หนังสือพิมพ์แนวหน้า ฉบับวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2558 ในคอลัมน์การเมือง "เลียบวิภาวดี" ของคุณ กมลศักดิ์ ตั้งธรรมนิยม ได้เขียนบทความการเมืองบทความหนึ่งเรื่อง "หลายอารมณ์" อันว่าด้วยอารมณ์อันหลายหลายของมนุษย์ แต่แปลกหน่อยตรงที่มนุษย์ประเภท "ผู้นำ" มักจะมีบุคคลิกพิเศษ เป็นคนประเภทมาก หลาก และหลายอารมณ์“ในแผ่นดินนี้มีแต่ข้าและท่านเท่านั้นที่จะเป็นผู้นำที่ปราดเปรื่อง”
ในบทความกล่าวถึงบุคคลสำคัญต่าง ๆ ทั้งดารา นักแสดง ผู้นำต่างชาติ และก็แน่นอนว่ามีตัวละครจากวรรณกรรมจีนเรื่องสามก๊กนั่นคือ "เล่าปี่" ผู้นำของอาณาจักรจ๊กรวมอยู่ด้วย ทั้งนี้แม้จะมีการกล่าวถึงเพียงวรรคตอนสั้น ๆ แต่ก็อ่านสนุก ได้ความคิดประเทืองสติปัญญาไม่น้อย จึงขอบันทึกไว้ให้อ่านกันครับ
หลายอารมณ์
เลียบวิภาวดี, กมลศักดิ์ ตั้งธรรมนิยมมนุษย์ทุกคนล้วนมีอารมณ์อันหลากหลาย มนุษย์ทุกคนล้วนมีอารมณ์โกรธ เกลียด ชิงชัง ดุดัน ก้าวร้าว รัก ดีใจ เสียใจ ละมุนละไมอย่างลึกซึ้งและมีอารมณ์ขันทำให้ผู้อื่นเข็มขัดหลวมได้ทั้งสิ้น
แต่ละปัจเจกบุคคลล้วนมีอารมณ์ต่างๆ แปลกแยกกันไป อาจมีอารมณ์ด้านหนึ่งด้านใดเข้มข้นกว่าอารมณ์อื่นๆ
แน่นอนครับ “ชาร์ลี แชปปลิ้น” ย่อมมีอารมณ์ขันอย่างเหลือเฟือในขณะที่อารมณ์โศกเศร้าเสียใจที่มีอยู่ ได้ถูกจำอวดยอดดังซ่อนไว้อย่างลึกๆ จนผู้คนทั้งโลก “ขุดไม่พบ”
เช่นเดียวกับ “ชมพู่ ก่อนบ่าย” ตลกหญิงชื่อดังของเมืองไทย เป็นผู้มีอารมณ์หฤหรรษท่วมท้นกว่าอารมณ์อื่น แม้บางวันชีอาจเครียดจนแทบสติแตกและอาจจะเศร้าจนเกือบร้องไห้ แต่ถึง “เวลาเข้ากล้อง” ทีไรชมพู่ต้องทำให้ผู้ดูผู้ชมหัวเราะลั่นจนก้นไม่ติดเก้าอี้ โดยสามารถเก็บอารมณ์อื่นได้อย่างมิดชิด
![]() |
เล่าปี่ ร่ำสุรากับโจโฉ |
“เล่าปี่” จอมคนแห่งสามก๊กก็เช่นกัน แม้จะเป็นผู้ทะเยอทะยานและมักใหญ่ใฝ่สูง แต่วันที่ร่ำสุรากับโจโฉตามลำพัง โจโฉต้องการล้วงความลับในใจ จึงเปรยว่า “ในแผ่นดินนี้มีแต่ข้าและท่านเท่านั้นที่จะเป็นผู้นำที่ปราดเปรื่อง” เล่าปี่กลัวภัยจากโจโฉ จึงเก็บอาการทะเยอทะยานไว้อย่างมิดชิด แล้วปล่อยอาการขี้ขลาดและโง่เขลาให้โจโฉได้เห็นจนโจโฉเชื่อสนิทใจ คนอย่างเล่าปี่ไม่เป็นภัยต่อตนเอง
ผู้นำระดับองค์กร ระดับชาติ และระดับโลก คือปุถุชนที่มีอารมณ์อันหลากหลายทั้งสิ้น แต่ทุกคน “เก็บอาการ” และ “เก็บอารมณ์” ได้อย่างยอดเยี่ยม แต่บางครั้งผู้นำเหล่านั้น ก็ปล่อยอารมณ์ดุดันออกมาเพื่อเรียกคะแนนนิยมจากบางสถานการณ์ได้อย่างชาญฉลาด
ก็ดูตัวอย่าง “อาเบะ” ผู้นำญี่ปุ่น เป็นต้น ปกติเป็นผู้สุขุม เยือกเย็น ไม่ปล่อยอารมณ์โกรธแค้น และชิงชังให้ผู้ใดได้เห็น
ครั้นตัวประกันชาวญี่ปุ่นถูกกลุ่มไอเอสตัดคออย่างโหดเหี้ยม “อาเบะ” ก็ได้สลัดเสื้อคลุมสุภาพบุรุษทิ้งไป แล้วออกมาเบ่งกล้ามคล้ายแรมโบ้พร้อมกับประกาศด้วยอารมณ์แบบนักเรียนอาชีวะ ของไทย “ไอเอสทำกับคนญี่ปุ่นเช่นนี้ อภัยให้ไม่ได้ จะต้องมีการล้างแค้นให้สาสม”
การปล่อยอารมณ์โกรธแค้นเต็มพิกัดแบบนี้ เป็นการ “ซื้อใจ” ชาวญี่ปุ่นทั้งประเทศได้แบบเต็มๆ โดยอาเบะไม่ต้องจ่ายเงินสักเก๊
ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่ผู้นำยุคใหม่ของหลายประเทศ มักเป็น “คนหลายอารมณ์” และสามารถปล่อยอารมณ์แปลกๆ ในจังหวะเหมาะ เหมือนนักแสดงมืออาชีพ
กมลศักดิ์ ตั้งธรรมนิยม
เว็บไซต์ที่เกี่ยวข้อง
ความคิดเห็น