"ยอดทหารเสือที่ถูกวิจารณ์ในแง่ลบมากที่สุด"
ในกลุ่มห้าทหารเสือของพระเจ้าเล่าปี่ อันประกอบด้วย กวนอู เตียวหุย จูล่ง ฮองตง และม้าเฉียวนั้น หากว่ากันตามฝีมือการรบแล้ว ค่อนข้างจะสูสีคู่คี่ กินกันไม่ลง แต่ในจดหมายเหตุสามก๊กของตันชิ่ว (เฉินโซว่) ได้มีการวิจารณ์ห้าทหารเสือตามอุปนิสัยใจคอ ซึ่งดูเหมือนว่าจะมีเพียง จูล่ง และฮองตงเท่านั้น ที่สอบผ่าน เพราะกวนอูซื่อสัตย์แต่ก็เย่อหยิ่ง เตียวหุยโผงผางอารมณ์ร้อนขาดความเมตตา ส่วนม้าเฉียวนั้นไม่ภักดีและไร้คุณธรรม
ประกอบกับเท่าที่อ่านจากบันทึกของตันชิ่ว ในส่วนของชีวประวัติบุคคลต่าง ๆ ที่ได้มีการกล่าวอ้างถึงกันนั้น ดูเหมือนว่าตันชิ่วจะยกให้ “ม้าเฉียว” เป็นคนที่ดูแย่ และเลวร้ายที่สุดในกลุ่มห้าทหารเสือนี้
ประวัติของม้าเฉียว
ม้าเฉียว (Ma Chao, 馬超) เป็นบุตรคนโตของม้าเท้ง เกิดที่เม้าหลิง (Maoling) ในเขตอิ้งฝุฟง (Fufeng) มณฑลส่านซี (Shaanxi) มีชื่อรองว่า เหมิ่งฉี่ (Mengqi, 孟起) มารดาเป็นสาวชาวเจี๋ยง ในวรรณกรรมสามก๊กนั้น ยกให้ม้าเฉียวเป็นนายทหารหนุ่มรูปงามมีเสน่ห์ และมีฝีมือการรบรวดเร็วรุนแรง แต่เนื้อหาในวรรณกรรมกับเนื้อหาทางประวัติศาสตร์ในช่วงเวลาของม้าเฉียวนั้นค่อนข้างแตกต่างกันอย่างมาก เพราะในประวัติศาสตร์นั้น ตัวตนของม้าเฉียวถูกดูแคลนจากผู้คนว่าเป็นเพียงคนหยาบช้าโดยเฉพาะกับเหตุการณ์ที่ทำให้เขาถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก ก็คือการเนรคุณบิดา และก่อกบฏต่อราชสำนัก จนเป็นเหตุให้ครอบครัวของเขาถูกประหารชีวิตจนหมดสิ้นม้าเฉียวในวรรณกรรม-ประวัติศาสตร์
ในวรรณกรรม ม้าเฉียวก่อกบฏ เพราะต้องการล้างแค้นให้ม้าเท้ง ผู้บิดา ที่ถูกโจโฉลวงไปสังหาร ณ เมืองหลวง แต่ในบันทึกทางประวัติศาสตร์นั้น เรื่องกลับตาลปัตรกัน เพราะ ม้าเท้งเป็นเจ้าเมืองเสเหลียงที่ได้รับการแต่งตั้งให้ไปรับราชการอยู่ในเมืองหลวงในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ม้าเท้งพร้อมกับครอบครัว จึงย้ายไปอาศัยอยู่ในเมืองหลวง เหลือเพียงม้าเฉียว ที่รับเป็นเจ้าเมืองเสเหลียงต่อจากบิดาต่อมาโจโฉได้มอบหมายให้ จงฮิว และ แฮหัวเอี๋ยน ยกทัพไปตีเตียวฬ่อเจ้าเมืองฮันต๋ง แต่ทั้งนี้จะต้องยกทัพผ่านเขตแดนเมืองเสเหลียง ม้าเฉียวจึงระแวงว่าโจโฉอาจจะลอบตีเมืองเสเหลียงของเขาก่อน ดังนั้นม้าเฉียวจึงหันไปสบคบคิดกับหันซุยศัตรูของบิดา โดยพูดกับหันซุยว่า “ก่อนหน้านั้น จงฮิวเคยแนะนำให้ข้าพเจ้าทำร้ายท่าน แต่บัดนี้ข้าพเจ้ารู้แล้วว่าคนแดนกวนตงนั้นไว้ใจมิได้ ข้าพเจ้าเองจะขอตัดพ่อตัดลูกกับบิดา แล้วมาสมัครเป็นบุตรของท่าน ท่านโปรดจงรับข้าพเจ้าเป็นบุตรด้วย” (ม้าเฉียวเคยร่วมรบมากับจงฮิว ส่วนม้าเท้งแม้จะเคยเป็นมิตรกับหันซุยมาก่อน แต่ต่อมาได้ผืดใจและกลายมาเป็นศัตรูกัน) หันซุยจึงรับม้าเฉียวเป็นบุตรบุญธรรม แม้จะมีผู้ทักท้วงไม่ให้เชื่อใจม้าเฉียวแล้วก็ตาม
ม้าเฉียวและหันซุยสามารถรวบรวมสมัครพรรคพวกและไพร่พลได้ถึง 100,000 นาย ยกทัพเข้าประชันกับโจโฉที่ด่านตงก๋วน โดยที่ตัวม้าเฉียวไม่ได้สนใจเลยว่าครอบครัวที่อยู่ในเมืองหลวง จะต้องตกอยู่ในที่นั่งลำบากเพราะการกระทำเยี่ยงกบฏของเขา ในเวลานั้นเล่าเจี้ยงเอง ก็กริ่งเกรงม้าเฉียวอยู่ และต้องการจะผูกสัมพันธ์กับม้าเฉียว โดยการยกลูกสาวให้ แต่ทว่าถูกทัดทานว่า ม้าเฉียวนั้นไร้มนุษยธรรมและไว้ใจไม่ได้ เล่าเจี้ยงจึงยกเลิกแผนผูกสัมพันธ์นั้นไป
![]() |
ม้าเฉียว (Ma Chao, 馬超) |
หลังจากหลบหนีและรวบรวมพรรคพวกขึ้นมาใหม่ ม้าเฉียวได้ตีเมืองลกเสและกิจิ๋วของอุยของ ตลอดจนดินแดนภาคตะวันตกเกือบทั้งหมด แล้วจึงเหิมเกริมตั้งตนเป็นขุนพลผู้พิชิตตะวันตก แต่ก็ถูกกลุ่มลูกน้องของอุยของต่อต้าน และยึดเมืองกิจิ๋วคืน ในขณะที่ม้าเฉียวไม่อยู่ ความโกลาหลครั้งนี้ม้าเฉียวได้สูญเสียบุตร ภรรยาที่อยู่ในเมือง ต่อมาเขาจึงแก้แค้นด้วยการสังหารมารดาของเกียงขิมที่ไร้ทางสู้ และสังหารเตียวเอี๊ย นายทหารในสังกัด แต่เป็นลูกชายของเตียวกั๋งหนึ่งในผู้ก่อการ เมื่อไม่มีที่อยู่อาศัยและไร้ครอบครัวแล้ว ม้าเฉียวจึงไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากหนีไปสวามิภักดิ์กับเตียวฬ่อเจ้าเมืองฮันต๋ง
ม้าเฉียวก็คือม้าเฉียว เมื่อไปอยู่กับเตียวฬ่อก็แสดงอาการไม่พอใจ ที่เตียวฬ่อขาดความทะเยอทะยาน เขายุให้เตียวฬ่อยกทัพไปตีเมืองเจี๋ยงหลายครั้งแต่ก็ไม่สำเร็จ ส่วนเตียวฬ่อเองก็เคยคิดยกลูกสาวให้ม้าเฉียวเช่นกัน (ม้าเฉียวคงหน้าตาดีมากจริง ๆ ถึง มีแต่คนจะยกลูกสาวให้) แต่เหล่าขุนนางไม่เห็นด้วย เพราะม้าเฉียวไม่เคยรักใครจริง เตียวฬ่อจึงล้มเลิก และระแวงในตัวม้าเฉียวมากยิ่งขึ้น พอม้าเฉียวรู้ว่าเตียวฬ่อระแวงตน จึงหลบหนีไปอยู่กับชนเผ่าพื้นเมือง ก่อนจะไปอยู่กับเล่าปี่ในที่สุด
คำวิจารณ์ในแง่ลบ
ในบันทึกทางประวัติศาสตร์ ได้ปรากฎว่ามีความคิดเห็นจากบุคคลต่าง ๆ ที่แสดงให้เห็นถึงความหยาบช้าของม้าเฉียวดังนี้- ตันชิ่ว (เฉินโซว่) บันทึกไว้ในประวัติม้าเฉียวว่า “ม้าเฉียวหยิ่งทะนง และประเมินขีดความสามารถของตนเองสูงเกินไป จนเป็นเหตุให้ตระกูลของเขาล่มสลาย ช่างน่าละอายยิ่งนัก นั่นเป็นเพราะเขาแสวงหาเกียรติยศ รั้งจะชิงดีชิงเด่นกับผู้อื่น จนตัวเองยังแทบเอาตัวไม่รอด”
- "ม้าเฉียวเก่งกล้า แต่ไร้มนุษยธรรม เป็นที่รู้กันว่าเขาไม่มีความจงรักภักดี จึงไม่อาจเชื่อได้อย่างสนิทใจว่าความสัมพันธ์นี้จะสามารถพึ่งพาอาศัยเขาได้” อองซาง กล่าวเตือนสติเล่าเจี้ยง ที่คิดจะยกลูกสาวให้แต่งงานกับม้าเฉียว
- "ม้าเฉียวมีฝีมือกล้าแข็งก็จริง แต่ไร้สติปัญญา ไม่มีทำนองคลองธรรม เขาจึงถูกล่อลวงจากกลอุบายได้โดยง่าย” เอียวหู นายทหารรองในสังกัดของอุยของเจ้าเมืองกิจิ๋ว กล่าวเพื่อแนะนำให้เกียงขิมกำจัดม้าเฉียว
- "ไอ้ลูกชั่วทรยศบิดา ไอ้ทหารเลวฆ่านาย” มารดาของเกียงขิมด่าม้าเฉียว ก่อนที่ม้าเฉียวจะเอากระบี่ฟันจนตาย
- "คนที่แม้แต่ครอบครัวยังไม่รักไม่ห่วงใย แล้วคนเช่นนี้จะรักใครได้อีกเล่า?" เตียวฬ่อเปรียบเปรยถึงม้าเฉียว เนื่องจากกรณีเขาทำการกบฏต่อราชวงศ์ฮั่น จนทำให้ครอบครัวของเขาถูกตัดสินประหารชีวิต
- " ม้าเฉียว ก่อการ และสร้างอำนาจในดินแดนจิ๋นสามแห่ง (เขตกวนจง) ยึดครองอาณาบริเวณลุ่มแม่น้ำและด่านตงก๋วน กระทำการอุกอาจต่อต้านราชสำนัก โดยไม่สนใจใยดีต่อความคิดเห็นของสมัครพรรคพวก จนเกิดความขัดแย้ง เป็นผลให้ครอบครัวและกองทัพของเขาต้องพินาศย่อยยับ เพราะไม่รู้ผิดแลชอบ สุดท้ายจึงหันไปพึ่งบารมีของมังกรและหงส์ (หมายถึงผู้มีอำนาจและความมั่นคง)” เอียวยี่
- มีตัวอย่างของความล้มเหลวอยู่สองสามเรื่อง นั่นคือเรื่อง ความสัมพันธ์ทางการทูตของโจว และเจิ้ง (แลกเปลี่ยนสมาชิกในครอบครัวกัน แต่สุดท้ายต้องมาทำสงครามกัน), ฮั่นเกาจูขอน้ำแกงฉันท์พี่น้อง (เซียงอวี่จับบิดาของเล่าปัง(ฮั่นเกาจู่) ได้และขู่ว่าหากเล่าปังไม่ยอมแพ้ จะสังหารบิดาเล่าปังโดยการนำไปต้มยำทำแกงทั้งเป็น แต่เล่าปังกลับตอบว่า “เราทั้งคู่เป็นพี่น้องร่วมสาบานกัน บิดาข้าจึงเป็นเหมือนบิดาท่าน หากท่านนำบิดาไปทำเป็นอาหาร ก็ได้โปรดแบ่งน้ำแกงนั้นให้ข้าพเจ้าด้วย”) และขุยเสี่ยวส่งลูกชายเป็นตัวประกัน (เรื่องสมัยฮั่นตะวันออก) และม้าเฉียวเนรคุณบิดา” ซุนเซง
เรื่องที่เขาเขียนแต่เดิมก็ไม่รับการยอมรับนัก แต่ได้พวกขุนนางของจิ้นก๊กมาคัดลอกอีกทีหนึ่ง ซึ่งกว่าจะผ่านการตรวจทานและรับรองได้นั้น คาดว่าน่าจะถูกดัดแปลงไปบ้าง ไม่มากก็น้อย ทั้งนี้หากเราดูจากวิธีการเลือกใช้คนของเล่าปี่ ที่นิยมชมชอบคนที่มีคุณธรรมเป็นหลัก แล้วก็น่าคิดว่า ถ้าม้าเฉียวหยาบช้าจริง เล่าปี่จะตั้งให้เป็นทหารเสือซึ่งเป็นตำแหน่งสำคัญได้หรือ ?
![]() |
ม้าเฉียวจากภาพเขียนโบราณของญี่ปุ่น |
จุดจบของม้าเฉียว
เกร็ดประวัติศาสตร์อีกอย่างหนึ่งที่ควรนำมาพิจารณาก็คือ “นอกจากจูล่งแล้ว ทหารเสืออีกคนที่ตายบนเตียงก็คือม้าเฉียว” จากเดิมที่ในวรรณกรรมเขียนว่าม้าเฉียวตายเพราะตามขงเบ้งไปรบกับเบ้งเฮ็กนั้นไม่จริง เพราะตามประวัติศาสตร์ เขียนไว้ว่าม้าเฉียวตายในปี ค.ศ.222 ด้วยวัย 47 ปี (ตายก่อนเล่าปี่ 1 ปี) โดยเขาได้เขียนจดหมายลาเล่าปี่ว่า“เดิมทีนั้นข้าพเจ้ามีครอบครัวมากมายร่วม 200 ชีวิต แต่ก็ถูกโจโฉสังหารหมดสิ้น มาจนบัดนี้คงเหลือแต่เพียงญาติผู้น้อง ม้าต้าย เท่านั้นที่พอจะสืบวงศ์ตระกูลต่อไป ข้าพเจ้าจึงอยากจะขอความเมตตาจากท่านเป็นครั้งสุดท้าย ได้โปรดจงชุบเลี้ยงเขาด้วย“ จึงพอสรุปว่า ทหารเสือทั้งห้าคนนั้น มีจูล่งกับม้าเฉียวที่ตายตามอายุขัย ไม่ได้ตายด้วยคมอาวุธ
เรื่องม้าเฉียวในประวัติศาสตร์นี้ ผมก็ขอฝากไว้เป็นเกร็ดประดับความรู้ แม้จะไม่สำคัญหรือมีผลกระทบอะไรกับโครงเรื่องสามก๊กมากนัก แต่ก็เห็นว่าเป็นเรื่องแปลกดี และไม่มีให้อ่านจากในวรรณกรรม ทั้งที่ใจจริงแล้ว ผมไม่อยากเขียนอะไรแนวนี้สักเท่าไหร่ เพราะแฟน ๆ จ๊กก๊กและม้าเฉียวหน้าหยก อาจจะไม่พอใจและขัดเคืองกันได้
ประกอบกับตัวผมเองนั้น โดยส่วนตัวแล้วก็ไม่ค่อยเชื่อเรื่องสามก๊กในประวัติศาสตร์มากนัก และชอบเสพย์รสวรรณกรรม โดยเฉพาะกับสำนวนแปลงแบบไทย ๆ ของเจ้าพระยาพระคลัง (หน) มากกว่า เพราะอ่านแล้วมีความสุข สนุกกว่าอ่านสามก๊กแบบประวัติศาสตร์มากโข ...
ประวัติศาสตร์ .... ที่อ่านไป อ่านมาแล้ว แทบจะไม่เหลือคนดีอยู่เลย .....
ข้อมูลอ้างอิง
ความคิดเห็น