,รูปภาพ,67,ลิโป้,9,เล่าปี่,18,วิดีโอ,66,วิธีคิดวิธีทำงาน,13,เว็บไซต์,14,สถานที่,21,สามก๊ก12,14,สามก๊ก13,32,สามก๊ก14,3,สามก๊ก2010,95,สามก๊ก8,1,สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง(หน),87,สุมาอี้,15,หงสาจอมราชันย์,13,หนังสือ,173,อาวุธ,7,แอป,43,Dynasty Warriors,57,E-book,87,
ltr
static_page
สามก๊กวิทยา : Three Kingdoms Academy: 36 กลศึกสามก๊ก (Thirty-Six Stratagems)
36 กลศึกสามก๊ก (Thirty-Six Stratagems)
36 กลศึกสามก๊ก (Thirty-Six Stratagems, 三十六计) เป็นการรวบรวมกลยุทธ์และกลอุบายต่าง ๆ ที่ใช้ในการทำศึกสงคราม จำนวน 36 กล โดยยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่ปรากฏในวรรณกรรมจีนอิงประวัติศาสตร์เรื่อง สามก๊ก
สามก๊กวิทยา : Three Kingdoms Academy
https://www.samkok911.com/p/thirty-six-stratagems.html
https://www.samkok911.com/
https://www.samkok911.com/
https://www.samkok911.com/p/thirty-six-stratagems.html
true
4216477688648787518
UTF-8
โหลดเนื้อหาทั้งหมด ไม่พบเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง ดูทั้งหมด อ่านเพิ่ม ตอบ ยกเลิกการตอบ ลบ โดย หน้าแรก หน้า โพสต์ ดูทั้งหมด เรื่องแนะนำสำหรับคุณ หมวดหมู่บทความ เนื้อหาในช่วงเวลา ค้นหา บทความทั้งหมด ไม่พบเนื้อหาที่คุณต้องการ กลับหน้าแรก Sunday Monday Tuesday Wednesday Thursday Friday Saturday Sun Mon Tue Wed Thu Fri Sat January February March April May June July August September October November December Jan Feb Mar Apr May Jun Jul Aug Sep Oct Nov Dec just now 1 minute ago $$1$$ minutes ago 1 hour ago $$1$$ hours ago Yesterday $$1$$ days ago $$1$$ weeks ago more than 5 weeks ago Followers Follow THIS PREMIUM CONTENT IS LOCKED STEP 1: Share to a social network STEP 2: Click the link on your social network Copy All Code Select All Code All codes were copied to your clipboard Can not copy the codes / texts, please press [CTRL]+[C] (or CMD+C with Mac) to copy สารบัญ