Loading ...

$show=home

จุดเริ่มต้นของการศึกษาสามก๊ก

แหล่งศึกษาเรียนรู้ ทุกเรื่องราวของวรรณกรรมเพชรน้ำเอกของโลก

สามก๊กวิทยา : THREE KINGDOMS ACADEMY

ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่อาณาจักร
"สามก๊กวิทยา"
THREE KINGDOMS ACADEMY

สามก๊ก ม.6 ตอน กวนอูไปรับราชการกับโจโฉ

สามก๊ก ตอน กวนอูไปรับราชการกับโจโฉ
"เนื้อหาประกอบการเรียนวิชาภาษาไทย วรรณคดีวิจักษ์ สามก๊ก ม.6 ตอน กวนอูไปรับราชการกับโจโฉ "
     สามก๊ก ม.6 ตอน กวนอูไปรับราชการกับโจโฉ : สรุปเนื้อเรื่องย่อจากหนังสือวรรณคดีวิจักษ์ ม.6 ตัวละครสำคัญ คุณค่าด้านวรรณศิลป์ สาระสำคัญที่ได้รับ รวมทั้งตัวอย่างแบบฝึกหัดพร้อมเฉลยคำตอบ ฯลฯ

1. เนื้อเรื่องย่อสามก๊ก ตอน กวนอูไปรับราชการกับโจโฉ

     ในสมัยพระเจ้าเหี้ยนเต้ โจโฉตั้งตัวเป็นมหาอุปราชสำเร็จราชการแผ่นดิน และคิดกำจัดเล่าปี่ซึ่งขณะนั้นครองเมืองชีจิ๋วอยู่ โจโฉตีเมืองเสียวพ่ายและเมืองชีจิ๋วได้ เล่าปี่จึงหนีไปพึ่งอ้วนเสี้ยว โจโฉจึงคิดจะไปตีเมืองแห้ฝือ ที่กวนอู รักษาครอบครัวของเล่าปี่อยู่ในเมืองนี้

     โจโฉได้ให้ เทียหยก ลวง กวนอู ออกมาจากเมืองแห้ฝือ และล้อมจับตัวกวนอูไว้ เทียหยก ได้ใช้อุบายปล่อยทหารของ เล่าปี่ ที่ โจโฉ จับเป็นเชลย เข้าไปเป็นไส้ศึกในเมืองแห้ฝือ จน กวนอู เชื่อใจ แล้วให้ แฮหัวตุ้นคุมทหารไปท้ารบกับ กวนอู และสกัดทางไม่ให้กวนอูกลับเข้าไปในเมืองได้ กวนอู จึงคุมทหารหนีไปหยุดพักอยู่บนเขา 

     ทหารไส้ศึก เปิดประตูเมืองรับโจโฉเข้าเมือง โจโฉให้จุดไฟเผาเมือง สำหรับครอบครัวเล่าปี่นั้นให้ทหารรักษาไว้ดังเดิม กวนอูตกอยู่ในวงล้อมของโจโฉ โจโฉต้องการ กวนอูไว้ช่วงใช้ เตียวเลี้ยว นายทหารของโจโฉจึงอาสาเกลี้ยกล่อมกวนอูให้เข้ารับราชการกับโจโฉ 

     เตียวเลี้ยว เดิมเป็นทหารเอกของลิโป้ ติดตามลิโป้มาตั้งแต่อยู่เมือง ตันลิว จนลิโป้ได้ครองเมืองชีจิ๋ว แล้วถูกโจโฉตีแตก ขณะที่ลิโป้ถูกลากตัวไปประหาร ลิโป้โกรธเล่าปี่ ที่ไม่ช่วยเหลือจึงร้องด่าไปตลอดทาง เตียวเลี้ยวซึ่งถูกคุมตัวมัดไว้ เดินสวนกับลิโป้ ก็ให้สติ เตือนลิโป้ว่า เกิดเป็นชายชาติทหารจะกลัวความตายทำไม กวนอูซึ่งอยู่ในที่นั้นด้วยได้ฟัง ก็เกิดความชื่นชมในความกล้าหาญของเตียวเลี้ยว จึงขอให้โจโฉไว้ชีวิตแก่เตียวเลี้ยว โจโฉก็ยกโทษให้และรับไว้เป็นทหารของตนตั้งแต่นั้น 

     เตียวเลี้ยว รับราชการในสังกัดโจโฉ จนกระทั่งเล่าปี่เป็นศัตรูกับโจโฉตั้งตัวเป็นใหญ่อยู่ที่เมืองชีจิ๋วแทนลิโป้ โจโฉจึงยกทัพมาปราบปราม เล่าปี่นั้นหนีไปอยู่กับอ้วนเสี้ยว ส่วนเตียวหุยหนีไปอยู่บนเขาบองเอี๋ยงสัน แต่กวนอูถูกล้อมอยู่ใกล้ เมืองแห้ฝือ เตียวเลี้ยว นายทหารของโจโฉจึงอาสาเกลี้ยกล่อมกวนอูให้เข้ารับราชการกับโจโฉ โดยกล่าวกับกวนอูว่า หากท่านแหกด่านคิดสู้ตายกับกองทัพโจโฉ ท่านจะมีความผิด 3 ประการ คือ
  1. เล่าปี่ กวนอู และ เตียวหุย ได้สาบานเป็นพี่น้องกันที่สวนดอกท้อ ว่าแม้ไม่ได้เกิดวันเดือนปีเดียวกัน ก็ขอ ตายวันเดือนปีเดียวกัน หากกวนอู ถึงแก่ความตาย ก็จะถือเป็นความผิดข้อที่ 1
  2. เล่าปี่ ซึ่งเป็นเชื้อพระวงศ์คิดกอบกู้บ้านเมือง บัดนี้เล่าปี่ยังไม่สำเร็จการใหญ่ หากกวนอูต้องตายลงเสียก่อน ก็จะถือเป็นความผิดข้อที่ 2 เพราะมิได้อยู่ช่วยงานเล่าปี่ให้สำเร็จการใหญ่
  3. เล่าปี่ฝากครอบครัวของตนแก่กวนอู หากกวนอูตาย ก็จะถือเป็นความผิดข้อที่ 3 เพราะหากกวนอูตาย ก็ย่อมไม่มีใครดูแลครอบครัวของเล่าปี่
     ในที่สุดกวนอูตัดสินใจยอม แต่ขอคำมั่นสัญญา 3 ประการ ให้เตียวเลี้ยว นำไปบอกกับโจโฉ ว่า
  1. กวนอูขอเป็นข้าพระเจ้าเหี้ยนเต้ตามที่เคยสาบานไว้กับเล่าปี่และเตียวหุย
  2. ขอปฎิบัติต่อพี่สะใภ้ของตน(นางกำฮูหยินและบิฮูหยิน) โดยใช้เงินเบี้ยหวัดของเล่าปี่ที่เคยได้พระราชทานมาให้พี่สะใภ้ทั้งสอง และห้ามผู้ใดมากล้ำกรายเข้าถึงประตู
  3. ถ้ากวนอูรู้ว่าเล่าปี่อยู่ที่ใด ตนก็จะไปหา แม้จะไม่ได้ร่ำลาโจโฉก่อนก็ตาม
     นอกจากนี้เตียวเลี้ยว ยังได้ยกตัวอย่าง นิทานเรื่อง อิเยียง ผู้มีความซื่อตัตย์กตัญญู ในอดีต มาโน้มน้าวใจโจโฉ ให้รับกวนอูมาเข้าทำราชการอีกด้วย

     โจโฉตกลงให้คำมั่นสัญญากับกวนอู ตั้งแต่นั้น กวนอู จึงต้องอยู่รับราชการในสังกัดของโจโฉ โจโฉพยายามที่จะซื้อใจกวนอู อยู่ทุกวันมิได้ขาด สามวันแต่งโต๊ะเลี้ยงทีหนึ่ง อีกทั้งพากวนอูไปเฝ้าพระเจ้าเหี้ยนเต้ กวนอูได้รับพระราชทานนามว่า 'บีเยียงก๋ง' แปลว่า เจ้าหนวดงาม 

     วันหนึ่งโจโฉเห็นม้าของกวนอูผอมโซ จึงยก ม้าเซ็กเธาว์ ซึ่งเคยเป็นม้าฝีเท้าดีของลิโป้ ม้าเซ็กเธาว์มีกำลังมากวิ่งได้วันละพันลี้ กวนอู ปลาบปลื้มใจยิ่งนัก ถึงกับหลุดปากออกมาว่า ดีจริงวันใดเมื่อเรารู้ข่าวว่าท่านพี่เล่าปี่อยู่ที่ใด เราจะได้ไปหาเล่าปี่ได้เร็วขึ้น โจโฉจึงมีความวิตกยิ่งนัก ใจหนึ่งก็ชื่นชมกวนอูว่ามีความกตัญญูหาผู้ใดเสมอมิได้ แต่อีกใจหนึ่งรู้สึกน้อยใจที่พยายามเลี้ยงดูกวนอูด้วยทรัพย์สมบัติและยศศักดิ์เท่าใด ก็ไม่สามารถทำให้กวนอูเสื่อมความภักดีต่อเล่าปี่ได้ 

     โจโฉจึงปรึกษากับเตียวเลี้ยวว่า เห็นจะเปล่าประโยชน์ที่จะเลี้ยงดูกวนอูอีกต่อไป เตียวเลี้ยวจึงอาสาไปหยั่งความคิดเห็นของกวนอูดูก่อน แล้วเตียวเลี้ยวก็ได้คำตอบจากกวนอูว่า สำหรับโจโฉนั้น กวนอูสำนึกในบุญคุณอยู่เสมอ แต่เล่าปี่เป็นพี่ร่วมสาบาน มีคุณแก่กวนอูมาก่อน ถ้าเล่าปี่ตาย กวนอูก็จะตายตามไปด้วยดังที่สาบานไว้ แม้ว่ากวนอูจะต้องจากโจโฉไป ก็จะไม่ลืมบุญคุณของโจโฉ และจะต้องตอบแทนบุญคุณของโจโฉอย่างแน่นอน 

     เตียวเลี้ยวนำความไปบอกโจโฉ โจโฉได้แต่ถอนหายใจ วิตกกังวลที่ไม่สามารถซื้อใจกวนอูมาจากเล่าปี่ได้ ซุนฮกจึงแนะนำแก่โจโฉว่า เมื่อกวนอูบอกว่าจะแทนคุณก่อนจากไป เพราะฉะนั้น เวลามีศึกก็อย่าให้กวนอูออกรบ เพราะถ้ายังไม่มีความชอบ กวนอู ก็จะยังอยู่กับโจโฉเป็นมั่นคง 

     โจโฉ เห็นด้วยกับซุนฮก ซ้ำยังแสร้งใช้อุบาย เพื่อให้น้ำใจของกวนอูหักหาญแปรเปลี่ยนจากเล่าปี่ ในคราวระหว่างเดินทัพทางไกล เมื่อหยุดทัพ ณ ตำบลใด ยามตกค่ำ โจโฉก็จัดให้กวนอูกับ ฮูหยินของเล่าปี่ พักอยู่ร่วมกระโจมเดียวกัน หมายว่าหากชายหญิงอยู่ใกล้ชิดกัน ย่อมเสมือนน้ำมันใกล้เปลวไฟ ซึ่งพร้อมที่ปะทุลุกโชนด้วยเรื่องความรักความใคร่ โจโฉจึงเปิดช่องให้กวนอูคิดล่วงเกินฮูหยินเล่าปี่ ซึ่งนำไปสู่การแตกหักกับเล่าปี่ 

     แต่การณ์ผิดคาด ทุกค่ำคืน กวนอู จะออกมายืนอยู่หน้ากระโจมพักเพียงลำพัง กุมง้าวมังกรเขียวไว้อย่างมั่นคง ยืนเฝ้ารักษาการณ์ภายนอกอย่างสงบนิ่งไม่ขยับเขยี้อนตลอดคืน เป็นเช่นนี้ทุกค่ำคืน

     ฝ่ายเล่าปี่ที่หลบหนีไปอยู่กับอ้วนเสี้ยว ได้ยุให้อ้วนเสี้ยวออกรบกับโจโฉ อ้วนเสี้ยวได้สั่งให้ งันเหลียง ทหารเอก เป็นทัพหน้า เดินทัพเข้าทางด่านแปะแบ๊ ทหารโจโฉ มีความกริ่งเกรง ครั่นคร้ามในฝีมือ ของงันเหลียง ไม่มีใครขันกล้าออกรบ กวนอูจึงขันอาสาออกสู้รบ โจโฉจำใจต้องให้กวนอูออกสู้รบ กวนอูใช้ง้าวฟัน งันเหลียง คอขาดตายอ้วนเสี้ยวจึงส่ง บุนทิว ผู้ซึ่งมีฝีมือไม่ยิ่งหย่อนไปกว่า งันเหลียง ออกสู้รบ กวนอูก็ฆ่าบุนทิวตายเสียอีกคน 

     กวนอูฆ่าแม่ทัพของอ้วนเสี้ยว ตายถึงสองคน ซึ่งควรจะถือเป็นการตอบแทนบุญคุณของโจโฉได้ในระดับหนึ่ง อยู่มากวนอูได้ข่าวว่าเล่าปี่ไปอยู่ด้วยอ้วนเสี้ยว จึงลาจากโจโฉ เพื่อเดินทางไปหาเล่าปี่ 

     กวนอูก็ลาโจโฉไปโดยให้คำมั่นสัญญาว่า จะหาโอกาสตอบแทนบุญคุณของโจโฉให้จงได้ โจโฉ นับถือในความสัตย์ซื่อของกวนอู และยึดมั่นในคำคำสัญญา 3 ข้อที่เคยให้ไว้กับกวนอู โจโฉขี่ม้าตามไปส่งกวนอู พอตามกวนอูทัน โจโฉมอบเสื้อให้กับกวนอูเป็นที่ระลึก 

     ตามมารยาท กวนอูต้อง ลงจากหลังม้าเพื่อรับเสื้อจากโจโฉ แต่กวนอู มิได้ลงจากหลังม้า ซ้ำยั้งใช้ใช้ง้าวรับเสื้อจากโจโฉ ซึ่งในสมัยนั้นถือเป็นดูหมิ่นไม่ให้เกียรติกันอย่างร้ายแรง การที่กวนอูไม่ยอมลงจากหลังม้า คงเพราะคำนึงถึงความปลอดภัยของตัวเองก็เป็นไปได้ และถือเป็นความรอบคอบในเชิงทหาร ซึ่งโจโฉเองก็คงเข้าใจเหตุผลในข้อนี้ 

หมายเหตุ : อ่านเนื้อเรื่องสามก๊ก ของเนื้อหาในตอนนี้ ได้ในจากหนังสือ สามก๊กฉบับเจ้าพระยาพระคลัง(หน) ตอนที่ 22, 23 และ 24 ที่นี่

[สามก๊กฉบับเจ้าพระยาพระคลัง(หน) ตอนที่ 22 ##file-download##]

[สามก๊กฉบับเจ้าพระยาพระคลัง(หน) ตอนที่ 23 ##file-download##]

[สามก๊กฉบับเจ้าพระยาพระคลัง(หน) ตอนที่ 24 ##file-download##]

2. ตัวละครสำคัญ

โจโฉ

     1. โจโฉ : บุรุษผู้ยอมทรยศคนทั้งโลก แต่ไม่ยอมให้โลกทรยศตน ตำแหน่งสูงสุดคือ มหาอุปราช เป็นผู้กุมอำนาจทั้งปวง อยู่เหนือฮ่องเต้ เดิมทำราชการอยู่ภายในราชสำนัก คนทั้งปวงยำเกรง ถูกแต่งตั้งให้ไปสกัดการโจมตีของขบถโจรโพกผ้าเหลือง สุดท้ายแยกตัวหนีออกมาหลังจาก ลอบฆ่า ตั๋งโต๊ะ ไม่สำเร็จ รวบรวมเจ้าเมืองต่างๆ เข้าโจมตี ตั๋งโต๊ะ แต่ไม่สำเร็จ จึงแยกตัวออกมา ต่างหาก สะสมกำลังพลและแสยานุภาพ ครอบครองหัวเมืองฝ่ายเหนือ จนถูกเชิญมาเป็น มหาอุปราช ได้ใช้ความสามารถ การรู้จักใช้คน และเลห์เหลี่ยมกลยุทธ์ ที่เป็นที่เลื่องลือ จนสามารถครอบครองส่วนของแผ่นดินจีนไว้มากที่สุด ที่ได้ชื่อว่า วุยก๊ก

เล่าปี่

    2. เล่าปี่ : ผู้อ้างว่าสืบเชื้อสายราชวงศ์ฮั่น เดิมเป็นคนยากจน ทอเสื่อขาย ได้ร่วมสาบานเป็นพี่น้อง กับ กวนอู เตียวหุย ปราบปรามขบถโจรโพกผ้าเหลือง นิสัยโอบอ้อมอารี เป็นที่รักใคร่แก่คนทั่วไป ได้เป็นเจ้าเมืองชีจิ๋ว ภายหลังต้องหกระเหเร่ร่อนไปอาศัยเจ้าเมืองต่างๆอยู่ จนได้ ขงเบ้ง เป็น ที่ปรึกษา จึงได้ฟื้นตัวและสามารถครอบครองดินแดนเสฉวนได้ในชื่อว่า จ๊กก๊ก

ซุนกวน

    3. ซุนกวน : ผู้บุตรของ ซุนเกี๋ยน และน้องของ ซุนเซ็ก ครอบครองดินแดนฝั่งกังตั๋ง อายุน้อยกว่า โจโฉ กับ เล่าปี่ มาก อาศัยความรุ่งเรืองของการค้าขายติดแม่น้ำ สร้างความแข็งแกร่ง ให้กับก๊กตัวเอง ได้ใช้ชื่อว่า ง่อก๊ก

กวนอู

    4. กวนอู : น้องร่วมสาบานของ เล่าปี่ หลังจากตายไปได้ถูกยกย่องว่าเป็นเทพเจ้าแห่งความซื่อสัตย์ หน้าแดงหน้าแดง จักษุยาว หนวดเครางาม มีง้าวคู่กาย ภายหลังอยู่ร่วมกับ กวนเป๋ง ผู้บุตรบุญธรรม กับ จิวฉอง เป็นเจ้าเมืองเกงจิ๋ว ถูกแผนกลยุทธ์ของ ลกซุน และ ลิบอง ฆ่าตาย

เตียวหุย

    5. เตียวหุย : น้องร่วมสาบานของ เล่าปี่ และ กวนอู นิสัยวู่วามอารมณ์ร้อน ชอบเหล้าสุรา ศีรษะเหมือนเสือ จักษุโตกลม เสียงดัง มีกำลังมาก ติดตาม เล่าปี่ มาตลอด ตายเพราะถูกลอบสังหารจากนิสัยวู่วามของตนเอง

ขงเบ้ง

    6. ขงเบ้ง : ผู้ถูกยกย่องว่า หยั่งรู้ดินฟ้า มหาสมุทร จากคำแนะนำของ ชีซี ทำให้ เล่าปี่ ต้องมาเชิญด้วยตัวเอง ถึงสามครั้งสามครา มีความรู้เป็นเลิศ รับใช้ราชวงศ์เล่าถึง 2 ชั่วอายุคน ภายหลัง เล่าปี่ ตาย ได้ฝากฝัง เล่าเสี้ยน ให้ดูแลแต่ไม่อาจสำเร็จได้ เพราะ พระเจ้าเล่าเสี้ยน หูเบา เชื่อแต่คำยุยง ของขันที ฮุยโฮ ยกทัพไปปราบปรามชาวม่าน และได้สู้รบกับวุยก๊กหลายครั้ง มีคู่ปรับคือ สุมาอี้

จูล่ง

    7. จูล่ง : วีรบุรุษผู้เก่งกาจติดตาม เล่าปี่ และ ขงเบ้ง เป็น 1 ใน 5 ทหารเสือที่เล่าปี่แต่งตั้งขึ้น ซึ่งประกอบด้วย จูล่ง กวนอู เตียวหุย ม้าเฉียว และ ฮองตง สร้างวีรกรรมสำคัญคือ จูล่ง ฝ่าทัพรับ อาเต๊า โดยที่ตัวคนเดียวฝ่าช่วยชีวิตท่ามกลางทหารและองครักษ์มากมายของ โจโฉ ที่ยกทัพลงใต้ หวังครอบครองแผ่นดิน จูล่งตีฝ่าออกมาและนำ อาเต๊า คืนแก่ เล่าปี่ อย่างแสนสาหัส ฆ่าทหารเอกและทหารเลว* ของ โจโฉ อย่างดาษดื่น เป็นบุคคลที่ได้รับความนิยมและชื่นชอบมากที่สุดคนหนึ่งในเรื่อง สามก๊ก

    * ทหารเลว หมายถึง ทหารธรรมดา ไม่มียศ , พลทหาร

ตั๋งโต๊ะ

    8. ตั๋งโต๊ะ : ทรราชที่อ้างตัวมาชุบเลี้ยง พระเจ้าเหี้ยนเต้ แต่ไม่อยู่ในจริยธรรม ฆ่าคนอย่างสนุกสนาน แผ่นดินเดือดร้อนไปทุกหย่อมหญ้า มีทหารเอกคู่ใจ คือ ลิโป้ ไม่มีใครกล้าต่อกรด้วย ภายหลังตายพราะผู้หญิง โดยเป็นแผนของ อ้องอุ้น ใช้กลยุทธ์ที่เลื่องลือ โดยมีแม่นาง เตียวเสี้ยน หว่านล้อมเสน่ห์ ให้พ่อลูก ตั๋งโต๊ะ กับ ลิโป้ ผิดใจกัน

ลิโป้

    9. ลิโป้ : บุตรบุญธรรมของ ตั๋งโต๊ะ ถูกชุบเลี้ยงมาเป็นองครักษ์ข้างกาย มีฝีมือเป็นหนึ่งในแผ่นดินจีน ยอมฆ่าพ่อบุญธรรมคนเดิม เต๊งหงวน เพราะเห็นแก่ลาภยศ มัวเมาลุ่มหลงอิสตรี ได้ขึ้นชื่อเป็น ลูกทรพี 3 พ่อ ถูกกลยุทธ์แม่นาง เตียวเสี้ยน ลุ่มหลงจนฆ่า ตั๋งโต๊ะ ด้วยมือตนเอง หลบหนีไปพึ่งใบบุญ เล่าปี่ แล้วทรยศซ้ำ ภายหลังถูก โจโฉ ไล่ตามตี จนมุมที่เมืองแห้ฝือ ถูกฆ่า ประหารชีวิต ตัดศีรษะไปเสียบประจาน จบยุคของผู้มีฝีมือเก่งกาจที่สุดในแผ่นดิน

เตียวเลี้ยว

    10. เตียวเลี้ยว : ขุนพลคนสำคัญของโจโฉ เดิมอยู่รับใช้ลิโป้ ต่อมาลิโป้ถูกจับได้ที่เมืองแห้ฝือถูกประหาร ส่วนเตียวเลี้ยว โจโฉเกลี้ยกล่อมให้มาร่วมงานด้วย และเป็นบุคคลที่กวนอูให้ความเคารพนับถือ เพราะนับถือในความซื่อสัตย์และฝีมือ ทั้ง ๆ ที่อยู่คนละฝ่ายกัน ซึ่งเตียวเลี้ยวเป็นคนที่อาสาโจโฉไปเกลี้ยกล่อมกวนอูขณะที่แตกทัพให้มาอาศัยอยู่ชั่วคราวกับโจโฉนั่นเอง
 
อ้วนเสี้ยว

    11. อ้วนเสี้ยว : สืบตระกูลขุนนางเก่าแก่ หลังจากเหตุการณสิบขันทีแล้ว อ้วนเสี้ยวได้แยกตัวออกมา สร้างกองทัพจนใหญ่โต และเป็นผู้นำ 18 หัวเมืองต่อต้านตั๋งโต๊ะ เมื่อกำจัดตั๋งโต๊ะได้แล้ว ด้วยความโลเล ใช้คนไม่เป็น ชอบคนที่ประจบสอพลอ คนดี ๆ จึงหนีหาย พ่ายแพ้ต่อกองทัพของโจโฉที่มีทหารน้อยกว่าจนต้องกระอักเลือดตาย

3. คุณค่าด้านวรรณศิลป์

     สามก๊ก ตอน กวนอูไปรับราชการกับโจโฉ มีการใช้ภาษา การเล่าเรื่องใช้บรรยายโวหารที่ประโยคไม่ซับซ้อน ใช้ภาษาไม่ยากแม้ว่าจะเป็นภาษาโบราณ สามารถเข้าใจได้ว่า ใครทำ อะไร ที่ไหน เมื่อใด อย่างไร แม้ว่าชื่อตัวละครและสถานที่จะมาจากภาษาจีนแต่ชื่อเหล่านั้นสะกดตรงตัว และมีวรรณยุกต์กำกับชัดเจนทำให้อ่านง่าย 

     ผู้อ่านสามารถเข้าใจได้ว่า ตัวละครเป็นใครและมีบทบาทในเรื่องอย่างไรด้วยการพิจารณาจากบริบทประกอบ มีสำนวนเปรียบเทียบที่คมคาย บทสนทนาของตัวละครแสดงถึงวาทศิลป์ในการเจรจาความ มีการใช้ภาษาที่โน้มน้าวใจที่ดี

4. สรุปสาระความรู้จากเรื่องสามก๊ก ตอน กวนอูไปรับราชการกับโจโฉ

กวนอูคุ้มกันให้พี่สะใภ้

- ผู้แต่ง : เจ้าพระยาพระคลัง (หน) อำนวยการแปล

- ลักษณะคำประพันธ์ : ร้อยแก้ว ประเภท ความเรียงเรื่องนิทาน

- จุดประสงค์ในการแต่ง : เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับอุบายการเมืองและการสงคราม

- ประวัติผู้แต่ง : เจ้าพระยาพระคลัง (หน) เกิดในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ และถึงอสัญกรรมเมื่อปี พ.ศ.2348 ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้า กรุงธนบุรี ได้รับราชการเป็นหลวงสรวิชิต ในสมัยรัชกาลที่ 1 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้เลื่อนตำแหน่งเป็นพระยาพิพัฒน์โกษาและเป็นเจ้าพระยาพระคลัง เจ้าพระยาพระคลัง (หน) มีความสามารถด้านการประพันธ์ทั้งร้อยแก้วและร้อยกรองงานประพันธ์ ที่สำคัญ ได้แก่ ราชาธิราช สามก๊ก ร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดก (กัณฑ์กุมารและกัณฑ์มัทรี) บทมโหรีเรื่องกากี ลิลิตเพชรมงกุฎ และอิเหนาคำฉันท์

- ที่มาของเรื่อง : 
     จดหมายเหตุเรื่อง สามก๊ก เรียกว่า “สามก๊กจี่” ตันซิ่ว เป็นผู้บันทึก ในสมัยราชวงศ์จิ้น (ปลายพุทธศตวรรษที่ 9) แบ่งเนื้อหาออกเป็น 3 เรื่อง คือ จดหมายเหตุก๊กวุ่ย (วุ่ยก๊ก) จดหมายเหตุก๊กจ๊ก (จ๊กก๊ก) จดหมายเหตุก๊กง่อ (ง่อก๊ก)

     ต่อมาในต้นราชวงศ์เหม็ง (ต้นพุทธศตวรรษที่ 21) หลอกว้านจง (ล่อกวนตง) ได้นำเอาจดหมายเหตุของตัวซิ่ว มาแต่งให้สนุกสนาน เรียกว่า “สามก๊กจี่ทงซกเอี้ยนหงี” หมายความว่า จดหมายเหตุสามก๊กสำหรับ สามัญชน เริ่มเหตุการณ์ตั้งแต่รัชกาล พระเจ้าเลนเต้ ไปจนถึงรัชกาล พระเจ้าจิ้นบู๊เต้สุมาเอี๋ยน

     พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช มีพระราชดำรัสสั่งให้แปลพงศาวดารจีนเป็นภาษาไทย 2 เรื่อง คือ ไซ่ฮั่น และสามก๊ก (พ.ศ.2345) เดิมเป็นหนังสือจำนวน 95 เล่มสมุดไทย เมื่อนำมาพิมพ์มีจำนวน 4 เล่ม สมุดฝรั่ง สำนวนที่นำมาพิมพ์ครั้งแรกที่โรงพิมพ์หมอบรัดเลย์ มิชชันนารีอเมริกัน เป็นสำนวนที่ได้สอบกับต้นฉบับของ สมเด็จเจ้าพระยามหาศรีสุริยวงศ์ และพิมพ์ออกจำหน่ายเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2408 ในสมัย รัชกาลที่ 4

- สาระสำคัญของเรื่อง :
     โจโฉปรึกษาราชการทัพกับเทียหยก เรื่องยกทัพไปรบกับเล่าปี่ ที่เมืองซีจิ๋ว แต่กลัวว่า อ้วนเสียว จะตีเมือง ฮูโต๋ กุยแกเห็นว่าควรจัดทัพไปตีเมืองซีจิ๋วก่อน ซุนเซียนนำข่าวไปแจ้งกวนอูที่เมืองแห้ฝือ แจ้งแก่ เล่าปี่ที่เมืองเสียวพ่าย เล่าปี่ขอความช่วยเหลือจากอ้วนเสี้ยวแต่ไม่สำเร็จ

     เตียวหุยยกกองทหารออกมาปล้นค่ายโจโฉถูกกลศึกพ่ายแพ้ เล่าปี่เข้าไปขอความช่วยเหลือจากอ้วนเสี้ยว ที่เมืองกิจิ๋ว โจโฉเข้าตีเอาเมืองเสียพ่ายได้และยกกองทัพไปตีเมืองซีจิ๋ว กวนอูมีฝีมือกล้าหาญชำนาญ ในการสงครามโจโฉอยากชุบเลี้ยงไว้เป็นกำลังทัพ

     เตียวเลี้ยวอาสาไปเกลี้ยกล่อม ในที่สุดกวนอูจำเป็นต้องยอมไปอยู่กับโจโฉ โดยมีข้อเสนอ 3 ข้อ คือ
  1. ขอเป็นข้าพระเจ้าเหี้ยนเต้ 
  2. ขอพระราชทานเบี้ยหวัดของเล่าปี่ แก่ภรรยาของเล่าปี่ทั้งสองคน (นางเกาฮุหยินและนางบิฮูหยิน) ห้ามผู้ใดเข้าออกถึงประตูที่อยู่ได้ 
  3. ถ้าพบเล่าปี่ ก็จะกลับไปอยู่กับเล่าปี่ เพราะสาบานเป็นพี่น้องกัน
     กวนอูเป็นผู้มีความซื่อสัตย์กตัญญู ถ้ายังไม่ได้ทดแทนคุณโจโฉ ก็จะต้องอยู่กับโจโฉต่อไป

- ความรู้ประกอบเรื่อง :
  1.      เรื่องสามก๊กเป็นเรื่องที่แผ่นดินจีนแบ่งออกเป็น สามก๊กใหญ่ๆ นับตั้งแต่สมัยพระเจ้าเลนเต้กษัตริย์ราชวงศ์ฮั่น ครองราชย์สมบัติ เมื่อ พ.ศ.711 พระเจ้าเลนเต้เป็นกษัตริย์ที่ปกครองบ้านเมืองด้วยความอ่อนแอ บ้านเมืองเกิดวิกฤตจลาจล ต่อมาราชสมบัติตกอยู่กับพระเจ้าเหี้ยนเต้ราชบุตร มีตั๋งโต๊ะและต่อมาโจโฉเป็นเซียงก๊ก เป็นมหาอุปราชดูแลการงานของแผ่นดิน เล่าปี่เชื้อสายราชวงศ์ฮั่น ครองแคว้นเสฉวน มีขงเบ้งเป็นที่ปรึกษา ซุนกวนอยู่เมืองกังตั๋งหัวเมืองทางทิศตะวันออก แผ่นดินจีนจึงแยกเป็นสามก๊กดังนี้
    • โจโฉ มีลูกคือ โจผี ราชวงศ์วุ่ย (วุ่ยก๊ก) อยู่เมืองหลวง
    • เล่าปี่ มีลูกคือ อาเต๊า ราชวงศ์ฮั่น (จ๊กก๊ก) อยู่เมืองเสฉวน
    • ซุนกวน ราชวงศ์ง่อ (ง่อก๊ก) อยู่เมืองวังตั๋ง
  2.      เรื่องสามก๊กเป็นวรรณกรรมประเภทนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ คือมีเค้าเรื่องเดิมมาจากเหตุการณ์ และตัวละครที่มีชีวิตจริงในประวัติศาสตร์ แล้วมีการแต่งเติมให้พิสดารขึ้น ในที่สุดมีนักเขียนฝีมือดี เรียบเรียง ให้เป็นวรรณกรรมที่สำนวนภาษาดี จึงมีคนติดใจแล้วแพร่หลายกันไปในหมู่นักอ่าน
  3.      หนังสือเรื่องสามก๊ก นักวรรณคดีไทยถือเป็นคู่กันกับหนังสือราชาธิราช แต่ผิดกันที่เรื่องสามก๊กนั้น ชนชาวจีนรับว่าเป็นเรื่องแต่ง แต่เรื่องราชาธิราช ชาวรามัญถือว่าเป็นพงศาวดารมอญ หนังสือสองเรื่องนี้ มีคุณสมบัติเหมือนกันคือ เป็นหนังสือที่มีสำนวนร้อยแก้วดีเสมอกัน คือ ดีในทางบรรยายและในการดำเนินเรื่อง การผูกบทสนทนา กลอุบายในการทำศึกทำให้เนื้อเรื่องสนุกสนานชวนติดตาม
  4.      สำนวนร้อยแก้วของหนังสือเรื่องสามก๊กและเรื่องราชาธิราช ได้มีผู้ถือเป็นแบบฉบับในการเรียบเรียงแปลจากนิยายจีนต่อมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 7 ต่อมาจึงมีผู้แปลเปลี่ยนสำนวนไปดังที่เห็นในปัจจุบัน
  5.      ศิลปะในการประพันธ์เรื่องสามก๊กอยู่ที่การดำเนินเรื่องให้ผู้อ่านตื่นเต้นไปกับเหตุการณ์อีกทั้งวิธีแสดงถึงลักษณะตัวละคร ใช้ถ้อยคำที่กล่าวถึงพฤติกรรมของตัวละคร ภาษาที่ใช้ สั้น กะทัดรัด เข้าใจง่าย แฝงคติธรรม ในการดำเนินชีวิต
  6.      คุณสมบัติของกวนอู คือ คุณสมบัติของนักรบ ความซื่อตรง การรักษาความสัตย์และมีความกตัญญู
  7.      วรรณคดีสโมสรในสมัยระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ยกย่องให้เรื่องสามก๊กเป็นยอดของความเรียงนิทาน
- ข้อคิดที่ได้รับ :
  1. การอ่านนิยายที่เป็นวรรณคดีมรดก จุดประสงค์สำคัญคือให้เห็นค่านิยมของบรรพบุรุษว่ามีแนวคิด ในเรื่องต่างๆอย่างไร เช่น ความประพฤติของตัวละคร เหมาะสมหรือไม่
  2. ความกตัญญู รักษาความสัตย์ และมีความซื่อตรง เป็นคุณธรรมที่สมควรได้รับการยกย่อง และนำมาเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต
  3. การอ่านวรรณกรรมที่ดีจะช่วยยกระดับและพัฒนาจิตใจให้ดีงามไปด้วย
- ลักษณะภาษาอันเป็นคำคมที่ควรคิด :
     “แลเรื่องราวสามก๊กนี้เป็นธรรมดา แผ่นดินมีความสุขก็นานแล้ว ก็ได้เดือดร้อนแล้วก็มีความสุขเล่า แลกระจายกันออกเป็นแว่นแคว้นแดนประเทศของตัวแล้วก็กลับรวมเข้า แยกออกเป็นสามก๊ก แล้วก็รวมเข้าเป็นก๊กเดียวกัน ชื่อว่า เมืองไต้จีน”

     “ซึ่งข้าพเจ้ามาหาท่านแต่ผู้เดียวนี้มีความอัปยศแก่คนทั้งปวงเป็นอันมาก ครั้งนี้ข้าพเจ้าจะกินน้ำสบถอยู่ทำการด้วยท่านกว่าจะสำเร็จ อ้วนเสี้ยวได้ฟังดังนั้นก็มีความยินดี จึงจัดแจงเครื่องอุปโภคและเครื่องบริโภคให้เป็นอันมาก ทำนุบำรุงเล่าปี่ไว้ในเมืองกิจิ๋ว”

     “ถึงมาตรว่าท่านจะได้ความลำบากก็อุปมาเหมือนหนึ่งลุยเพลิงอันลุกแลข้ามพระมหาสมุทรอันกว้างใหญ่ ก็จะลือชาปรากฏชื่อเสียงท่านไปภายหน้า ว่าเป็นชาติทหารมีใจสัตย์ซื่อกตัญญูต่อแผ่นดิน”

- หัวหน้าก๊กสำคัญในเรื่องสามก๊ก :
  1. โจโฉ เดิมรับราชการเป็นทหาร เคยรบชนะโจรโพกผ้าเหลือง ครั้งหนึ่งตั๋งโต๊ะกำเริบมากถึงกับ ถอดพระเจ้าเลนเต้แล้วตั้งตนเป็นอัครเสนาบดี ประพฤติตนชั่วช้าเลวทราม โจโฉก็เลยอาสาเอากระบี่ซ่อนจะไปฆ่า แต่ทำไม่สำเร็จต้องหนี ตั๋งโต๊ะนั้นภายหลังถูกอ้องอุ้นกำจัดได้ โดยยกนางเตียวเสี้ยนให้ลิโป้ทหารเอกของ ตั๋งโต๊ะแล้วทำกลให้ตั๋งโต๊ะผิดใจกับลิโป้เรื่องเมีย ลิโป้เลยฆ่าตั๋งโต๊ะเสีย ลิฉุย กุยกี พวกของตั๋งโต๊ะจะฆ่าอ้องอุ้น และบังคับ พระเจ้าเหี้ยนเต้ให้ตั้งพวกตนให้เป็นใหญ่ พระเจ้าเหี้ยนเต้ต้องเสด็จหนี โจโฉได้ปราบลิฉุยกับกิกุย ได้ เลยได้เป็นเสนาบดีทั้งฝ่ายทหารและพลเรือนปกครองเด็ดขาด จนคนเกลียดหัวเมืองกระด้างกระเดื่อง รบกัน ปราบกันอยู่นาน โจโฉปราบหัวเมืองต่างๆได้เป็นอันมาก แต่ที่ปราบไม่สำเร็จคือ ก๊กของซุนกวน กับก๊กเล่าปี่
  2. ซุนกวน เป็นเจ้าเมืองกังตั๋ง มีเมืองเล็กเมืองน้อยขึ้นอยู่มาก เป็นคนอยู่ในศีลธรรมซื่อตรง ปกครองประชาชนด้วยความยุติธรรม จึงมีสมัครพรรคพวกมากขึ้นตามลำดับ ก๊กซุนกวน เรียกว่า ง่อก๊ก
  3. เล่าปี่ เคยเป็นคนยากจนมาก่อน มีอาชีพทอเสื่อขายแต่มีเลือดเนื้อเชื้อไขของราชวงศ์ฮั่น นิสัยดี น้ำใจอารี นอบน้อมถ่อมตน มีคนรักใคร่มาก เมื่อปราบโจรโพกผ้าเหลืองมีคนดีหลายคนมาเป็นพวก ได้แก่ กวนอู เตียวหุย จูล่ง เล่าปี่ทำศึกชนะบ่อยครั้ง แต่ก็ไม่สามารถครองเมืองได้ถาวร ต้องเสียเมืองเสมอ ภายหลังได้ขงเบ้งมาเป็นที่ปรึกษา จึงได้ตั้งตัวเป็นมั่นคงได้ที่เมือง เสฉวน ก๊กเล่าปี่เรียกว่า จ๊กก๊ก
     เหตุการณ์เปลี่ยนไปเมื่อโจโฉตาย โจผีตาย โจยอยผู้โอรส ขึ้นครองราชย์สมบัติ ทั้งสามก๊กต่อสู้รบกัน เรื่อยมา สุมาเจียวอุปราชวุยก๊กได้ปราบก๊กเล่าเสี้ยน(บุตรเล่าปี่) หรือจ๊กก๊ก

     ต่อมา สุมาเอี๋ยน (บุตรสุมาเจียว) ถอดพระเจ้าโจฮวน ตั้งตนเป็นฮ่องเต้แห่งราชวงศ์จิ้น ได้ปราบง่อก๊ก คือ ก๊กซุนกวนได้ สามก๊กจึงเป็นก๊กเดียวกัน นับว่าได้ทำสงครามต่อเนื่องนานถึง 111 ปี จึงจะสามารถรวมประเทศจีนได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

- ความแพร่หลาย :
     เรื่องสามก๊กนี้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก เพราะมีผู้แปลเป็นภาษาต่างๆ มากมาย
  1. ภาษาญี่ปุ่น พ.ศ.2235
  2. ภาษาเกาหลี พ.ศ.2402
  3. ภาษาญวน (เวียดนาม) พ.ศ.2452
  4. ภาษาเขมร ไม่ทราบ พ.ศ.
  5. ภาษามลายู พ.ศ.2435
  6. ภาษาละติน ไม่ทราบ พ.ศ.
  7. ภาษาสเปน พ.ศ.2373
  8. ภาษาฝรั่งเศส พ.ศ.2388
  9. ภาษาอังกฤษ พ.ศ.2469
  10. ภาษาไทย พ.ศ.2345
- คุณค่าของหนังสือเรื่องสามก๊ก :
     1. ให้ความรู้เกี่ยวกับตำราพิชัยสงคราม ซึ่งมีค่าทางด้านยุทธวิธีในการสงครามให้ความรู้เกี่ยวกับปรัชญาคติธรรมในการดำรงชีวิต ทำให้ผู้อ่านฝึกฝนสติปัญญาความสามารถของตนให้เฉลียวฉลาด และนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้เป็นอย่างดี เช่น ความซื่อสัตย์ต่อตนเอง ต่อเพื่อน ต่อประเทศชาติ ความรับผิดชอบต่อหน้าที่ของตนตามที่ได้รับมอบหมาย เช่น
     “คำโบราณกล่าวไว้ว่า ธรรมดาอุปมาเหมือนอย่างเสื้อผ้าขาดแลหายแล้วหาใหม่ได้ พี่น้องเหมือนแขนซ้ายขวา ขาดแล้วยากที่จะต่อได้”
     “ธรรมดาเกิดมาเป็นมนุษย์ อันโรคและความตายจะกำหนดวันมิได้”
     “ยาดีกินขมปากแต่เป็นประโยชน์แก่คนไข้ คนซื่อกล่าวคำไม่เพราะหูแต่เป็นประโยชน์แก่กาลภายหน้า”

     2. มีสำนวนเฉพาะตัว นับว่าเป็นศิลปะในการแปลวรรณกรรมจากภาษาจีนที่เป็นตัวอย่างของการเขียนร้อยแก้วที่ดี ภาษาโบราณแต่ไม่ล้าสมัย เข้าใจได้จนถึงปัจจุบัน ภาษาง่าย กะทัดรัด สื่อความหมาย ความรู้สึก อารมณ์ความคิดได้ชัดเจน เช่น

     “อ้องอุ้นจึงว่าวันนี้แผ่นดินร้อนทุกเส้นหญ้าเจ้าก็ย่อมแจ้งอยู่แล้ว พระเจ้าเหี้ยนเต้นั้นอุปมาดังฟองไก่ อันวางอยู่หน้าศิลา ขุนนางกับอาณาประชาราษฎร์นั้นอุปมาดังหยากเยื่ออันใกล้กองเพลิงมิได้รู้ว่าความหมาย จะมาถึงเมื่อใด"

     3. มีอิทธิพลสำหรับวรรณคดียุคหลังๆทำให้เกิดสามก๊กมีหลายสำนวน ได้แก่
    1. สามก๊กฉบับวณิพก ของยาขอบ
    2. สามก๊กฉบับโจโฉนายกตลอดกาล ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช
    3. สามก๊กฉบับร้านกาแฟ ของ นายหนหวย
    4. สามก๊กฉบับปริทัศน์ ของ เธียรชัย เอี่ยมวรเมธ
    5. อินไซด์สามก๊ก ของ อ.ร.ด.
    6. สามก๊กฉบับการ์ตูน สำหรับเยาวชน
     4. สามก๊กมีอิทธิพลต่อความคิดและจินตนาการของสุนทรภู่ เช่น ในเรื่องพระอภัยมณี นางวาลีมีความ เฉลียวฉลาดวาจาคมคายเหมือนขงเบ้ง อุศเรนมี จุดจบ คือ กระอักโลหิต เหมือนจิวยี่

     5. นำมาแสดงละครนอกเป็นตอนๆ เช่นอ้องอุ้นกำจัดตั๋งโต๊ะ ตอนจิวยี่กระอักโลหิต หลวงพัฒนพงศ์ภักดี (ทิม สุขยางค์) เป็นผู้นำมาแต่งและแสดงเป็นบทละครนอก และเป็นที่นิยมเป็นอย่างยิ่ง

แบบฝึกหัดเรื่องสามก๊ก ตอน กวนอูไปรับราชการกับโจโฉ

5. แบบฝึกหัดเรื่องสามก๊ก

1. วรรณคดีสโมสรในรัชกาลที่ 6 ยกย่องให้สามก๊กเป็นยอดแห่ง
     ก. วรรณคดีบทละคร
     ข. ความเรียงเรื่องนิทาน
     ค. บทละคร
     ง. ยอดของนิทาน

2. ใครเป็นผู้อำนวยการแปลสามก๊ก
     ก. เจ้าพระยากำแพงเพชรอัครโยธิน
     ข. เจ้าพระยาโกษาธิบดี
     ค. เจ้าพระยาพระคลัง (หน)
     ง. เจ้าพระยาวิชาเยน

3. สามก๊กเป็นวรรณคดีที่แต่งขึ้นในสมัยใด
     ก. กรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น
     ข. กรุงธนบุรี
     ค. กรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น
     ง. กรุงรัตนโกสินทร์ตอนกลาง

4. จุดมุ่งหมายในการแปลเรื่องสามก๊กเพื่อ
     ก. เพื่อเป็นตำราการดำเนินนโยบายการเมืองและยุทธวิธี
     ข. เพื่อต้องการสร้างวรรณคดีจากเรื่องต่างประเทศ
     ค. เพื่อต้องการเผยแพร่ชื่อเสียงของกวีและคณะผู้แปล
     ง. เพื่อต้องการเป็นการบันทึกประวัติศาสตร์ของชาติ

5. ใครเป็นผู้แต่งสามก๊กฉบับภาษาจีน
     ก. เม่าจงกัง
     ข. กิมเสี่ยถ่าง
     ค. ล่อกวนตง
     ง. จางซุนกวง

6. ข้อใดไม่เกี่ยวข้องกับก๊กใหญ่ทั้ง 3
     ก. โจโฉ ตั้งตนที่เมืองหลวง
     ข. สุมาอี้ ตั้งตนที่เมืองปักกิ่ง
     ค. ซุนกวน ตั้งตนที่เมืองกังตั๋ง
     ง. เล่าปี่ ตั้งตนที่เมืองเสฉวน

7. จ๊กก๊ก หมายถึง ก๊ก ของใคร
     ก. โจโฉ
     ข. สุมาอี้
     ค. ซุนกวน
     ง. เล่าปี่

8. ง่อก๊ก หมายถึง ก๊ก ของใคร
     ก. โจโฉ
     ข. สุมาอี้
     ค. ซุนกวน
     ง. เล่าปี่

9. วุ่ยก๊ก หมายถึง ก๊ก ของใคร
     ก. โจโฉ
     ข. สุมาอี้
     ค. ซุนกวน
     ง.  เล่าปี่

10. กวนอู เป็นเจ้าเมืองปกครองของใคร
     ก. เมืองชีจิ๋ว
     ข. เมืองกิจิ๋ว
     ค. เมืองกังตั๋ง
     ง. เมืองแห้ฝือ

11. ใครเป็นผู้มาเกลี้ยกล่อมกวนอูให้ไปอยู่กับโจโฉ
     ก. สุมาอี้
     ข. อ้วนเสี้ยว
     ค. ตังสิน
     ง. เตียวเลี้ยว

12. “อุปมาเหมือนลูกนกอันขนปีกยังไม่ขึ้นพร้อม ” เป็นคำกล่าวของใคร กล่าวถึงใคร
     ก. อ้วนเสี้ยว กล่าวถึง ตังสิน
     ข. เทียหยก กล่าวถึง โจโฉ
     ค. โจโฉ กล่าวถึง เล่าปี่
     ง. เตียนห้อง กล่าวถึง ม้าใช้

13. เหตุใดโจโฉจึงคิดให้คน ไปเกลี้ยกล่อมกวนอูมาเป็นพวก
     ก. เพราะกวนอูมีความซื่อสัตย์
     ข. เพราะกวนอูมีความสามารถในกลอุบาย
     ค. เพราะกวนอูเป็นผู้ที่มีสติปัญญาดีเลิศ
     ง. เพราะกวนอูมีความกล้าหาญชำนาญในการรบ

14. “ ท่านได้มีคุณช่วยข้าพเจ้าไว้ บัดนี้ท่านมีความทุกข์ใหญ่หลวง ข้าพเจ้าจึงอุตส่าห์ขึ้นมาหวังจะแทนคุณท่าน ” ข้อความข้างต้นเป็นคำกล่าวของใครกับใคร
     ก. โจโฉกับกุยแก
     ข. เตียวเลี้ยวกับกวนอู
     ค. เล่าปี่กับเตียวหุย
     ง. อ้วนเสี้ยวกับเล่าปี่

15. “ ตัวเราก็มิได้รักชีวิต อันความตายอุปมาเหมือนนอนหลับ ” เป็นคำกล่าวของใคร
     ก. โจโฉ
     ข. กวนอู
     ค. เล่าปี่
     ง. เตียวหุย

16. “ ซึ่งท่านว่าทั้งนี้โทษมีอยู่กับตัวท่านถึงสามประการ คนทั้งปวงจะล่วงครหานินทาท่านได้ ” ท่านในที่นี้หมายถึงใคร
     ก. โจโฉ
     ข. กวนอู
     ค. เล่าปี่
     ง. เตียวหุย

17.ข้อใดไม่เกี่ยวข้องกับเหตุผลสามประการที่เตียวเลี้ยวกล่างกับกวนอู
     ก. กวนอู ควรรักษาชีวิตและครอบครัวของตนเองเอาไว้
     ข. หากกวนอูต้องตาย เล่าปี่และเตียวหุยต้องตายตามไปด้วย
     ค. เล่าปี่ฝากครอบครัวไว้กับกวนอู หากกวนอูตายไปใครจะดูแลครอบครัวของเล่าปี่
     ง. กวนอูควรรักษาชีวิตไว้เพื่อช่วยเล่าปี่ทำสงครามต่อไป

18. “ถึงมาตรว่าท่านจะได้ความลำบากก็อุปมาเหมือนหนึ่งลุยเพลิงอันลุก แลข้ามพระมหาสมุทรอันกว้างใหญ่ ก็จะลือชาปรากฏชื่อเสียงท่านไปภายหน้า ว่าเป็นชาติทหารมีใจสัตย์ซื่อกตัญญูต่อแผ่นดิน” ข้อความข้างต้นเป็นคำกล่าวของใคร
     ก. โจโฉกับกุยแก
     ข. เตียวเลี้ยวกับกวนอู
     ค. เล่าปี่กับเตียวหุย
     ง. อ้วนเสี้ยวกับเล่าปี่

19. ข้อใดมิใช่ข้อเสนอของกวนอูต่อโจโฉ
     ก. ขอเป็นข้าพระเจ้าเหี้ยนเต้
     ข. ขอพระราชทานเบี้ยหวัดของเล่าปี่ แก้ภรรยาของเล่าปี่และห้ามผู้ใดเข้าออกถึงประตูที่อยู่ได้
     ค. ขอให้โจโฉนำตนเองเข้าเฝ้าพระเจ้าเหี้ยนเต้
     ง. ถ้าพบเล่าปี่ ก็จะกลับไปอยู่กับเล่าปี่ เพราะสาบานเป็นพี่น้องกัน

20.เหตุใดโจโฉจึงให้กวนอูกับภรรยาเล่าปี่ทั้งสองคนนั้นอยู่เรื่อนเดียวกัน
     ก. หวังว่าจะทำให้กวนอูกับภรรยาเล่าปี่แตกคอกัน
     ข. หวังว่าจะทำให้กวนอูเสื่อมเสียชื่อเสียง
     ค. หวังว่ากวนอูจะเกิดความรำคาญในภรรยาเล่าปี่
     ง. หวังว่ากวนอูจะคิดร้ายกับภรรยาเล่าปี่

21. “ฝ่ายโจโฉทำนุบำรุงกวนอูมิให้อนาทร สามวันแต่งโต๊ะไปให้ครั้งหนึ่ง ห้าวันครั้งหนึ่ง” คำว่า แต่งโต๊ะ ในที่นี้หมายถึง
     ก. ตกแต่งโต๊ะให้สวยงาม
     ข. มอบโต๊ะที่สวยงามให้กับกวนอู
     ค. จัดอาหารเลี้ยงให้กับกวนอู
     ง. จัดอาหารให้ภรรยาเล่าปี่

22. “โจโฉเห็นกวนอูห่มผ้าขาด โจโฉจึงเอาเสื้ออย่างดีให้กวนอู กวนอูรับเอาเสื้อแล้ว จึงเอาเสื้อใหม่นั้นใส่ชั้นใน เอาเสื้อเก่านั้นใส่ชั้นนอก” เหตุที่กวนอูทำเช่นนั้น เพื่อเลี่ยงข้อครหาเรื่องใด
     ก. ผ้าขี้ริ้วห่อทอง
     ข. เห่อของใหม่
     ค. ได้ใหม่แล้วลืมเก่า
     ง. ทุกข้อที่กล่าวมา

23.พระเจ้าเหี้ยนเต้ พระราชทานชื่อใหม่ให้กวนอูว่า
     ก.แฮหัวตุ้น
     ข. ซิหลง
     ค. อิกิ๋ม
     ง. บิเยียงก๋ง

24.ชื่อใหม่ที่พระเจ้าเหี้ยนเต้ พระราชทานชื่อให้กวนอูนั้น แปลเป็นภาษาไทยว่า
     ก. จงรักภักดี
     ข. ซื่อตรง กตัญญู
     ค. เจ้าหนวดงาม
     ง. กล้าหาญ

25.โจโฉมอบม้าเซ็กเธาว์ ให้แก่กวนอู ม้าตัวนี้เคยเป็นม้าของใคร
     ก. จูล่ง
     ข. ลิโป้
     ค. จิวยี่
     ง. ม้าใช้

26.เหตุใดกวนอูจึงมีความยินดีรักม้ามากกว่าทรัพย์สินที่โจโฉให้
     ก. เพราะม้าตัวนี้มีลักษณะพิเศษหลายประการ
     ข. เพราะม้าตัวดังกล่าวเป็นม้าที่กวนอูอยากได้มานานแล้ว
     ค. เพราะมีกำลังมาก สามารถเดินทางได้ไกล กวนอูจะได้ขี่ไปหาเล่าปี่ได้
     ง. เพราะม้าตัวดังกล่าวเป็นม้าที่มีสายพันธุ์ดี มีความอดทนเป็นเลิศ

26. “ธรรมดาเกิดเป็นชายได้รู้จักที่หนักที่เบา ถ้าผู้ใดมิได้รู้จักที่หนักที่เบา คนทั้งปวงก็จะล่วงติเตียนว่าผู้นั้นหาสติปัญญาไม่” คำกล่าวข้างต้นเป็นคำกล่าวของใครกับใคร
     ก. โจโฉกับกุยแก
     ข. เตียวเลี้ยวกับกวนอู
     ค. เล่าปี่กับเตียวหุย
     ง. อ้วนเสี้ยวกับเล่าปี่

28.จากข้อ 27 ที่หนักที่เบา หมายความว่าอย่างไร
     ก.หน้าที่
     ข. บุญคุณ
     ค. ความจงรักภักดี
     ง. ความกตัญญูกตเวที

29.ใครเป็นผู้แนะโจโฉไม่ให้กวนอูออกไปรบ
     ก. ซุนฮก
     ข. เตี้ยวเลี้ยว
     ค. กุยแก
     ง. เคาทู

30.จากเรื่อง กวนอูได้รับการยกย่องในเรื่องใด
     ก. ความกล้าหาญ
     ข. ความจงรักภักดี
     ค.ความมานะ อดทน
     ง.ความซื่อสัตย์

31.ข้อเสนอของกวนอูข้อใดที่โจโฉไม่ยินยอม จนเตียวเลี้ยวต้องยกนิทานขึ้นมาอ้าง
     ก. ขอเป็นข้าพระเจ้าเหี้ยนเต้
     ข. ขอพระราชทานเบี้ยหวัดของเล่าปี่ แก้ภรรยาของเล่าปี่และห้ามผู้ใดเข้าออกถึงประตูที่อยู่ได้
     ค. ขอให้โจโฉนำตนเองเข้าเฝ้าพระเจ้าเหี้ยนเต้
     ง. ถ้าพบเล่าปี่ ก็จะกลับไปอยู่กับเล่าปี่ เพราะสาบานเป็นพี่น้องกัน

เฉลย :
  • [col]
    • 1-ข   
      2-ค   
      3-ค   
      4-ก   
      5-ค   
      6-ข   
      7-ง   
      8-ค   
      9-ก   
      10-ง   
    • 11-ง   
      12-ค   
      13-ง   
      14-ข   
      15-ข   
      16-ข
      17-ก   
      18-ข   
      19- ค
      20-ง   
    • 21-ค   
      22-ค   
      23-ง   
      24-ค   
      25-ข   
      26-ค   
      27-ข   
      28-ค   
      29-ก   
      30-ง   
      31-ง

กรุณาแสดงความคิดเห็น

ชื่อ

กวนอู,67,การ์ตูน,19,การเมือง,77,กิจกรรม,17,เกม,160,ขงเบ้ง,94,ของสะสม,40,ข่าวสาร,117,คำคมสามก๊ก,77,จิวยี่,5,จูล่ง,21,โจโฉ,66,ซุนกวน,7,เตียวหุย,11,เนื้อหาสามก๊ก,5,บทความ,353,บุคคลภาษิตในสามก๊ก,12,แบบเรียน,8,ปรัชญา,45,เพลง,41,ภาพยนตร์,53,รูปภาพ,67,ลิโป้,9,เล่าปี่,18,วิดีโอ,65,วิธีคิดวิธีทำงาน,13,เว็บไซต์,14,สถานที่,21,สามก๊ก12,14,สามก๊ก13,32,สามก๊ก14,3,สามก๊ก2010,95,สามก๊ก8,1,สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง(หน),87,สุมาอี้,15,หงสาจอมราชันย์,13,หนังสือ,173,อาวุธ,7,แอป,43,Dynasty Warriors,57,E-book,87,
ltr
static_page
สามก๊กวิทยา : Three Kingdoms Academy: สามก๊ก ม.6 ตอน กวนอูไปรับราชการกับโจโฉ
สามก๊ก ม.6 ตอน กวนอูไปรับราชการกับโจโฉ
สามก๊ก ม.6 ตอน กวนอูไปรับราชการกับโจโฉ : สรุป เนื้อเรื่องย่อจากหนังสือวรรณคดีวิจักษ์ ม.6 ตัวละครสำคัญ คุณค่าด้านวรรณศิลป์ สาระสำคัญที่ได้รับ รวมทั้งตัวอย่างแบบฝึกหัดพร้อมเฉลยคำตอบ ฯลฯ
สามก๊กวิทยา : Three Kingdoms Academy
https://www.samkok911.com/p/guan-yu-went-to-work-with-cao-cao.html
https://www.samkok911.com/
https://www.samkok911.com/
https://www.samkok911.com/p/guan-yu-went-to-work-with-cao-cao.html
true
4216477688648787518
UTF-8
โหลดเนื้อหาทั้งหมด ไม่พบเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง ดูทั้งหมด อ่านเพิ่ม ตอบ ยกเลิกการตอบ ลบ โดย หน้าแรก หน้า โพสต์ ดูทั้งหมด เรื่องแนะนำสำหรับคุณ หมวดหมู่บทความ เนื้อหาในช่วงเวลา ค้นหา บทความทั้งหมด ไม่พบเนื้อหาที่คุณต้องการ กลับหน้าแรก Sunday Monday Tuesday Wednesday Thursday Friday Saturday Sun Mon Tue Wed Thu Fri Sat January February March April May June July August September October November December Jan Feb Mar Apr May Jun Jul Aug Sep Oct Nov Dec just now 1 minute ago $$1$$ minutes ago 1 hour ago $$1$$ hours ago Yesterday $$1$$ days ago $$1$$ weeks ago more than 5 weeks ago Followers Follow THIS PREMIUM CONTENT IS LOCKED STEP 1: Share to a social network STEP 2: Click the link on your social network Copy All Code Select All Code All codes were copied to your clipboard Can not copy the codes / texts, please press [CTRL]+[C] (or CMD+C with Mac) to copy สารบัญ