Loading ...

$show=home

จุดเริ่มต้นของการศึกษาสามก๊ก

แหล่งศึกษาเรียนรู้ ทุกเรื่องราวของวรรณกรรมเพชรน้ำเอกของโลก

สามก๊กวิทยา : THREE KINGDOMS ACADEMY

ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่อาณาจักร
"สามก๊กวิทยา"
THREE KINGDOMS ACADEMY

กลศึกสามก๊ก

"กลศึกสามก๊ก" หนังสือสามก๊กฉบับตีพิมพ์ใหม่ ครั้งที่ 4 ผลงานการแปลของอาจารย์ บุญศักดิ์ แสงระวี นักแปลรางวัลสุรินทราชา จากสมาคมนักแปลและล่ามแห่งประเทศไทย และนักเขียนรางวัลนราธิป จากสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ที่ว่าด้วยอุบายร้อยเล่ห์กลยุทธ์ จากแม่แบบวรรณคดีการศึก พิเคราะห์ วิจารณ์แบบเจาะลึก "กลศึกสามก๊ก" เดิมนั้นเขียนโดย หลี่ปิ่งเยี่ยน กับ ซุนจิง อาจารย์สถาบันการทหารของกองทัพปลดแอกประชาชนจีน พิมพ์โดยสำนักพิมพ์กองทัพปลดแอกในปักกิ่ง พวกเรานักอ่านชาวไทยจึงโชคดี ที่ได้อาจารย์บุญศักดิ์ ฯ ผู้แตกฉานในตำราพิชัยสงครามเป็นผู้แปลและถ่ายทอดออกมาเป็นภาษาไทยได้อย่างน่าชื่นชม หลอมรวมจนกลายเป็นตำรากลยุทธ์ที่สมบูรณ์เหนือใคร
กลศึกสามก๊ก
"เจนจบยอดอุบาย พิชิตได้ด้วยกลศึก ปรับเปลี่ยนดังใจนึก ประยุกต์ได้ทุกเหตุการณ์"
     "กลศึกสามก๊ก" หนังสือสามก๊กฉบับตีพิมพ์ใหม่ ครั้งที่ 4 ผลงานการแปลของอาจารย์ บุญศักดิ์  แสงระวี  นักแปลรางวัลสุรินทราชา จากสมาคมนักแปลและล่ามแห่งประเทศไทย และนักเขียนรางวัลนราธิป จากสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ที่ว่าด้วยอุบายร้อยเล่ห์กลยุทธ์ จากแม่แบบวรรณคดีการศึก พิเคราะห์ วิจารณ์แบบเจาะลึก

      "กลศึกสามก๊ก" เดิมนั้นเขียนโดย หลี่ปิ่งเยี่ยน กับ  ซุนจิง อาจารย์สถาบันการทหารของกองทัพปลดแอกประชาชนจีน พิมพ์โดยสำนักพิมพ์กองทัพปลดแอกในปักกิ่ง พวกเรานักอ่านชาวไทยจึงโชคดี ที่ได้อาจารย์บุญศักดิ์ ฯ ผู้แตกฉานในตำราพิชัยสงครามเป็นผู้แปลและถ่ายทอดออกมาเป็นภาษาไทยได้อย่างน่าชื่นชม หลอมรวมจนกลายเป็นตำรากลยุทธ์ที่สมบูรณ์เหนือใคร

     หนังสือเล่มนี้วางตลาดแล้วตามร้านหนังสือชั้นนำทั่วไป ท่านผู้ใดสนใจลองไปหาซื้อได้ สนนราคาเล่มละ 280.- บาท หรือทดลองอ่านได้ โดยการ Download ไฟล์ eBook ไปทดลองอ่านฟรี ที่นี่ ครับ

คำนำผู้แปล

     ในประวัติศาสตร์การทหารโบราณอันยาวนานของประเทศจีน มียุคประวัติศาสตร์อยู่ 2 ยุคที่ค่อนข้างรุ่งเรืองเฟื่องฟู คือ ยุคชุนชิวจ้านกว๋อ (770–221 ปี ก่อน ค.ศ.) กับยุคสามก๊ก (ค.ศ. 220–280)  ทั้ง 2 ยุคนี้ ล้วนเป็นยุคที่เจ้าครองแคว้นต่างชิงกันยึดครองพื้นที่ พวกขุนศึก ต่างชิงกันเป็นใหญ่ รบราฆ่าฟันมิได้หยุดหย่อน ก่อให้เกิดความปั่นป่วนวุ่นวายไปทั่วทั้งแผ่นดิน สงครามที่ต่อเนื่องกันปีแล้วปีเล่า ได้ทำลายการผลิตลงไป ชีวิตความเป็นอยู่ ของประชาชนต้องตกทุกข์ได้ยากเลือดตากระเด็น แต่ในอีกด้านหนึ่ง ระเบียบเก่าของสังคมก็พลอยแหลกสลายไป ทัศนะประเพณีดั้งเดิมที่เคยผูกมัดความคิดของผู้คนมาแต่เก่าก่อน ก็ถูกกระทบกระแทกอย่างรุนแรง

     การปฏิบัติในสงครามมีความเรียกร้องต้องการที่จะพัฒนาทฤษฎีการทหาร การปกครองอย่างรีบด่วน ในขณะเดียวกันก็ได้เสนอวัตถุดิบให้แก่การพัฒนาทฤษฎีการทหาร การปกครอง อย่างอุดมสมบูรณ์ จากนี้จึงได้สร้างความเฟื่องฟูแก่ความคิด วิชาการทหาร การปกครอง และการบริหาร ของสองยุคนี้อย่างไม่เคยปรากฏมาแต่ก่อน

      ในการรบพัลวันของยุคชุนชิวจ้านกว๋อ ก็ได้ผลิตตำราพิชัยสงครามอันอมตะ ดังเช่นของ ซุนวู กับ อู๋จื่อ และ ซือหม่าฝ่า เป็นต้น เช่นเดียวกัน ในยุคสามก๊ก ก็ได้สร้างบุคคลผู้มีอัจฉริยะทางการทหารเยี่ยงโจโฉและขงเบ้งให้ปรากฏขึ้น แม้ ตำราพิชัยสงครามโจโฉ จะหาต้นฉบับไม่พบแล้วก็ตาม แต่ตำราพิชัยสงครามซุนวู ที่โจโฉให้คำอธิบายเป็นคนแรก และ ชมรมขุนพล ของขงเบ้ง ก็ได้ส่องแสงเป็นประกายอย่างไม่มีวันดับชั่วกาลนาน

     มีคำพังเพยกล่าวไว้ว่า “กลียุคสร้างวีรชน” ในการต่อสู้ทำสงครามเพื่อชิงความเป็นใหญ่ของเหล่าขุนศึกเป็นดังทะเลบ้าซึ่งคลื่นใหญ่ลมแรงม้วนตลบกลับไปกลับมาอย่างคลุ้มคลั่ง ย่อมจะบังเกิดบุคลากรที่มีความสามารถทางการทหารและ การปกครองแผ่นดินขึ้นมาเป็นจำนวนมาก ดังเช่น ซุนวู (ซุนอู่) อู๋จื่อ (อู๋ฉี่) ขวันต๋ง (ก่วนจ้ง) งักเย (เยวี่ยอื้) ซือหม่าหยางจี และ ซุนปิน ในยุคชุนชิวจ้านกว๋อ โจโฉ ขงเบ้ง จิวยี่ สุมาอี้ ลกซุน ในยุคสามก๊ก เป็นต้น ล้วนแต่เป็นบุคคลซึ่งโลดแล่นอยู่ในยุคสมัยของตน ต่างแสดงสติปัญญาความสามารถของแต่ละคนอย่างเต็มกำลัง และล้วนทิ้ง ผลงานของตนไว้ในประวัติศาสตร์อย่างไม่อาจจะลบเลือนได้ทั้งสิ้น

     ตำนานสามก๊ก ในขณะที่ได้พรรณนาถึงความเป็นไปในประวัติศาสตร์ซึ่งรวมแล้วแยก แยกแล้วรวม คบแล้วแตก แตกแล้วคบ สลับกันไปมา ซึ่งมีการต่อสู้ฟาดฟันกันอย่างเอาเป็นเอาตาย ใครดีใครอยู่ เผยภาพลักษณ์แห่งนักการทหารทั้งหลาย ผู้เปี่ยมล้นด้วยความเป็นวีรชนที่โอ่อ่าผ่าเผยและฮึกห้าวเหิมหาญเป็นอย่างยิ่ง ต่างโลดเต้นคึกคักเหมือนยังมีชีวิตอยู่

     แน่นอน แม้ ตำนานสามก๊ก เป็นงานวรรณกรรมซึ่ง “มีข้อเท็จจริง 7 ส่วน ปั้นแต่งขึ้น 3 ส่วน” ก็จริง แต่ก็จำต้องยอมรับว่ายุทธศาสตร์ยุทธวิธี การรุกการรับ ชัยชนะและความพ่ายแพ้ ตลอดจนความแข็งความอ่อน สามัญและพิสดาร ที่เขียน ไว้ในวรรณกรรมชิ้นนี้โดยพื้นฐานแล้ว ก็สอดคล้องกับหลักการของวิทยาศาสตร์การทหาร และกฎเกณฑ์แห่งสงคราม เรื่องราวที่ปั้นแต่งขึ้นเช่น “ยืมเกาทัณฑ์ด้วยเรือฟาง” “กลเมืองว่าง” มิใช่แต่สามารถเห็นได้จากการรบที่คล้ายคลึงกันในสมัยนั้น ทั้งในระยะ ก่อนหรือหลังจากนั้น ก็มีตัวอย่างการรบให้เห็นอยู่มากมาย ฉะนั้นการปั้นแต่งใน วรรณกรรมชิ้นนี้จึงมีต้นธารมาจากชีวิตสงคราม แต่ก็ยกระดับขึ้นสูงกว่าชีวิตสงคราม ทั้งยังสามารถสะท้อนให้เห็นกฎการชี้นำสงครามบางอย่างบาง ประการอย่างลึกซึ้งด้วย จึงเป็นที่ยกย่องกันว่า ตำนานสามก๊ก โดยเนื้อแท้แล้ว เป็นตำราพิชัยสงคราม ที่เป็นรูปธรรมที่ทรงคุณค่าอย่างยิ่งยวดเล่มหนึ่ง

     ตำนานสามก๊ก ซึ่งมีความยาวถึง 70 หมื่นตัวอักษรจีน และ 10 เล่มสมุดเมื่อ แปลเป็นภาษาไทยสำนวนเจ้าพระยาพระคลัง (หน) รวม 2,143 หน้า เขียนถึงสงคราม ที่ไม่เคยว่างเว้นเลยตั้งแต่ปลายสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันออก (ค.ศ. 25–220) มาจนถึงต้นราชวงศ์จิ้น (245–316) ซึ่งเป็นเวลาถึงเกือบ 1  ศตวรรษ  ซึ่งหลัวก้วนจงผู้เขียนใช้ ฝีมือทางวรรณกรรมของเขาวาดภาพการรบอันสลับซับซ้อนพลิกกลับไปกลับมา จำนวนนับไม่ถ้วนแต่ต้นจนปลาย อันสะท้อนให้เห็นถึงความคิดการทหารสมัยโบราณของจีนอย่างมีภาพพจน์เป็นรูปธรรม มันมิใช่แต่เป็นการขยายบันทึกการรบอย่างง่าย ๆ สั้น ๆ ในหนังสือประวัติศาสตร์ให้ลึกกว้างออกไปเท่านั้น หากยังได้สอดแทรก เอาประสบการณ์แห่งชีวิต ความรู้เกี่ยวกับสงครามและความช่ำชองในตำราพิชัยสงครามหลากหลายของหลอก้วนจงผู้เขียนเข้าไปไว้ในนั้นด้วย

     ผู้เขียนเขียนถึงสงคราม มิใช่เขียนแต่เรื่องการประจัญบานกันของทหารทั้งสองฝ่ายด้วยอาวุธสั้นจนเลือดท่วมกีบม้าทำนองเดียวกันทั้งหมด แต่ได้เขียนถึงการต่อสู้กันทางกลอุบายในระหว่างการต่อสู้กันด้วยความกล้าหาญ เขียนถึงการต่อสู้กันทางกลวิธีในระหว่างการต่อสู้กันด้วยพลังในการรบใหญ่น้อยทั้งปวง ที่ผันแปรเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ล้วนแต่มีลักษณะพิเศษที่แตกต่างกันนานา ในความขัดแย้งระหว่างขุนศึกที่สลับซับซ้อนเป็นอย่างยิ่ง การต่อสู้ทางการทหาร การเมือง เศรษฐกิจ การทูต ได้หล่อหลอมไว้ด้วยกัน ยิ่งทำให้ยุทธศาสตร์และยุทธวิธีที่พลิกแพลงมีชีวิตชีวา แสดงออกเป็นหลายรูปแบบ การแสดงรูปลักษณ์ การสร้างสถานการณ์ การใช้กลวิธี การรุกรับ การคำนวณประเมิน การใช้เล่ห์กล การรบพิสดาร การใช้จารชนในตำราพิชัยสงครามโบราณ ได้ปรากฏแก่สายตาเราเป็นภาพลักษณ์ จริงจังและอย่างเต็มที่ จึงมีผู้กล่าวว่า การอ่าน ตำนานสามก๊ก ของหลัวก้วนจง เหมือนกับได้เข้าไปอยู่ในห้องเรียนใหญ่วิชาการทหาร การปกครอง ที่ตื่นเต้นมีชีวิตชีวาห้องหนึ่งทีเดียว

     นักวิชาการซึ่งสนใจค้นคว้า ตำนานสามก๊ก ระดับโลก มีความเห็นกันในทำนองว่า นิยายสงครามที่เขียนถึงการต่อสู้ทางการทหารในโลกนี้มีมากมาย แต่สามารถสะท้อนถึงการใช้อุบายต่อสู้ด้วยกลศึก การใช้ศิลปะการบัญชาทัพ สมรรถนะ ในการทำศึก ยากที่จะหาเล่มใดเทียบกับ ตำนานสามก๊ก เล่มนี้

     การที่หลัวก้วนจงได้รับความสำเร็จใน ตำนานสามก๊ก ก็เพราะเขายึดกุมข้อมูล ทางประวัติศาสตร์ไว้อย่างสมบูรณ์ ในขณะเดียวกันตัวของหลัวก้วนจงเองก็เป็นนักวางแผนกลอุบายการทหาร และมีความเชี่ยวชาญในด้านนี้เป็นอย่างยิ่ง มิฉะนั้นแล้ว ก็ยากที่หลัวก้วนจงจะเขียน ตำนานสามก๊ก นี้ออกมาได้

     หลัวก้วนจงเป็นคนเมืองไท่เหวียนแห่งซานซี ชีวประวัติของเขาเลือนหายไปพร้อม ๆ กับประวัติศาสตร์ เรารู้แต่เพียงว่า เขามีชีวิตอยู่ในช่วงปลายราชวงศ์หยวน ต้นราชวงศ์หมิง (ประมาณ ค.ศ. 1330–1400) เวลานั้น ชาวต่างชาติเข้ารุกรานราษฎรบ้านแตกสาแหรกขาด การผลิตเสื่อมทรุด ประชาชนตกอยู่ในความเดือดร้อน อดอยากแสนสาหัส ภาวะดังนี้คล้ายคลึงกับสังคมในสมัยสามก๊ก (ค.ศ. 220–280) ซึ่งกลุ่มขุนศึกรบพุ่งกันพัลวัน ประชาชนร้องระงมไปทุกหย่อมหญ้า

      ในยุคสมัยที่หลัวก้วนจงดำรงชีวิตอยู่ นิยายต่าง ๆ  เกี่ยวกับสามก๊กซึ่งเป็นยุคสมัยก่อนหน้าเขานานถึงพันกว่าปี ก็แพร่อยู่ในหมู่ประชาชนแล้ว ประชาชนยกย่อง เล่าปี่ กวนอู เตียวหุย ขงเบ้ง ซึ่งเป็นวีรชนในอุดมคติของพวกเขา ซึ่งพวกเขามีความประสงค์ที่จะเห็นวีรชนแบบนี้ปรากฏออกมาขจัดความทุกข์เข็ญที่พวกเขาต้องเผชิญอยู่ ซึ่งหลัวก้วนจงได้รวบรวมเอาคำบอกเล่า คำเล่าลือ เรื่องราว และนิยาย ของสามก๊กที่แพร่อยู่ในประชาชนไว้มากมาย เรื่องราวในสามก๊กเหล่านี้มิใช่แต่เป็นการตระเตรียมข้อมูลทางวรรณกรรมของ ตำนานสามก๊ก ที่เขาจะเขียนในเวลาต่อมาเท่านั้น มันยังเป็นอาจารย์คนแรกของหลัวก้วนจงในการค้นคว้าตำราพิชัยสงครามและกลยุทธ์ทางการทหารอีกโสดหนึ่งด้วย

     ความขัดแย้งต่าง ๆ ในสังคมปลายสมัยราชวงศ์หยวนแหลมคมยิ่งนัก การลุกขึ้นสู้ของชาวนาเกิดขึ้นไม่หยุดหย่อน หลัวก้วนจงถูกดึงดูดชักพาให้เข้าไปสู่วังวนแห่งการต่อสู้เหล่านี้โดยตรง หลัวก้วนจงเป็นคนมีความหวังตั้งใจของตนเองอย่างแรงกล้า ในกระแสแห่งการลุกขึ้นสู้ปฏิวัติทางประชาชาติ ปลายราชวงศ์หยวนเขาได้เข้าร่วมอยู่ในกองทัพลุกขึ้นสู้ของชาวนาด้วยตนเอง เคยรับหน้าที่สำคัญในกองบัญชาการของจางซื่อเฉิง (ค.ศ. 1321–1367) ผู้นำของกองทัพลุกขึ้นสู้ ได้รับรู้และได้เข้าร่วมการรบที่สำคัญ ๆ ในสมัยนั้นด้วยตนเอง ในระหว่างที่หลัวก้วนจงอยู่ในกองทัพลุกขึ้นสู้ของชาวนา สิ่งที่เขาได้รู้ได้เห็น มิใช่แต่จะมีอิทธิพลแก่งานสร้างสรรค์ทางวรรณกรรมอย่างใหญ่หลวงของเขาภายหลังเท่านั้น ยังเป็นการฝึกฝนหล่อหลอมทางการทหารให้แก่เขาอีกทางหนึ่งด้วย

     ด้วยเหตุนี้เอง ศึกใหญ่ ๆ ที่สำคัญ ๆ ใน ตำนานสามก๊ก เป็นต้นว่า “ศึกกัวต๋อ” “ศึกเซ็กเพ็ก” “ศึกจูเต๋ง” ซึ่งต่างระดมพลกันมาสัประยุทธ์ฝ่ายละหลายสิบหมื่น จึงเขียนได้อย่างมีชีวิตชีวาและมีการพัฒนาไปตามลำดับ ส่วนการรบย่อยเช่น “ฝ่าด่านบั่นขุนพล” “ลอบตีเกงจิ๋ว” “ม้าเจ๊กเสียเกเต๋ง” เป็นต้น ก็เขียนได้อย่างสมจริงน่าเชื่อถือ อีกทั้งการรบทางบก ทางน้ำ ทางภูเขา ทางที่ราบ การซุ่มตี การปล้นค่าย การโจมตีด้วยไฟ การโจมตีด้วยน้ำ เป็นต้นเหล่านี้ ก็ล้วนเขียนได้อย่างมีการจำแนกและมีลักษณะพิเศษของตัวเอง ซึ่งกล่าวได้ว่า เป็นการแสดงถึงอัจฉริยะทางศิลปะและเผยให้เห็นถึงความปรีชาสามารถในความคิดกลศึกของหลัวก้วนจงในขณะเดียวกัน

     ตำนานสามก๊ก ได้ข้อมูลพื้นฐานมาจาก  จดหมายเหตุสามก๊ก ของเฉินโซ่ว (ค.ศ. 233–297) นักประวัติศาสตร์สมัยราชวงศ์จิ้น (ค.ศ. 265–420) จึงกล่าวได้ว่า ตำนานสามก๊ก กับ  จดหมายเหตุสามก๊ก มีความเกี่ยวพันกันอย่างแน่นแฟ้นดุจเลือดกับเนื้อ ถ้านำเอา จดหมายเหตุสามก๊ก กับ  ตำนานสามก๊ก มาเปรียบเทียบกันแล้ว ไม่ว่าจะเป็นทางด้านเค้าโครงเรื่องและภาพลักษณ์ก็ดี จะเห็นได้ว่าหนังสือเล่มหลังมิใช่เป็นเพียงการเล่าตำนานอย่างพื้น ๆ เท่านั้น

     จดหมายเหตุสามก๊ก ที่เฉินโซ่วเป็นผู้เรียบเรียงเขียนเริ่มขึ้นจากข้อเท็จจริงได้บันทึกโฉมหน้าทางประวัติศาสตร์ของยุคสามก๊กไว้อย่างค่อนข้างตรงกับความจริง ส่วนหลัวก้วนจงได้อาศัยเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ใน จดหมายเหตุสามก๊ก ดูดรับเอาคำบอกเล่าในหมู่ประชาชนจำนวนมาก ดำเนินการขยายความทางศิลปะและการดัดแปลงประมวลสรุปอย่างแนบเนียน ดังเช่นการวาดภาพลักษณ์ของขงเบ้ง กล่าวได้ว่าผู้เขียนได้รวบรวมเอาสติปัญญาอันหลากหลายมารวมศูนย์ไว้ที่นั่น จึงได้สร้างบุคคลอย่างขงเบ้ง ซึ่งมีความสามารถในการรู้เหตุการณ์ล่วงหน้าและคาดการณ์ดังหนึ่งเทวดาขึ้นมา จนทำให้ภาพลักษณ์ของขงเบ้ง มีชีวิตชีวาติดอกติดใจผู้อ่านมาจนถึงทุกวันนี้ การที่หลัวก้วนจงเขียนการต่อสู้ทางกลอุบายด้านต่าง ๆ  ระหว่างวุยก๊ก จ๊กก๊ก และง่อก๊กได้อย่างยอดเยี่ยม ยังเป็นการแสดงให้เห็นว่า ตัวของหลัวก้วนจงเอง ก็เป็นผู้เชี่ยวชาญทางกลอุบายและตำราพิชัยสงครามชั้นยอดที่หาตัวจับได้ยากคนหนึ่ง

     กลศึกสามก๊ก เล่มนี้ ก็คือการนำเอาเรื่องราวการใช้กลอุบายต่าง ๆ นานาในตำนานสามก๊ก มาวิเคราะห์อย่างเป็นรูปธรรมจากแง่มุมต่าง ๆ ตามลำดับก่อนหลัง ซึ่งประกอบไปด้วยการแสดงอานุภาพ การใช้เล่ห์เพทุบาย การพิชิตทางการทูต การใช้ยุทธวิธี การรับมือกับการเปลี่ยนแปลง การใช้จารชน การเสริมขวัญผู้ใต้บังคับบัญชา การโจมตีทางใจ การใช้คน การรบพิสดาร และการฝึกฝนของบรรดาแม่ทัพนายกองทั้งหลาย พร้อมกับได้นำเรื่องราวใน ตำนานสามก๊ก ที่กล่าวพาดพิงถึง ไปเปรียบเทียบกับข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ด้วย ซึ่งผู้แปลได้แปลมาจากหนังสือชื่อ ว่าด้วยกลอุบายในสามก๊ก เขียนโดย หลี่ปิ่งเยี่ยน กับ  ซุนจิง อาจารย์สถาบันการทหารของกองทัพปลดแอกประชาชนจีน พิมพ์โดยสำนักพิมพ์กองทัพปลดแอกในปักกิ่ง

      ก่อนหน้าการรวมเล่มเป็น กลศึกสามก๊ก ผู้แปลได้แปลเป็นตอน ๆ ลงในนิตยสารดอกเบี้ยรายสัปดาห์มาแล้ว

      ญี่ปุ่นและอีกหลายประเทศ มิใช่แต่จะถือ ตำนานสามก๊ก เป็นตำราพิชัยสงคราม ที่เป็นรูปธรรมอย่างเดียว หากได้นำไปใช้ในปริมณฑลต่าง ๆ จนได้รับความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่มาแล้ว ขอย้ำว่า ตำนานสามก๊ก ไม่ใช่เป็นเรื่องการทำศึกสงครามอย่างเดียว ยังเป็นการประลองฝีมือกันในทางการทหาร การเมือง เศรษฐกิจ ตลอดจนกลยุทธ์ กลอุบายนานา มีทั้งปรัชญาการปกครอง การใช้คน การปฏิบัติตนและอื่น ๆ อีกมากมาย

     การอ่าน ตำนานสามก๊ก ก็เหมือน “สองคนยลตามช่อง คนหนึ่งมองเห็นโคลนตม คนหนึ่งตาแหลมคม มองเห็นดาวอยู่พราวพราย” ใครที่อ่านเป็นและรู้จักนำไปใช้ ก็จะเกิดประโยชน์แก่ตนอย่างมหาศาล

ด้วยความเคารพ
บุญศักดิ์ แสงระวี

กลศึกสามก๊ก

สารบัญ

  • สังเขปเหตุการณ์สมัยสามก๊ก
  • อย่าไล่สุนัขจนตรอก หลีกเลี่ยงจุดแข็งเข้าตีจุดอ่อน
  • รอดตายด้วยไหวพริบ ปฏิภาณของโจโฉเมื่อคับขัน
  • 18 หัวเมืองปราบตั๋งโต๊ะไม่สำเร็จ ต่างแย่งชิงพื้นที่ตั้งตนเป็นใหญ่
  • กลยุทธ์ “ยืมทางพรางกล” อ้วนเสี้ยวทำสำเร็จ แต่จิวยี่ล้มเหลว
  • กลสาวงามกับกลลูกโซ่ ล้วนเพื่อตีศัตรูให้แตกพ่ายไป
  • ยุทธวิธีรบติดพัน มัดมือมัดตีนข้าศึก
  • สองเสือแย่งเหยื่อ กระสุนนัดเดียวได้นกสองตัว
  • ไล่เสือกลืนสุนัข ยุให้รำตำให้รั่ว
  • สายตายุทธศาสตร์ของซุนเซ็ก สร้างอำนาจรัฐตระกูลซุนครองกังตั๋ง
  • แผนซ้อนแผน กลซ้อนกล กาเซี่ยงรู้เท่าทันแผนการโจโฉ
  • ปรัชญาแห่งการไล่ตามตี ทวนย้อนแทงย้อนแทงทวน
  • แผนลวงของตันเต๋ง ลิโป้เสียสามเมืองในคราวเดียว
  • ตันก๋งเลือกนายผิด มีแผนดีแต่มีนายเลว
  • ลูกเล่นของเตียวหุย ต้านการดักซุ่มตีอย่างแนบเนียน
  • ยั่วยุให้หยิ่งผยอง บุนทิวหลงกลโจโฉ
  • คนในมืด คนนอกสว่าง อยู่กลางขุนเขามีแนวเนินเป็นม่านบังตา
  • ยุทธการ “ปล้นเสบียงที่อัวเจ๋า” หัวเลี้ยวหัวต่อการเติบใหญ่ของโจโฉ
  • ใช้สงครามข่าวสาร กระจายกำลังข้าศึก โจโฉตีอ้วนเสี้ยวด้วยรบพิสดาร
  • เมตตาอาทร-บุญคุณความแค้นของนักการเมือง การทหาร
  • แผน “ซุ่มตี 10 ทิศ” ของเทียหยก โจโฉล้างแสนยานุภาพอ้วนเสี้ยว
  • เหตุแห่งความปราชัยของอ้วนเสี้ยว บทเรียนที่มีค่าของผู้นำ
  • โจโฉ “ดูไฟชายฝั่ง” สองครั้ง จบสิ้นอำนาจตระกูลอ้วน
  • ความรอบรู้ของขงเบ้ง แผ่นดินนี้จะแยกเป็นสาม
  • คบเพลิงสองอันของขงเบ้ง จากทุ่งพกบ๋องถึงเมืองซินเอี๋ย
  • อ่อนไม่ควรแสดงว่าพรั่นพรึง แข็งกล้าต้องลึกซึ้งกลอุบาย
  • เจียวก้านตกหลุมจิวยี่ ข่าวตรงมักสงสัย ข่าวซุบซิบมักเชื่อถือ
  • ขงเบ้งยืมเกาทัณฑ์ อาศัยธรรมชาติเป็นพันธมิตร
  • จิวยี่โบยอุยกาย ยอมรับการยอมจำนน = ยอมรับศัตรู
  • โจโฉพ่ายหนีที่ฮัวหยง ความผิดพลาดหลังการหัวเราะครั้งที่ 3
  • การทูตในศึกเซ็กเพ็ก สร้างพันธมิตรด้วยวาจาจี้ใจ
  • โจหยินพ่ายทัพจิวยี่ที่ลำกุ๋น ชนะบ่อยครั้งมักประเมินข้าศึกต่ำต้อย
  • จิวยี่เหนื่อยเปล่า ขงเบ้งชุบมือเปิบ
  • “ยิงเกาทัณฑ์ดอกเดียวได้นก 2 ตัว” ขงเบ้งยึด 2 เมืองมิเปลืองแรง
  • เหตุใดขงเบ้งจึงต้อง “ยืม” เกงจิ๋ว พันธมิตรในแดน “ยุทธภูมิสัญจร”
  • ไถ้แพรสามใบของขงเบ้ง การคาดการณ์ล่วงหน้าของนักยุทธศาสตร์
  • ขงเบ้งยั่วโทสะจิวยี่ตายจริงหรือ สายตาสั้น-ชีวิตสั้น
  • โลกชกแนะนำบังทองให้เล่าปี่ นักวางแผนต้องเล็งการณ์ไกล
  • หมากตาสำคัญของขงเบ้ง สามจุดตรึงหนึ่งจุด
  • ม้าเฉียวเสริมกำลัง โจโฉกลับชอบใจ
  • เล่าปี่ชนะใจเตียวสง สร้างมิตรผูกใจได้ทุกสิ่ง
  • งานเลี้ยงที่ด่านโปยสิก๋วน ทัศนะการเมืองอันล้ำลึกของเล่าปี่
  • ลกห้องโหปลิดชีวิตบังทอง ความริษยาบดบังความปราดเปรื่อง
  • เตียวหุยตีปากุ๋น ความละเอียดในความหยาบ
  • เมื่อขงเบ้งปกครองเสฉวน เข้มงวดประสานผ่อนปรน
  • โจโฉยึดเองเปงก๋วน กลยุทธ์ถอยลวงรุกจริง
  • โจโฉหยุดเมื่อควรหยุด ยื่นมือยาวไปยิ่งสุ่มเสี่ยง
  • ขงเบ้งคาย 3 เมืองให้ซุนกวน ยอมเสียเล็กเพื่อได้ใหญ่
  • การใช้คนก็มีศิลปะ วางแผนในกระโจมชนะไกลพันลี้
  • ทหารกล้าเพราะนายหาญ การกระทำของผู้นำคือคำสั่งที่มีพลัง
  • จุดอ่อนก็ใช้ลวงข้าศึกได้ กลอุบายที่คาดไม่ถึง
  • ความแยบยลในการยั่วยุขุนพล จี้จุดอ่อนปลุกจุดแข็ง
  • แขกกลับกลายเป็นเจ้าบ้าน พลิกจากโจมตีเป็นตั้งรับ
  • เลี่ยงความฮึกโหม-ตีเมื่ออิดโรย หนักแน่นรู้จักรอคอยโอกาส
  • ความห้าวหาญของจูล่ง ความกล้ากับสติปัญญาต้องเชื่อมโยงกัน
  • ซิหลงพ่ายเพราะเลียนแบบ ประวัติศาสตร์มิซ้ำรอยเดิม
  • โจโฉสงสัย 3 ครั้งรบแพ้ 3 หน จงสร้างความผิดพลาดให้ข้าศึก
  • กวนอูทดน้ำท่วม 7 ทัพ ดึงธรรมชาติเป็นพันธมิตร
  • แผนลวงของลิบองกับลกซุน อย่าวัดคุณค่าคนจากความโด่งดัง
  • ลิบองลอบตีเกงจิ๋วฉับพลัน จู่โจมเมื่อไม่ระวัง-รุกรบเมื่อไม่คาดคิด
  • กวนอูเข้าตาจน ลิบองใช้แผน “เพลงฉู่ 4 ทิศ”
  • โศกนาฏกรรมของกวนอู ไร้กลอุบาย-ไร้การตระเตรียม
  • ซุนกวนกับโจโฉโยนความผิดให้กัน ต้องแยกศพกวนอูฝัง 3 แห่ง
  • ไม่ควรทำศึกเพราะเหตุส่วนตัว บทเรียนจากความแค้นของเล่าปี่
  • ซุนกวนกล้าเผชิญความอัปยศ ยอมงอรอผลการณ์ไกล
  • ทำศึกไม่ควรเสียโอกาสรบ โจผีพลาดนาทีทอง
  • ลกซุนรอโอกาส “ลงมือทีหลัง” พลังซ่อนเร้นสยบความฮึกเหิม
  • รู้จักพอคือความฉลาด ไม่ต้องรบก็สยบข้าศึกได้
  • ใช้กลอุบายแทนการรบ สยบทัพพันธมิตร 5 ทิศทาง
  • ขงเบ้งฟื้นความสัมพันธ์กับซุนกวนสร้างความสมดุลการทหารรูปสามเหลี่ยม
  • ศิลปะการ “ขอยืม” ของขงเบ้ง วิธีการเก่ารูปแบบใหม่
  • สำคัญที่รบชนะทางใจ ชนะใจชนะอย่างสมบูรณ์
  • 7 จับ 7 ปล่อยเบ้งเฮ็ก รบทางใจกำลังทหารต้องหนุนข้างหลัง
  • ขงเบ้งคลอกทหารเกราะหวาย รบแบบซุ่มตี-น้อยชนะมาก
  • รอบคอบเกินไปก็เสียหาย ขงเบ้งมิใช่หยกปราศจากรอยตำหนิ
  • การศึกไม่หน่ายเล่ห์ ข่าวสารปัจจัยชี้ชัยชนะ
  • สุมาอี้จัดการเบ้งตัด รุกรบเมื่อไม่คาดคิด
  • ซ้อนแผนการลอบโจมตี มองไกลกว่า ก้าวไกลกว่า-ชนะ !
  • ม้าเจ๊กกับอองเป๋งในศึกเกเต๋ง รู้หลักการว่ายน้ำมิสู้คนว่ายน้ำเป็นแล้ว
  • การแสดง “ละครหลังเวที” ฝีมือไม่เข้าขั้นก็มีช่องโหว่
  • คำนวณก่อนข้าศึกจักชนะ คาดการณ์ล่วงหน้าแม่นยำจักชนะ
  • ขงเบ้ง “ถอยให้สามช่วง” กลยุทธ์เคลื่อนย้ายทำลายข้าศึก
  • แม่ทัพอยู่ภายนอก ประมุขไม่ระแวงจะชนะ
  • ขงเบ้งเลียนแบบอวี๋สวี่ ถอยทัพทุกวันเพิ่มเตาทุกวัน
  • ขงเบ้งทำกลเอาเสบียงจากข้าศึก สุมาอี้เผชิญขงเบ้ง 4 คน
  • สำคัญที่การรักษาคำมั่นสัญญา วาจาสัตย์สามารถกำหนดแพ้ชนะ
  • กลศึกโคยนต์ของขงเบ้ง ขนส่งเสบียงด้วยเทคโนโลยี
  • ขงเบ้งแพ้ความหนักแน่นของสุมาอี้ในสงครามยืดเยื้อ ใครอึดกว่า-ชนะ !
  • ถอยทัพก็ต้องมีศิลปะ ขงเบ้งตายหลอกสุมาอี้เป็น
  • พันธมิตรง่อก๊กกับจ๊กก๊กในศึกเขากิสาน ความผิดพลาดของขงเบ้ง
  • ตีจุดที่ต้องช่วยกับล้อมจุดตีหนุน แผนศึกเฉียบแหลมของสุมาอี้
  • วิภาษวิธีระหว่าง “เร็ว” กับ “ช้า” ควรเร็วให้รีบฉวย ควรช้าให้ถ่วงไว้
  • การใช้เล่ห์และการคาดคะเนข้าศึกเกียงอุยกับเตงงายคู่ต่อสู้ที่ทัดเทียมกัน
  • แม่ทัพควรเข้าใจสนามรบให้ถ่องแท้ ความเฉียบคมของเตงงาย
  • “ตีจ๊กก๊ก บุกง่อก๊ก” แผนศึกร้อยเล่ห์ของจงโฮย
  • เกียงอุยย้อนรอยสุมาเจียว ทำผิดซ้ำรอยขงเบ้ง
  • เตงงายตลบหลังทางอิมเป๋ง ทางลัดสู่ชัยชนะ
  • จ๊กก๊กล่ม–ง่อก๊กหนาว เสร็จนาฆ่าโคถึก เสร็จศึกฆ่าขุนพล
  • อวสานสามก๊ก รวมแล้วแยก แยกแล้วรวม
รายละเอียดหนังสือ
  • ชื่อเรื่อง : กลศึกสามก๊ก
  • ผู้เขียน : บุญศักดิ์ แสงระวี
  • พิมพ์ครั้งแรก: มกราคม 2558 (พิมพ์ครั้งที่ 4 ปรับปรุงใหม่)
  • ISBN: 9786167105956
  • Barcode: 9786167105956
  • สำนักพิมพ์: สุขภาพใจ
  • ขนาด: 14.5 x 21 ซ.ม.
  • จำนวนหน้า: 448 หน้า
  • ปก: ปกอ่อน
  • เนื้อใน: ถนอมสายตา 
  • ราคาปก: 280.00 บาท
เว็บไซต์ที่เกี่ยวข้อง

กรุณาแสดงความคิดเห็น

ชื่อ

กวนอู,67,การ์ตูน,19,การเมือง,77,กิจกรรม,18,เกม,160,ขงเบ้ง,94,ของสะสม,40,ข่าวสาร,118,คำคมสามก๊ก,77,จิวยี่,5,จูล่ง,21,โจโฉ,66,ซุนกวน,7,เตียวหุย,11,เนื้อหาสามก๊ก,5,บทความ,353,บุคคลภาษิตในสามก๊ก,12,แบบเรียน,8,ปรัชญา,45,เพลง,41,ภาพยนตร์,53,รูปภาพ,67,ลิโป้,9,เล่าปี่,18,วิดีโอ,66,วิธีคิดวิธีทำงาน,13,เว็บไซต์,14,สถานที่,21,สามก๊ก12,14,สามก๊ก13,32,สามก๊ก14,3,สามก๊ก2010,95,สามก๊ก8,1,สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง(หน),87,สุมาอี้,15,หงสาจอมราชันย์,13,หนังสือ,173,อาวุธ,7,แอป,43,Dynasty Warriors,57,E-book,87,
ltr
item
สามก๊กวิทยา : Three Kingdoms Academy: กลศึกสามก๊ก
กลศึกสามก๊ก
"กลศึกสามก๊ก" หนังสือสามก๊กฉบับตีพิมพ์ใหม่ ครั้งที่ 4 ผลงานการแปลของอาจารย์ บุญศักดิ์ แสงระวี นักแปลรางวัลสุรินทราชา จากสมาคมนักแปลและล่ามแห่งประเทศไทย และนักเขียนรางวัลนราธิป จากสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ที่ว่าด้วยอุบายร้อยเล่ห์กลยุทธ์ จากแม่แบบวรรณคดีการศึก พิเคราะห์ วิจารณ์แบบเจาะลึก "กลศึกสามก๊ก" เดิมนั้นเขียนโดย หลี่ปิ่งเยี่ยน กับ ซุนจิง อาจารย์สถาบันการทหารของกองทัพปลดแอกประชาชนจีน พิมพ์โดยสำนักพิมพ์กองทัพปลดแอกในปักกิ่ง พวกเรานักอ่านชาวไทยจึงโชคดี ที่ได้อาจารย์บุญศักดิ์ ฯ ผู้แตกฉานในตำราพิชัยสงครามเป็นผู้แปลและถ่ายทอดออกมาเป็นภาษาไทยได้อย่างน่าชื่นชม หลอมรวมจนกลายเป็นตำรากลยุทธ์ที่สมบูรณ์เหนือใคร
https://1.bp.blogspot.com/-yP9oxdst0Pg/VM4xqBYQ-uI/AAAAAAAAihM/UZrMjeHhbiE/s1600/%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B8%A8%E0%B8%B6%E0%B8%81%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%81%E0%B9%8A%E0%B8%81.jpg
https://1.bp.blogspot.com/-yP9oxdst0Pg/VM4xqBYQ-uI/AAAAAAAAihM/UZrMjeHhbiE/s72-c/%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B8%A8%E0%B8%B6%E0%B8%81%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%81%E0%B9%8A%E0%B8%81.jpg
สามก๊กวิทยา : Three Kingdoms Academy
https://www.samkok911.com/2015/02/kolsuksamkok.html
https://www.samkok911.com/
https://www.samkok911.com/
https://www.samkok911.com/2015/02/kolsuksamkok.html
true
4216477688648787518
UTF-8
โหลดเนื้อหาทั้งหมด ไม่พบเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง ดูทั้งหมด อ่านเพิ่ม ตอบ ยกเลิกการตอบ ลบ โดย หน้าแรก หน้า โพสต์ ดูทั้งหมด เรื่องแนะนำสำหรับคุณ หมวดหมู่บทความ เนื้อหาในช่วงเวลา ค้นหา บทความทั้งหมด ไม่พบเนื้อหาที่คุณต้องการ กลับหน้าแรก Sunday Monday Tuesday Wednesday Thursday Friday Saturday Sun Mon Tue Wed Thu Fri Sat January February March April May June July August September October November December Jan Feb Mar Apr May Jun Jul Aug Sep Oct Nov Dec just now 1 minute ago $$1$$ minutes ago 1 hour ago $$1$$ hours ago Yesterday $$1$$ days ago $$1$$ weeks ago more than 5 weeks ago Followers Follow THIS PREMIUM CONTENT IS LOCKED STEP 1: Share to a social network STEP 2: Click the link on your social network Copy All Code Select All Code All codes were copied to your clipboard Can not copy the codes / texts, please press [CTRL]+[C] (or CMD+C with Mac) to copy สารบัญ